xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ชาวตรัง รวมตัวเลี้ยงโคเนื้อป้อนตลาดสร้างรายได้หลัก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - เกษตรกรรุ่นใหม่รวมกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อจนกลายเป็นรายได้หลัก แทนอาชีพทำสวนยางและสวนปาล์ม หลังพบตลาดมีความต้องการสูง เตรียมพัฒนารับมือตลาดในอนาคต

วันนี้ (6 ส.ค.) เกษตรกรชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน คนรุ่นใหม่ในจังหวัดตรัง ในนามกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเลี้ยงโคเนื้ออ่างเก็บน้ำห้วยนาง เครือข่ายสยามบีฟ ต.ห้วยนาง อ.ห้วยยอด ได้หันมาให้ความสนใจในการเลี้ยงโคเนื้อเพื่อส่งขายกันมากขึ้น หลังพบว่าตลาดมีความต้องการสูงมาก จากเดิมแยกกันเลี้ยงของใครของมัน แต่ปัจจุบันได้หันมารวมกลุ่มกันเลี้ยง เพื่อจับมือกันพัฒนาคุณภาพ สร้างความเข้มแข็งในด้านตลาด

นายประดิษฐ์ คงดี อายุ 35 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเลี้ยงโคเนื้ออ่างเก็บน้ำห้วยนาง เครือข่ายสยามบีฟ กล่าวว่า เฉพาะตนเองได้ทำฟาร์มเลี้ยงโคเนื้อในสวนปาล์มน้ำมัน เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ มาแล้วประมาณ 8 ปี ขณะนี้มีโคเนื้อทั้งหมด 14 ตัว แบ่งเป็นโคขุนเกรดพรีเมียม 8 ตัว และโคแม่พันธุ์ 6 ตัว โดยภายในพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันทั้งหมด ตนเองจะปลูกหญ้าแซมไว้เต็มพื้นที่ สำหรับการใช้เป็นอาหารเลี้ยงโคเนื้อ เช่น หญ้ารูซี่ และหญ้าเนเปียร์ปากช่อง

ทั้งนี้ เนื่องจากการปลูกปาล์มน้ำมันกว่าจะได้เก็บผลผลิตจะต้องเข้าระยะปีที่ 3 และราคาในอนาคตก็ไม่แน่นอน จึงนำโคมาเลี้ยงขายสร้างรายได้ เพราะแค่ปีเศษๆ ก็สามารถส่งขายป้อนตลาดได้แล้ว ทำให้ได้เงินเก็บเป็นก้อน ส่วนมูลก็นำไปทำปุ๋ยใส่ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ทำให้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอห้วยยอด และในหลายอำเภอของจังหวัดตรัง หันมาเลี้ยงโคเนื้อกันมากขึ้น จนเป็นที่มาของการจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคเนื้อขึ้นได้ประมาณ 2 ปี มีสมาชิก 20 ราย มีโคแม่พันธุ์ 150 ตัว มีโคขุนหรือโครุ่นกว่า 90 ตัว


สำหรับสายพันธุ์โคเนื้อที่เน้นเลี้ยงและเป็นที่ต้องการของตลาดมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ประกอบด้วย สายพันธุ์วากิว สายพันธุ์แองกัส แบรงกัส และสายพันธุ์ชาโรเลส์ เพราะโตไว แข็งแรง สร้างเนื้อได้มาก คุณภาพดี ส่วนตลาดที่ส่งป้อนจะเป็นตลาดพรีเมียมที่เน้นเนื้อโคมีคุณภาพคือ บริษัท สยามบีฟ ในนามของเครือข่ายโคเนื้อไทย โดยขณะนี้ความต้องการของตลาดสูงมาก ขณะที่ทางกลุ่มผลิตได้ไม่เพียงพอต่อการป้อนตลาด ทั้งที่ทำสัญญาตกลงกันไว้จะต้องผลิตป้อนบริษัทปีละประมาณ 100 ตัว

โดยขณะนี้ทางกลุ่มสามารถผลิตโคเนื้อป้อนตลาดได้แค่ 2 เดือน/ครั้ง หรือประมาณ 14-15 ตัวต่อครั้ง หรือประมาณ 90 ตัวต่อปีเท่านั้น และยังอยู่ระหว่างการพัฒนาสายพันธุ์ ด้วยการนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต่างสายพันธุ์มาผสมพันธุ์กัน เช่น การนำพ่อพันธุ์วากิวมาผสมแม่พันธุ์สายพันธุ์แองกัส แบรงกัส แต่สิ่งที่ทางกลุ่มต้องการมากที่สุดตอนนี้คือ แม่พันธุ์ เพื่อจะนำมาผลิตลูกวัวต้นน้ำป้อนส่งให้ตลาด เพราะสมาชิกไม่มีเงินทุนและต้องการคำแนะนำทางวิชาการจากเจ้าหน้าที่

สำหรับการเลี้ยงโคเนื้อของทางกลุ่มจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ลูกวัวแยกจากแม่พันธุ์ ในระยะ 4-5 เดือนแรก จะปล่อยให้กินหญ้าธรรมชาติในแปลงที่ปลูกไว้ เสริมอาหารเล็กน้อย จากนั้นนำมาไว้ในฟาร์มแยกไว้คอกละ 2 ตัว ให้กินหญ้าสดและเสริมอาหารมากขึ้น ถือเป็นวัวโครงที่พร้อมจะนำไปขุนพัฒนาคุณภาพเนื้อ ต่อจากนั้นนำมาแยกคอกเลี้ยงเดี่ยวเพื่อทำเป็นวัวขุน โดยจะให้กินหญ้าหมัก ฟางหมัก และเสริมด้วยอาหารเท่านั้น เพื่อพัฒนาคุณภาพเนื้อให้ได้ราคาดี โดยเลี้ยงโคเนื้อแค่ปีเศษก็สามารถจำหน่ายออกสู่ตลาดได้




กำลังโหลดความคิดเห็น