ปัตตานี - สหภาพยุโรปเปิดตัวโครงการ “EU COVID-19” เพื่อรับมือและฟื้นฟูผลกระทบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ด้วยงบประมาณกว่า 90 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2563 ที่บ้าน ม.อ.ปัตตานีภิรมย์ ฯพณฯ เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย พร้อมด้วย รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี น.ส.ธิดารัตน์ ธนานันท์ หัวหน้าผู้ประสานงานอาวุโส องค์การช่วยเหลือเด็กประจำประเทศไทย สำนักงานปัตตานี และองค์กรเครือข่ายด้านเด็ก เยาวชน สตรี ได้ร่วมแถลงเปิดตัวโครงการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ด้วยงบประมาณ 2.6 ล้านยูโร หรือประมาณ 90 ล้านบาท จำนวน 2 โครงการ
โดยมีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มความสามารถและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมของไทย ที่จะช่วยลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจของกลุ่มประชากรเปราะบางที่สุดในประเทศ มีระยะเวลาการดำเนินงาน 2 ปี และปฏิบัติงานโดยภาคีขององค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทย เช่น มูลนิธิแอ็คชั่นเอดประเทศไทย มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และมูลนิธิชีววิถี โดยมีพื้นที่ในการปฏิบัติงานในเกือบ 40 จังหวัด และจะทำงานกับภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ เช่น แรงงานข้ามชาติ และแรงงานนอกระบบ เด็ก และประชาชนชายขอบ ซึ่งครึ่งหนึ่งของผู้ที่ได้รับผลกระทบนี้เป็นผู้หญิง
โครงการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยของอียู มีส่วนประกอบหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด การฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนโดยการพัฒนาการดำรงชีพของชุมชนที่ได้ผลกระทบให้ดีขึ้น และการสร้างความสามารถในการยืดหยุ่นของชุมชนในการรับมือวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ฯพณฯ เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบตามมาอย่างใหญ่หลวงทั้งในระยะสั้น กลางและยาว ผลกระทบที่ว่านี้มีทั้งปัญหาด้านสาธารณสุขและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจน
สิ่งที่แน่ชัดในตอนนี้คือ ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมกันรับมือกับผลลัพธ์เชิงลบที่จะตามมา ในฐานะที่สหภาพยุโรปเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน เรายังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมในการรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ โดยจะไม่ทิ้งผู้ใดไว้ข้างหลัง ผมยินดีอย่างยิ่งที่การร่วมมือกันของเราจะช่วยให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงต่อกลุ่มประชากรเปราะบางทั่วประเทศ
ด้าน นายเทาฮีด อิบเน่ ฟาริด ผู้อำนวยการมูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย กล่าวว่า เรามาร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือชุมชนต่างๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือแตกต่างกัน ทั้งในช่วงวิกฤตจากการระบาดของโรค และหลังจากนั้นโครงการที่จะดำเนินการครอบคลุมหลายภาคส่วน โดยจะมีการเตรียมชุมชนให้พร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเตรียมการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในระยะสั้นและระยะกลาง มีมาตรการที่สามารถปรับให้ยืดหยุ่นเพื่อสามารถดำเนินงานในชุมชนชายขอบที่เปราะบางที่สุด
นายประเสริฐ ทีปนาถ ผู้อำนวยการองค์การช่วยเหลือเด็ก กล่าวว่า สำหรับโครงการ “EU COVID-19 Three Southern Border provinces” เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมในการป้องกัน แก้ไขปัญหา และลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จังหวัดชายแดนภาคใต้ องค์การช่วยเหลือเด็กได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสมาคมนิสิตเก่าบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการดำเนินงานโครงการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มเยาวชน และแรงงานอพยพคืนถิ่น โดยเน้นที่กลุ่มผู้หญิงเป็นสำคัญ
มีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่หลายครอบครัวที่ยากจนและเปราะบางในประเทศไทยจะไม่สามารถกลับมาดำเนินชีวิตอย่างปกติหลังจากวิกฤตโควิด-19 เราต้องมั่นใจว่าบุคคลเหล่านี้จะมีความเข้มแข็ง และมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ส่วนบุคคล ครอบครัวและชุมชน ให้สามารถรับมือ ป้องกัน และลดผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
พ.อ.อัครวัฒน์ ว่องวิษณุวงศ์ รอง ผอ.กองภาคประชาสังคม ศูนย์สุนติวิธี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ทาง EU ได้ประสานตามขั้นตอนกระบวนการการเข้ามาในพื้นที่ ผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศมาอย่างถูกต้อง ซึ่งทางเราก็เน้นย้ำในเรื่องของการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ถึงองค์กรต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ว่า มีขั้นตอนกระบวนการอย่างไรที่ต้องดำเนินการที่ถูกต้อง เพราะเราเน้นย้ำว่าการทำงานในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่บ้าน ต้องยึดถือกระบวนการและกฎหมายที่เรามีอยู่ และดำเนินการตามหลักกฎหมายที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ สิ่งที่ EU ลงมาก็จะมาทำงานเกี่ยวกับภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเราเองก็มีส่วนในเรื่องของการสนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคประชาสังคม มีบทบาทมาขับเคลื่อนงานที่ถูกต้องและหนุนเสริมให้เขาทำงานมีเชิงสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก
ต้องยอมรับว่าหน่วยงานความมั่นคงต้องเป็นส่วนที่ตรวจสอบการทำงานขององค์กรต่างๆ ที่ขับเคลื่อนอยู่ในพื้นที่ ให้ขับเคลื่อนอยู่ในบทบาทที่ถูกต้องและภายใต้กรอบกฎหมายที่เน้นย้ำไปว่า สิ่งต่างๆ ที่เคลื่อนไหวต้องไม่กระทบต่อมิติงานด้านต่างๆ และภาคประชาสังคมที่ร่วมด้วยกับโครงการต่างๆ จะต้องหนุนเสริมการทำงานเชิงสร้างสรรค์และยึดหลักเพื่อประโยชน์ของประชาชน
เราพยายามขับเคลื่อนให้องค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ไปในทิศทางที่ดี และเข้าใจการทำงานของภาครัฐมากขึ้น รวมไปถึงการลดช่องว่างระหว่างภาครัฐกับประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ทำให้การช่วยเหลือต่างๆ ของหน่วยงานรัฐสามารถลงไปถึงประชาชนและเข้าใจการทำงานของภาครัฐมากขึ้น อีกทั้งกลุ่มภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ หน่วยงานรัฐเองก็มีความเชื่อมั่นว่า ทุกองค์กรจะเคลื่อนไหวอยู่ในบทบาทที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่และประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
นางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สหภาพยุโรปหรืออียูได้ประสานความร่วมมือจะร่วมกันสนับสนุนและขับเคลื่อนงานเด็กและเยาวชน โดย ศอ.บต.เองก็ทำงาด้านพัฒนาอยู่แล้วในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ EU มีโปรเจกต์พิเศษออกมา เน้นการส่งเสริมให้เยาวชนมีอาชีพ มีรายได้ มีงานทำ เพื่อที่เยาวชนจะได้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีและสามารถพึ่งพาตนเองอยู่ในชุมชน จนถึงการเชื่อมโยงหน่วยงานของเยาวชนกับแนวคิดวิถีชีวิตชุมชน รวมถึงพหุวัฒนธรรม งานตรงนี้ไม่ทับซ้อนกัน เพราะเราถือว่าเป็นพาร์ตเนอร์กัน ซึ่ง ศอ.บต. จะสนับสนุนและเป็นข้อต่อให้ทุกหน่วยงาน