ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ธนาธรเสนอตัดโครงการ “เขื่อนเหมืองตะกั่ว” ออกจากร่าง พ.ร.บ.งบฯ 2564 เหตุไม่มีความจำเป็น ชาวบ้านไม่ต้องการ ซ้ำบริเวณโดยรอบมีแหล่งกักเก็บน้ำอื่นอีก 4 แห่ง แต่ขาดการบริหารจัดการ ไม่มีการดูแลรักษา ซ้ำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขอพื้นที่ป่ายังไม่แล้วเสร็จ แต่กลับเสนอมาของบฯ
วันนี้ (24 ส.ค.) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษากรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ได้อภิปรายเกี่ยวกับงบประมาณของแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพัทลุง ว่า ขอเสนอให้ตัดโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วฯ เนื่องจากไม่มีความจำเป็นในการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำแห่งใหม่ ชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวไม่ได้ต้องการแหล่งน้ำเพิ่ม อีกทั้งพื้นที่มีแหล่งเก็บน้ำที่เพียงพอแต่ขาดการบริหารจัดการและขาดการดูแลรักษา
ที่ปรึกษา กมธ.งบฯ ระบุว่า บริเวณโดยรอบของโครงการที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว มีอ่างเก็บน้ำอีก 4 แห่ง คือ (1) ห่างไปอีก 2 กิโลเมตรมีที่กักเก็บน้ำคลองสะตอ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่ชำรุดและไม่มีการดูแลรักษา รวมถึงไม่มีการใช้ประโยชน์น้ำที่กักเก็บไว้ (2) ห่างไปอีก 3 กิโลเมตร มีอ่างเก็บน้ำคลองป่าบอน ที่ปัจจุบันโครงการสร้างเสร็จแล้วแต่มีปัญหาคือไม่ได้วางระบบส่งน้ำให้แก่อ่างเก็บน้ำ (3) ห่างไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร มีฝายคลองท่ายูง โดยฝายท่ายูงสภาพทั่วไปมีสภาพชำรุดและขาดการดูแลรักษา และ (4) อ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง ห่างออกไปประมาณ 14 กิโลเมตร ซึ่งสภาพของอ่างเก็บน้ำแห่งนี้แม้จะสร้างเสร็จแล้วแต่ระบบส่งน้ำยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ จะเห็นได้ว่าในพื้นที่มีแหล่งเก็บน้ำอื่นๆ อยู่แล้วแต่ไม่ได้มีการบริหารจัดการที่ดีให้สามารถนำอ่างเก็บน้ำเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ
นายธนาธร กล่าวว่า ชาวบ้านบริเวณดังกล่าวนั้นไม่ได้มีความจำเป็นในการต้องการน้ำเพิ่ม พื้นที่บริเวณแถบนั้นเป็นพื้นที่ปลูกสวนผลไม้ สวนปาล์ม สวนยางพารา ที่มีการขุดแหล่งน้ำใช้เอง มีน้ำใช้ตลอดปี และพื้นที่ตรงนั้นไม่ได้เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก หรือเป็นพื้นที่แล้งซ้ำซาก มีพื้นที่ในภาคอีสานอีกเป็นจำนวนมาก
ที่ต้องการโครงการในการจัดการน้ำ การลำดับความสำคัญในการทำโครงการจึงมีความจำเป็น การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเหมืองตะกั่วที่ใกล้น้ำตกโตนสะตอ มีความเสี่ยงในการสูญเสียแหล่งน้ำ สูญเสียพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ถึง 468 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่และเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญที่เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค และเป็นแหล่งรายได้ของชาวบ้าน
นายธนาธร ระบุว่า ในปีงบฯ 2564 กรมชลประทานตั้งงบประมาณไว้ 130 ล้านบาท ผูกพันถึงปี 2566 รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 650 ล้านบาท โดยโครงการนี้มีปัญหาด้วยกันหลายประการ เช่่น วันที่ 31 ส.ค.2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ออกรายงานการตรวจสอบ ระบุว่า ไม่มีความจำเป็นในการสร้างเขื่อนดังกล่าว และให้จังหวัดและประชาชนร่วมกันหาทางออกในการจัดการน้ำ ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่โครงการยังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ การจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมยังไม่แล้วเสร็จก่อนการมาของบประมาณ
นั่นหมายความว่า ยังบูรณาการระหว่างหน่วยงานไม่เรียบร้อย แต่ดันมาตั้งงบประมาณจัดทำโครงการ