xs
xsm
sm
md
lg

แฉคนนอกพื้นที่แห่จับจองป่าสงวนหวังค่าเวนคืนสร้าง “เขื่อนเหมืองตะกั่ว” จ.พัทลุงรับรองสิทธิให้แล้ว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภาคใต้ - เอ็นจีโอแฉมีคนนอกกว่า 80% แห่จับจองพื้นที่ป่าสงวน-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หวังได้รับค่าเวนคืนจากโครงการเขื่อนเหมืองตะกั่ว ถามจังหวัดพัทลุงใช้มาตรฐานอะไรรับรองการถือครองสิทธิ ซัดใช้เอกสารเท็จลอกการบ้านเพื่อนมาขอใช้ชื่อ “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เป็นการหมิ่นเบื้องสูง

นายสมบูรณ์ คำแหง นักพัฒนาองค์กรเอกชนภาคใต้ โพสต์เกี่ยวกับโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพัทลุง หรือเขื่อนเหมืองตะกั่ว ว่า มีการสำรวจพื้นที่ รวมถึงอาสินของประชาชนทั้งหมดแล้ว พบว่า มีประชาชนบุกรุกพื้นที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ป่าไม้และป่าสงวนแห่งชาติ ดังนี้ ที่ดินป่าไม้และป่าสงวนแห่งชาติ 102 แปลง รวม 405 ไร่ และที่ดินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ 51 แปลง รวม 128 ไร่ รวมที่ดินที่ทำการสำรวจแล้ว 533 ไร่ มีรายชื่อของผู้ครอบครองทั้งหมด 108 ราย ซึ่งได้มีการรับรองการถือครองที่ดินของบุคคลดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคณะกรรมการที่มี ผวจ.พัทลุงเป็นประธาน

“มีข้อสังเกตต่อเรื่องการรับรองกรรมสิทธิ์ในครั้งนี้ว่า (1) กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ถือครองที่ดินเหล่านั้นไม่ใช่คนในพื้นที่ และส่วนใหญ่เข้ามาจับจองถือครองใช้ประโยชน์หลังทราบว่า จะมีโครงการสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว (2) คนจำนวนหนึ่งในนั้นมีความใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานชลประทานเขต 16 และสำนักงานชลประทานจังหวัดพัทลุงอย่างมีนัยสำคัญ”

นายสมบูรณ์ ระบุว่า (3) จังหวัดพัทลุงใช้มาตรฐานอะไรรับรองการถือครองสิทธิในที่ดินทั้ง 108 ราย ทั้งที่ที่ดินทั้งหมดคือที่ดินภายใต้การดูแลของรัฐ แม้จะทราบว่าจำนวนหนึ่งคือคนในพื้นที่ ซึ่งได้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินมานาน แต่จำนวนมากคือผู้ที่เพิ่งเข้ามาครอบครองใหม่หลังมีนโยบายการสร้างเขื่อน (4) ตามกฎหมายแล้ว เมื่อได้มีการรับรองผู้ครอบครองสิทธิ รัฐจะต้องจัดงบประมาณเพื่อชดเชยค่าเวนคืนที่ดิน ตามอัตรากฎหมายเวนคืน และชดเชยอาสิน (ต้นไม้) ที่ถูกทำลายไป (แม้จะไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ ก็ตาม)

“ยังมีข้อสงสัยถึงที่มาที่ไปของคำว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่า สำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้ตระหนักในการพิจารณาถึงความสอดคล้องเหมาะสม และความเที่ยงตรงด้วยเหตุผลทางวิชาการในโครงการนี้แค่ไหน ก่อนที่จะอนุมัติรับรองให้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยมีข้อเท็จจริงว่า มีการใช้เอกสารเท็จมาใช้ในโครงการนี้อย่างไร้ความรับผิดชอบของกรมชลประทาน นั่นคือ การลอกเอกสารข้อมูลโครงการจากจังหวัดในภาคเหนือเกือบทั้งหมดนำมาวิเคราะห์ความจำเป็นของโครงการนี้ จนเป็นที่รับรู้ทั่วไป ซึ่งการการะทำการเช่นนี้ถือเป็นการหมิ่นเบื้องสูงหรือไม่”




กำลังโหลดความคิดเห็น