xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านสตูลเก็บกาบหมากข้างบ้านนำมาทำกระเป๋าแฮนด์เมดสร้างรายได้หลักพัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตูล - ชาวชุมชนบ้านทุ่งพัก ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล เก็บกาบหมากข้างบ้านนำมาทำกระเป๋าแฮนด์เมดหลากหลายรูปแบบ สร้างรายได้หลักพันบาท พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

วันนี้ (10 ส.ค.) ที่บ้านทุ่งพัก ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล ในพื้นที่นี้เต็มไปด้วยต้นหมาก เป็นพืชตระกูลปาล์มซึ่งผลมีรสชาติฝาดใช้เคี้ยวกับปูนและใบพลู ชาวสวนมักจะปลูกตามท้องร่องสลับกับต้นไม้ทั่วไป โดยยอดหมากจะมีกาบใบหุ้ม เมื่อกาบมีสีเหลืองถึงน้ำตาลแก่จะร่วงหล่นลงมาเรียกว่า กาบหมาก เด็กๆ จะนำมาใช้เป็นรถลากเล่น และใช้เป็นภาชนะเล็กๆ น้อยๆ ในครัวเรือนได้

มาวันนี้ ดร.วรรณดี สุธาพาณิชย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสตูล สังกัดสถาบันวิทยาลัย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับการประสานจากชุมชนในการเข้ามาช่วยทำวิจัยและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดการความรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์กาบหมาก ภายใต้การแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงระบบโดยใช้ทุนชุมชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล


กาบหมากแก่ร่วงหล่นอย่างไร้คุณค่า และมีมากมายในชุมชนบ้านทุ่งพัก ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ขณะนี้ถูกชุมชนหยิบมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้วัตถุดิบที่มีอยู่อย่างมากมาย เปลี่ยนมาเป็นรายได้หล่อเลี้ยงคนในชุมชน ในรูปแบบของกระเป๋าหลากหลายรูปแบบ ที่มีการนำมาผสมผสานกับผ้าพื้นเมืองที่ตกแต่งอย่างสวยงาม โดยเชิญ ดร.สุภา จุฬคุปต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ในครั้งนี้

โดยชาวบ้านชายและหญิงที่เข้าอบรมบอกว่า ไม่คิดว่ากาบหมากที่ไร้ค่า ไร้ราคา จะทำผลิตภัณฑ์ได้ออกมาสวยงามและสร้างมูลค่าได้ถึงชิ้นละ 1,000 บาทเลยทีเดียว โดยชาวบ้านเชื่อว่าหลังเสร็จสิ้นการทำสวนยางพารา ก็ตั้งใจจะนั่งสานกระเป๋าและตะกร้าจากกาบหมาก รวมทั้งภาชนะที่เป็นบรรจุภัณฑ์จากกาบหมากไว้ใช้เองเพื่อลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย


ก๊ะรอม หรือนางตีแบด๊ะ แก้วสลัม อายุ 47 ปี และนางยามินล๊ะ แนะสกุล อายุ 31 ปี แม่บ้านที่เข้าอบรมในครั้งนี้บอกว่า ไม่คิดเลยว่ากาบหมากจะสร้างมูลค่าได้มากถึงหลักพันบาท จากที่เป็นสิ่งทิ้งขว้างภายในชุมชนที่ไร้ค่า และหลังจากนี้จะฝึกฝนฝีมือและทำผลิตภัณฑ์จากกาบหมากที่เรียนรู้เพื่อเป็นรายได้เสริม

นายอุใบ หมัดหมุด อาจารย์ศูนย์วิจัยและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต วิทยาลัยชุมชนสตูล ยอมรับว่า พื้นที่แห่งนี้มีความสมบูรณ์และมีวัตถุดิบอย่างต้นหมากและกาบหมากมายมาย หลังมีการทำวิจัยดำเนินโครงการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ วิเคราะห์พบว่า กาบหมาก เป็นต้นทุนทางธรรมชาติในชุมชนที่สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อความยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิต

ลุงอาทิตย์ นายคมเดช ศรีประสม อายุ 60 ปี แกนนำชุมชนเปิดเผยว่า สิ่งที่คาดหวังหลังการอบรม นอกจากชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการทำผลิตภัณฑ์จากกาบหมากเป็นกระเป๋าและสิ่งของเครื่องใช้แล้ว สิ่งหนึ่งคืออยากเห็นมีการใช้กาบหมากแทนการใช้โฟม หรือสิ่งของทำลายสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติให้เยอะมากยิ่งขึ้น








กำลังโหลดความคิดเห็น