xs
xsm
sm
md
lg

ลูกจ้างชาวพม่าบุกร้องศูนย์ดำรงธรรมไม่ได้รับค่าจ้าง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ลูกจ้างชาวไทย-พม่าสุดทน บุกร้องศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ตนายจ้างไม่จ่ายค่าแรงหลังสถานประกอบการปิดยาว วอนช่วยเหลือเพราะเดือดร้อนหนัก

วันนี้ (4 ส.ค.) ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ได้มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า และแรงงานชาวไทยบางส่วน ซึ่งเคยเป็นพนักงานของสถานประกอบแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 60 คน รวมตัวเรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีเดือดร้อนจากการจ่ายค่าแรงที่ทางบริษัทฯ ยังคงค้างอยู่เกือบ 3 เดือน

โดยมีนายอดิศร สวัสดี ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต และตัวแทนจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานภูเก็ตรับเรื่องไว้ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและทำการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนต่อไป

นายมิน ทู คา ตัวแทนกลุ่มแรงงานชาวพม่า เปิดเผยว่า กลุ่มพนักงานที่เดือดร้อนมีทั้งคนไทยและพม่า มีประมาณ 500 คน แต่บางส่วนไม่ได้มา เนื่องจากเดินทางกลับบ้านเกิดไปแล้ว ซึ่งหลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และมีการประกาศปิดสถานประกอบการทำให้พนักงานทุกคนหยุดงาน ซึ่งในส่วนพนักงานที่มีประกันสังคมนายจ้างได้มีการยื่นเรื่องกับประกันสังคมเพื่อขอรับเงินเยียวยา และขณะก็ได้รับครบแล้ว 3 เดือน แต่มีพนักงานบางส่วนที่ไม่ได้เข้าระบบสังคมก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ

ขณะเดียวกัน ในส่วนของพนักงานซึ่งเป็นแรงงานพม่าไม่สามารถไปหางานอื่นทำได้ เนื่องจากยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการจ้างต่อหรือไม่อย่างไร เพราะทางนายจ้างไม่ได้มีการมาพูดคุยให้ความกระจ่าง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยยื่นเอกสารเรียกร้องความเป็นธรรมที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และมีการนัดพูดคุยกันในวันนี้ (4 ส.ค.) แต่ทางนายจ้างขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 13 สิงหาคมนี้แทน

ซึ่งพวกตนไม่มั่นใจว่า เมื่อถึงเวลาจะมีการขอเลื่อนอีกหรือไม่ เพราะขณะนี้ทุกคนเดือดร้อนมาก จึงอยากให้บริษัทฯ มีการเยียวยาพนักงานและจ่ายเงินเดือนที่ยังคงค้างค่าแรงของพนักงานให้ด้วย เพราะที่ผ่านมาบริษัทไม่เคยมีการสอบถาม ดูแลและเยียวยาใดๆ ให้แก่พนักงานเลย รวมถึงความชัดเจนว่าจะมีการจ้างต่อหรือไม่ เพราะกรณีของแรงงานต่างด้าวมีกฎหมายบังคับในเรื่องของการเปลี่ยนนายจ้างจะต้องมีหลักฐานการเลิกจ้างที่ชัดเจน

ด้านนิติกรจาก สนง.สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ในกรณีการร้องเรียนจากแรงงานในครั้งนี้ จะต้องมีการปรึกษาหารือกับทางด้านฝ่ายงานนิติกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ถ้าหากมีการดำเนินคดีได้ก็จะเร่งดำเนินการ ส่วนด้านการช่วยเหลือจากทางประกันสังคมนั้น จะมีกฎหมายและเงื่อนไขของประกันสังคมอยู่ หากมีกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมดังกล่าวเกิดขึ้นแรงงานก็สามารถมายื่นเรื่องโดยตรงที่ ซึ่งการนำเรื่องเข้าระบบนั้นจะสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว


กำลังโหลดความคิดเห็น