คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้ / โดย... สกนธ์ รัตนโกศล
“เพกา” ถือเป็นพืชสมุนไพร มีชื่อท้องถิ่น ลิ้นฟ้า (เลย, ภาคอีสาน), กาโด้โด้ง (กาญจนบุรี), ดุแก ดอก๊ะ ด๊อกก๊ะ (แม่ฮ่องสอน), เบโด (นราธิวาส), มะลิ้นไม้ มะลิดไม้ ลิดไม้ (ภาคเหนือ), โชยเตียจั้ว (จีน) เป็นต้น
ชื่อสามัญ Broken bones tree, Damocles tree, Indian trumpet flower ชื่อวิทยาศาสตร์ Oroxylum indicum (L.) Kurz จัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE) มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย โดยพบได้ตามป่าเบญจพรรณและป่าชื้นทั่วไป
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของเพกา
เป็นไม้ต้น สูง 3-12 เมตร แตกกิ่งก้านน้อย ใบประกอบแบบขนนกสามชั้น ขนาดใหญ่ เรียงตรงข้ามรวมกันอยู่บริเวณปลายกิ่ง
- ใบย่อยรูปไข่หรือรูปไข่แกมวงรี กว้าง 4-8 ซม. ยาว 6-12 ซม.
- ดอกช่อออกที่ปลายยอดก้านช่อดอกยาว ดอกย่อยขนาดใหญ่ กลีบดอกสีนวลแกมเขียว โคนกลีบเป็นหลอดสีม่วงแดง หนาย่น บานกลางคืน
- ผลเป็นฝัก รูปดาบ เมื่อแก่จะแตก ภายในเมล็ดแบน สีขาว มีปีกบางโปร่งแสง
สรรพคุณของสมุนไพรเพกา
“ใบ” ของเพกาช่วยบรรเทาอาการปวดไข้ และช่วยแก้อาการปวดท้อง ด้วยการใช้ใบเพกาต้มกับน้ำดื่ม
“ฝักอ่อน” ของเพกาช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัยและช่วยชะลอวัย ช่วยบำรุงและรักษาสายตา ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้ ช่วยในการขับผายลม และการกินฝักอ่อนของเพกาจะช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น
“ฝักแก่” ของเพกาใช้แก้ร้อนใน
“เปลือก” ของเพกาช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้เปลือกเพกา เปลือกต้นไข่เน่า ใบไข่เน่า แก่นลั่นทม บอระเพ็ด ใบเลี่ยน รากหญ้าคา รวม 7 อย่าง น้ำหนักอย่างละ 2 บาท นำมาต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 แก้วเล็ก ก่อนอาหารเช้าและเย็น และผงเปลือกผสมกับขมิ้นชัน ใช้เป็นยาแก้ปวดหลังของม้าได้
“เปลือกต้นสด” ของเพกาช่วยแก้อาการอาเจียนไม่หยุด ด้วยการใช้เปลือกต้นเพกาตำผสมกับน้ำส้มที่ได้จากรังมดแดงหรือเกลือสินเธาว์
“เปลือกต้น”ของเพกาช่วยบำรุงโลหิต ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยขับเลือด ดับพิษในโลหิต ช่วยแก้อาการจุกเสียกแน่นท้อง แก้โรคไส้เลื่อน (ลูกอัณฑะลง) ด้วยการใช้เปลือกต้นเพกา รากเขยตาย หญ้าตีนนก นำมาตำรวมกันให้ละเอียด แล้วนำไปละลายกับน้ำข้าวเช็ด ใช้ขนไก่ชุบพาด นำมาทาลูกอัณฑะ ให้ทาขึ้นอย่าทาลง ช่วยแก้องคสูตร (โรคที่เกิดเฉพาะในบุรุษ มีอาการเจ็บที่องคชาตและลูกอัณฑะ) ด้วยการใช้เปลือกต้นเพการวมกับสมุนไพรชนิดอื่น ช่วยแก้โรคมานน้ำ หรือภาวะที่มีน้ำขังอยู่ในช่องท้องจำนวนมาก เปลือกต้นผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น เปลือกต้นตำผสมกับสุราใช้ฉีดพ่นตามตัวหญิงคลอดบุตรที่ทนอาการอยู่ไฟไม่ได้ ทำให้ผิวหนังชา ช่วยขับน้ำคาวปลา ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น ช่วยรักษาและบรรเทาอาการของโรคริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้เปลือกต้นเพการวมกับสมุนไพรชนิดอื่น ช่วยลดการอักเสบ อาการแพ้ต่างๆ ช่วยรักษาฝี ลดอาการปวดฝี ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาฝนแล้วทาบริเวณรอบๆ บริเวณที่เป็นฝี ช่วยแก้อาการคัน ด้วยการใช้เปลือกต้นเพการวมกับสมุนไพรชนิดอื่น ใช้เป็นยาแก้พิษสุนัขบ้ากัด ด้วยการใช้เปลือกต้นเพกานำมาตำแล้วพอกบริเวณที่ถูกกัด ช่วยแก้โรคงูสวัด ด้วยการใช้เปลือกต้นเพกา เปลือกคูณ รากต้นหมูหนุน นำมาฝนใส่น้ำทาบริเวณที่เป็นจะช่วยให้หายเร็วขึ้น เปลือกต้นผสมกับสุราใช้กวาดปากเด็ก ช่วยแก้พิษซางได้ เปลือกต้นตำผสมกับสุรา ช่วยแก้ละอองไข้ หรือโรคเยื่อเมือกในช่องจมูกอักเสบ ช่วยแก้ละอองขึ้นในปาก คอและลิ้น หรืออาการฝ้าขาวที่ขึ้นในปาก และเปลือกต้นมีสารสกัดฟลาโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบของหนูทดลอง
“เปลือกต้น” และ “ใบ” ช่วยขับลมในลำไส้
“เปลือกต้น” และ “ราก” ช่วยแก้โรคบิด หรือใช้เป็นยาฝาดสมาน ช่วยสมานแผล ช่วยรักษาอาการฟกช้ำ ปวดบวม อักเสบ ด้วยการใช้เปลือกต้นหรือรากเพกากับน้ำปูนใสทาลดบริเวณที่เป็น
“เปลือกต้น” ของเพกาทั้ง 5 ส่วน ช่วยรักษาอาการฟกช้ำ ปวดบวม อักเสบ ด้วยการใช้เปลือกต้นหรือรากเพกากับน้ำปูนใสทาลดบริเวณที่เป็น ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย ทำให้น้ำเหลืองเป็นปกติ ใช้เป็นยาฝาดสมานช่วยสมานแผล
“เปลือกต้น” และ “ราก” ของเพกาทั้ง 5 ส่วนช่วยรักษาท้องร่วง
“ราก” ของเพกาช่วยแก้ไข้สันนิบาต ช่วยเรียกน้ำย่อย
“ราก” และ “ใบ” ของเพกาช่วยทำให้เจริญอาหาร
“ราก” และ “ฝักอ่อน” ของเพกาทั้ง 5 ส่วนใช้เป็นยาบำรุงธาตุ
“เมล็ด” ช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก ช่วยบำรุงกระเพาะ ตับและปอด ใช้เป็นยาขับถ่าย ช่วยระบายท้อง ใช้เมล็ดเพกาผสมกับน้ำจับเลี้ยงดื่ม จะช่วยทำให้มีรสชาติที่กลมกล่อมน่าดื่มมากขึ้น และจะช่วยทำให้ชุ่มคอและรู้สึกสดชื่น ช่วยแก้และบรรเทาอาการไอ ด้วยการใช้เมล็ดแก่เพกาประมาณครึ่งกำมือถึงหนึ่งกำมือ (1.5-3 กรัม) ใส่ในหม้อที่เติมน้ำ 300 มิลลิลิตร แล้วต้มไฟอ่อนๆ จนเดือดประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า กลางวัน เย็น จนกว่าอาการจะดีขึ้น ช่วยขับเสมหะ ด้วยการใช้เมล็ดแก่เพกาประมาณครึ่งกำมือถึงหนึ่งกำมือ (1.5-3 กรัม) ใส่ในหม้อที่เติมน้ำ 300 มิลลิลิตร แล้วต้มไฟอ่อนๆ จนเดือดประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า กลางวัน เย็น จนกว่าอาการจะดีขึ้น
“เพกาทั้ง 5 ส่วน” ช่วยแก้ไข้เพื่อลม เพื่อเลือด
ประโยชน์ของเพกา
- การรับประทานฝักเพกา หรือยอดอ่อนเพกา จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดได้
- เนื้อไม้ของเพกามีสีขาวละเอียดและมีความเหนียว เหมาะสำหรับนำมาใช้ทำงานแกะสลักต่างๆ
- นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปของยาสมุนไพรสำเร็จรูป
- เปลือกของลำต้นนำมาใช้ทำสีย้อมผ้าซึ่งจะให้สีเขียวอ่อน
- ยอดอ่อนและฝักอ่อนของเพกานิยมรับประทานเป็นผัก ส่วนดอกนิยมนำมาต้มหรือลวกรับประทานร่วมกับน้ำพริก ลาบ ก้อย ยำ หรือจะนำฝักอ่อนไปหั่นตามขวางเป็นชิ้นเล็กๆ ทำเป็นแกง ผัด ลาบ ยำได้เช่นกัน ที่สำคัญเคล็ดที่ไม่ลับฝักเพกามีรสขม ก่อนนำมาทำอาหารจะต้องนำไปเผาไฟให้สุกจนผิวนอกไหม้เกรียม และขูดผิวที่ไหม้ไฟออกจะช่วยลดรสขมได้ อีกทั้งการใส่เปลือกต้นเพกาลงไปในอาหารจะช่วยแก้เผ็ด แก้เปรี้ยวได้ (ใส่เปลือกต้นผสมกับมะนาว มะนาวก็ไม่เปรี้ยว) และเชื่อว่าการกินฝักเพกาจะไม่ทำให้เจ็บป่วย มีเรี่ยวมีแรงและช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศอีกด้วย
นอกจากนี้แล้ว ตามความเชื่อของคนโบราณนั้น ห้ามปลูกเพกาไว้ในบริเวณบ้าน แต่ถ้าหากจะปลูกให้ไปปลูกไว้บริเวณรั้วบ้าน หรือตามไร่ ตามสวนคงจะไม่เป็นไร เนื่องจากฝักของเพกามีรูปร่างคล้ายดาบหรือปลายหอก อาจทำให้ผู้อยู่อาศัยมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจเลือกตกยางออกได้
อีกทั้งคำว่า “เพกา” ยังเป็นชื่อเรียกของเหล็กประดับยอดพระปรางค์ เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายฝักของเพกา จึงถือว่าเป็นของสูง ไม่คู่ควรแก่การนำมาปลูกไว้ในบ้านนะขอรับ
บรรณานุกรม
-medthai.com › สมุนไพร
-www.rspg.or.th › plants_data › herbs › herbs_07_7