คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ / โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก
หลัง “ยุทธการกอลำ” ที่ อ.ยะรัง จ.ยะลา สามารถปิดจ๊อบด้วยการปลิดชีพแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ 7 ศพผ่านไป 1 สัปดาห์ ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างเต็มที่ เพราะหน่วยข่าวความมั่นคงรายงานว่า มีความเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างๆ เพื่อที่จะแก้แค้น นี่คือรายจ่ายที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องจ่ายทุกครั้งที่ บีอาร์เอ็น เกิดความสูญเสีย
แม้ผ่านไปแล้วหลายวันแนวร่วมชุดใหม่ยังไม่ได้แผลงฤทธิ์ แต่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็ประมาทไม่ได้ เพราะการ์ดตกเมื่อไหร่เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนอาจจะสูญเสียครั้งใหญ่ เวลานี้ในภาพรวมของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะดูเงียบๆ เพราะมีการมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการสู้ตายของแนวร่วมที่ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจรัฐ แต่สิ่งที่ตามมาคือการที่ต้องเข้มข้นต่อการเฝ้าระวังป้องกันการตอบโต้แก้แค้น
ในข้อเท็จจริงกรณี 7 ศพในยุทธการกอลำ “องค์กรฝรั่งต่างชาติ” ที่พยายามขอเข้าไปตั้งหลักปักฐานใน จ.ปัตตานี ได้รายงานไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์แล้วว่า เป็นเรื่องของ “อาร์มคอนฟิกซ์” เป็นการใช้ความรุนแรงของทหารไทยในการสังหารผู้เห็นต่างทางความคิด
ดังนั้น ที่คอลัมน์นี้พยายามนำเรื่องขององค์การฝรั่งต่างชาติที่เข้าไปปฏิบัติการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยข้ออ้างเรื่อง เสรีภาพก็ดี เรื่องสิทธิมนุษยชนก็ดี เรื่องการให้ความรู้แก่หน่วยงานต่างๆ ก็ดี เป็นเพียงเงื่อนไขขององค์กรต่างชาติที่ต้องการเข้าไปฝังตัวในพื้นที่ เพื่อต้องการมีอำนาจในการชี้นำและบงการ ซึ่งถือว่านี่คือ “การแทรกแซงอธิปไตย” ที่เห็นชัดเจน
นี่คือบทบาทของ องค์กรกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ที่เข้าไปเพื่อสังเกตการณ์สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2559 และไม่ยอมออกจากพื้นที่ อีกทั้งยังพยายามวิ่งเต้นเจรจากับหน่วยงานความมั่นคง เพื่อที่จะขออยู่ในพื้นที่ต่อด้วยการตั้งสำนักงานเป็นการถาวร
บทบาทของ “ไอซีอาร์ซี” ที่ผ่านมาหลายปีในพื้นที่ 3 คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย จึงชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่ามีวาระ “ซ่อนเร้น” โดยเฉพาะมีความสัมพันธ์กับขบวนการไหนหรือปีกการเมืองปีกไหนบ้าง ซึ่งต่างเป็นภัยกับความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสิ้น
ณ วันนี้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ต่างเห็นชัดแล้วว่า “ไอซีอาร์ซี” ไม่เหมาะที่จะมีสำนักงานเพื่อปฏิบัติการงานภาคสนามอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกต่อไป จึงประสานกับกระทรวงต่างประเทศเพื่อขอให้ออกจาก จ.ปัตตานี
ซึ่งครั้งแรก “ไอซีอาร์ซี” รับปากว่าจะย้ายสำนักงานออกจาก จ.ปัตตานี ก่อนวันที่ 30 กันยายน 2563 ที่จะถึงนี้ แต่ต่อรองขอมาตั้งสำนักงานที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาแทน และล่าสุด กำลังจะเบี้ยวไม่ทำตามข้อตกลง ด้วยการอ้างว่ายังหาสำนักงานที่ อ.หาดใหญ่ไม่ได้ และขออยู่ใน จ.ปัตตานีต่อไปอีก
นี่คือเล่ห์กลขององค์กรฝรั่งต่างชาติที่เป็นภัยกับความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะกับแผ่นดินปลายด้ามขวาน โดยข้อเท็จจริง “ไอซีอาร์ซี” ต้องย้ายออกจาก จ.ปัตตานีโดยไม่มีเงื่อนไข และการขอตั้งสำนักงานที่ อ.หาดใหญ่ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรอนุญาต เพราะรู้อยู่ว่าองค์กรนี้มีความประสงค์อะไรแอบแฝงหรือซ่อนเร้นอยู่
ข่าวล่าสุดแจ้งว่า “ไอซีอาร์ซี” มีแผนที่จะอยู่ต่อใน จ.ปัตตานีต่อไป โดยในหน้าสัปดาห์นี้จะนำเจ้าหน้าที่คณะใหญ่จากต่างประเทศเข้าพบ “แม่ทัพภาคที่ 4” และ “เลขาธิการ ศอ.บต.” อีกครั้ง เพื่อแจงเหตุผลในการขออยู่ต่อ โดยการนำคณะชุดใหญ่เดินทางมาเพื่อสร้างความกดดัน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ขององค์กรสัญชาติตะวันตกที่ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหน ก็มักใช้อำนาจในการเอาเปรียบเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการ
จึงได้แต่หวังว่า พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ที่กำลังจะได้ขึ้นไปรับตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) ในเดือนตุลาคม 2563 นี้จะไม่หลงกลหรือให้ความเกรงใจฝรั่ง ที่สำคัญต้องไม่เห็นด้วยกับที่ปรึกษาของฝรั่งที่เป็น “นายพลรุ่นพี่” แต่เห็นกับประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
กล่าวสำหรับสำหรับ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. นั้น เชื่อว่าน่าจะมีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะมีข้อมูลที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรเป็นอย่างดี
มีเรื่องที่ต้องแฉกันต่อไปคือ นอกจาก “ไอซีอาร์ซี” จะจัดเจ้าหน้าที่ชุดใหญ่เดินสายมาเพื่อการล็อบบี้ในเรื่องนี้แล้ว ในวันที่ 27 สิงหาคม 2563 ที่จะถึงนี้ยังใช้วิธีสนับสนุนงบประมาณให้หน่วยงานความมั่นคงหน่วยหนึ่ง ด้วยการระดมตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปจัดอบรมสัมมนากันที่ อ.หาดใหญ่ แล้วให้คนขององค์กรร่วมเป็นวิทยากรในเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชนด้วย
นี่ก็เป็นอีกกลยุทธ์ที่ซ่อนเร้นของ “ไอซีอาร์ซี” เพื่อที่จะสร้างภาพให้เห็นถึงการยอมรับของหน่วยงานความมั่นคงไทยต่อองค์กรของตน เพื่อให้มีเหตุมีผลในการขอปักหลักอยู่ต่อไปในพื้นที่ จ.ปัตตานี
จึงต้องถามกันไว้ ณ ที่นี้ว่า มีเหตุผลอะไรที่หน่วยงานความมั่นคงต้องยอมรับงบประมาณขององค์กรต่างชาติไปจัดอบรมครั้งนี้ ในเมื่อความรู้ในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศก็ดี กฎหมายเรื่องสิทธิมนุษยชนก็ดี หน่วยงานในประเทศเราก็ต้องเข้าใจและสามารถให้ความรู้แก่กำลังพลได้ดีไม่แพ้ฝรั่ง
หรือว่าเรายอมให้ฝรั่ง “สนตะพาย” ไปเสียหรือ หรือว่า “เงินฝรั่ง” มันช่างหอมหวานกันแน่
วันนี้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความซับซ้อนมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก “ไอซีอาร์ซี” และ “เจนีวาคอลล์” อย่างยากปฏิเสธ
นอกจากนี้ ล่าสุดการที่มีตัวแทน “เปอร์มาส” ซึ่งถือเป็นภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ไปขึ้นเวทีแฟลชม็อบที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา
ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นปีกการเมืองของขบวนการไหน และมีองค์กรต่างชาติไหนเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เมื่อรู้ทั้งรู้แล้วหน่วยงานความมั่นคงทั้งหลาย ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ทำไมจึงยังไม่ “สำเหนียก” ถึงอันตรายจากการเข้าไปแทรกแซงขององค์กรต่างชาติจากประเทศตะวันตก
ดังนั้น เรื่องการดื้อแพ่งของ “ไอซีอาร์ซี” ในการสร้างเงื่อนไขต่างๆ เพื่อที่จะอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป จึงเป็นเรื่องที่คนในพื้นที่ โดยเฉพาะคนไทยพุทธที่เป็นคนกลุ่มน้อย แต่เป็นเจ้าของประเทศด้วยเช่นกันต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
เนื่องเพราะวันหนึ่งถ้าองค์กรฝรั่งหัวแดงก้าวล้ำเส้นแบ่ง จนส่อที่อาจจะทำให้ต้องสูญเสียดินแดน ทุกคนจะต้องรีบออกมาเรียกร้องให้ออกมาจัดการขับไล่องค์กรเหล่านี้ออกจากแผ่นดินปลายด้ามขวานไปโดยเร็ว เพื่อยุติการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น