xs
xsm
sm
md
lg

มท.2 เดินหน้าพัฒนา “สงขลาสู่เมืองมรดกโลก” เพื่ออนุรักษ์ และพัฒนาเมืองเก่าสงขลา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าหาดใหญ่ - มท.2 เดินหน้าพัฒนา “สงขลาสู่เมืองมรดกโลก” เพื่ออนุรักษ์ และพัฒนาเมืองเก่าสงขลา และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ สร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การศึกษา และการพัฒนาในด้านต่างๆ

วันนี้ (10 ส.ค.) ที่ห้องประชุม 1 ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาสงขลาสู่เมืองมรดกโลก ครั้งที่ 1/2563 โดยมี นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายนฤทธิ์ มงคลศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ธนารักษ์พื้นที่สงขลา สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “สงขลา” เป็นเมืองสำคัญของประเทศไทยมาแต่โบราณ จากการมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ที่ปากทะเลสาบสงขลาออกสู่อ่าวไทย เชื่อมต่อกับมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นต้นทางการค้าทางบกข้ามคาบสมุทรมลายูไปยังมหาสมุทรอินเดีย “สงขลา” จึงเป็นเมืองท่าการค้านานาชาติที่พ่อค้า และนักเดินเรือต่างแวะพัก และซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ามานานนับปี ทำให้เกิดการผสมผสานของหลากหลายวัฒนธรรม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะเมืองที่ยังคงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบประกาศให้พื้นที่เมืองเก่าสงขลาเป็นเมือง ซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นมาของชาติไทย มีความมุ่งหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันอนุรักษ์ พื้นฟู และพัฒนาเมืองเก่าสงขลาตามแบบอย่างสากล ประกอบกับในปี พ.ศ.2551 เมืองปีนัง ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกับเมืองสงขลา ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลก ทุกภาคส่วนจึงย้อนกลับมาดูเมืองเก่าสงขลา ซึ่งมีประวัติศาสตร์เก่าแก่กว่าเมืองปีนัง มีลักษณะองค์ประกอบของเมืองคล้ายกัน หากมีการอนุรักษ์ และพัฒนาอย่างถูกทิศทาง น่าจะมีโอกาสได้รับการประกาศเป็นเมืองมรดกโลกเช่นเดียวกัน


จึงได้มีการเชิญนักวิชาการทั้งใน และต่างประเทศมาเยี่ยมเยียนเมืองสงขลา เพื่อรับฟังความคิดเห็นประเมินศักยภาพของเมืองที่จะพัฒนาสู่เมืองมรดกโลก และได้รับการยอมรับเบื้องต้นว่ามีความเป็นไปได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อจังหวัดสงขลาในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ด้านการอนุรักษ์โดยสงขลาสามารถปกป้อง นำเสนอ และส่งผ่านมรดกที่มีคุณค่าสูงในระดับสากลไปสู่คนในรุ่นต่อไปได้อย่างเหมาะสม การเป็นเมืองมรดกโลกจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการศึกษาข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ทั้งในเรื่องคุณค่าประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาต่างๆ มีแผนการอนุรักษ์ และบริหารจัดการอย่างเป็นระบบได้มาตรฐาน ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว สร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม สร้างรายได้ที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่มรดกโลก และบริเวณโดยรอบ เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน

ประโยชน์ด้านสังคม สงขลาเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่ประกอบด้วยคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ อิสลาม และคนไทยเชื้อสายจีน มีการหลอมรวมวัฒนธรรมเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของสงขลา ดังนั้น การให้ความสำคัญ และยกย่องบทบาทของแต่ละกลุ่มว่าเป็นผู้ร่วมกันสร้างเมือง และพัฒนาเมืองสงขลาให้ขึ้นสู่ระดับสากลด้วยกัน ย่อมสร้างความผูกพัน และจิตสำนึกในการรักบ้านเกิด ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ประโยชน์ด้านความมั่นคง สงขลามีพื้นที่ติดกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การที่คนทุกกลุ่มมีความเชื่อในสงขลาว่ามีความสามัคคีร่วมใจกันพัฒนา จะเป็นตัวอย่างให้เยาวชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นว่าคนไทยทุกกลุ่มร่วมกันสร้างชาติอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน สร้างจิตสำนึกให้มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประโยชน์ด้านศักดิ์ศรีของประเทศ การพัฒนาให้เมืองสงขลาเป็นเมืองมรดกโลกเช่นเดียวกับปีนัง ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ สร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การศึกษา และการพัฒนาในด้านต่างๆ


จังหวัดสงขลา จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาสงขลาสู่เมืองมรดกโลก เพื่ออนุรักษ์ และพัฒนาเมืองเก่าสงขลา และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งเมืองเก่าสงขลาในเขตเทศบาลนครสงขลา เมืองเก่าสงขลาเขาแดง เมืองเก่าสงขลาแหลมสนในเขตเทศบาลเมืองสิงหนคร บางส่วนของเกาะยอ และทะเลสาบสงขลา ยกระดับสู่การเป็นเมืองมรดกโลก และเพื่อให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว จึงได้จัดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งในวันนี้ (10 ส.ค.) มีการชี้แจงในหลายประเด็น เช่น ความสำคัญของการนำเมืองสงขลาสู่เมืองมรดกโลก บทบาทของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม บทบาทของสถานศึกษา และมาตรการในการควบคุมการก่อสร้างอาคารของภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐอย่างอื่นครอบคลุมพื้นที่เมืองเก่า และแนวทางการพัฒนาสงขลาสู่เมืองมรดกโลก เพื่อให้เมืองเก่าสงขลาได้รับการปกป้องดูแล มิให้เกิดอาคารที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และทำลายทัศนียภาพบริเวณเมืองเก่า และเท่าทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาการเข้าร่วมโครงการ UNESCO โดยชี้แจงความก้าวหน้าของโครงการ ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะทำงาน Upstream Process เมืองเก่าสงขลาสู่มรดกโลก พิจารณางบประมาณในการดำเนินการโครงการ Upstream Process ของ UNESCO และการขับเคลื่อนสงขลาสู่เมืองมรดกโลกอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น