โดย... พิเชฐ แสงทอง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ในบรรดางานประเภทต่างๆ ที่เรียกว่าวรรณกรรม “บทกวี” ดูจะเป็นสิ่งที่สะท้อนลักษณะและตัวตนของผู้เขียนได้มากที่สุด
พูดอีกอย่างคือ บทกวีนั้นมีตัวตนของกวีนั่นแหละเป็นศูนย์กลาง การอ่านบทกวีจึงอ่านในฐานะปรนัย โดยไม่เชื่อมตัวกวียาก แนวคิดของโรลองด์ บาร์ธส์ เรื่อง The Death of the Author จึงอาจจะใช้ยากกว่านิยายและเรื่องสั้น ในการพิจารณาบทกวี
ผมเคยเขียน “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ในวงการวรรณกรรมเอาไว้เมื่อไม่กี่ปีก่อน อ้างอิงถึง myths หรือมายาคติเกี่ยวกับสถานะที่ “ถูกสร้าง” ให้สูงส่งจนกลายเป็น “คนพันธุ์พิเศษ” ของกวีในสังคมไทย
ปัจจุบันความสูงส่งนั้นอาจจะเสื่อมคลอนลงไปแล้วพอควร แต่มันก็ยังไม่ได้สลัดความหมายของกวีนิพนธ์ออกจากตัวกวีได้
เพราะฉะนั้น เวลาเราจะอ่านบทกวี เราก็ยังคงต้องอ่านมันทะลุไปถึงตัวตนของผู้เขียนอยู่
เหมือนที่ผมจะลองอ่านงานสั้นๆ ชิ้นนี้ของ “สุรชัย จันทิมาธร” หรือ “หงา คาราวาน”
อย่าเย่อหยิ่งทะนงตนคนรุ่นใหม่
ไม่กี่ปีผ่านไปมันก็เก่า
ความเป็นคนที่แท้อยู่แก่เรา
จะแก่เฒ่าสาวหนุ่มก็กลุ่มคน
อ่านใจความตามตัวอักษร สุรชัยคงอยากจะให้สถานะของบทกวีชิ้นนี้เป็นคำสอน ว่าด้วยการครองสถานะหรือครองตนของคนหนุ่มสาวในวัฏฏะของชีวิตและวันเวลา จากเด็ก สู่หนุ่มสาว สู่คนแก่
แต่เราจะอ่านบทกวีชิ้นนี้โดยไม่เชื่อมโยงบริบทจะทำให้ขาดรสชาติไปมากทีเดียว เพราะทั้งสถานะและตัวตนของสุรชัยที่ถือเป็น “ตัวบท” หนึ่ง
คำที่ใช้ก็สื่อถึงตัวบทอื่นๆ อีก เช่น คำว่า “คนรุ่นใหม่” ที่ถูกตีความว่าสุรชัยใช้อ้างอิงถึงสถานการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนปัจจุบันในลักษณะดิสเครดิต
อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าเมื่อเทียบความนิยมในการใช้คำทั้งสองแล้ว บทกวีใช้คำนี้อย่างชวนให้เชื่อมโยงไปถึงอดีตสมัยตุลาคมที่สุรชัยก็เคยเป็นหนึ่งในกลุ่มเยาวชนที่คิดจะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยอยู่ด้วย
ในยุคนั้น “วาทกรรมคนรุ่นใหม่” ถูกใช้ตะโกนก้องเสียยิ่งกว่ายุคนี้หลายเท่านัก หากนึกถึงชื่อวรรณกรรมและหนังสือต่างๆ เช่น หนังสือ “คำประกาศของคนรุ่นใหม่” นี่ติดหูมาก
อีกคำที่สื่อความหมายเชิงสัมพันธบทได้ดีคือคำว่า “หนุ่มสาว” ซึ่งในบทกวีนี้สุรชัยสลับตำแหน่งคำเพื่อหาสัมผัสในวรรคเป็น “สาวหนุ่ม”
คำนี้ในยุคตุลาฯ ก็เป็นอีกคำที่ถือเป็นภาษาของวาทกรรมปฏิวัติของคนรุ่นใหม่
คำพวกนี้มันทำหน้าที่ 2 อย่างด้วยกัน
อย่างที่หนึ่งคือ มันแยกกลุ่มคนออกจากกัน คือกลุ่มผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ แม้ว่าในเหตุการณ์ครั้งนั้นจะมีคนกลุ่มนี้ร่วมอยู่ด้วย แต่ผู้ใหญ่ผู้สูงอายุถูกจัดเข้าไปเป็น “ประชาชน” ซึ่งมีภาพลักษณ์ของผู้สนับสนุน
ส่วนผู้ใหญ่และผู้สูงอายุอีกกลุ่มเป็นพวกอนุรักษนิยม คอยตามไล่ล่าคนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่
คำนี้จึงช่วยแยกมิตร แยกศัตรู ในขบวนการเคลื่อนไหว
หน้าที่อย่างที่สองคือ การรวมคน คำทำให้คนที่อยู่ในวัยห่างกัน จากนักเรียนถึงวัยเพิ่งเริ่มทำงาน กลายเป็นคนกลุ่มเดียวกัน มีพลังร่วมกัน มีสำนึกตัวตนว่า ฉันคือพลังของความเปลี่ยนแปลงสังคม
ผมเคยนั่งไล่ดูรายชื่อผู้สูญเสียชีวิตในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พบว่า นอกจากนักศึกษาจำนวนมากแล้ว คนวัยเพิ่งเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานก็มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
ผู้เสียสละเหล่านี้ก็เป็น “คนรุ่นใหม่” และ “คนหนุ่มสาว” ในคำประกาศนั้น
ในทศวรรษ 2510 การศึกษาในสถาบันการศึกษาได้รับการตอบสนองจากประชาชนอย่างกว้างขวาง อันเป็นผลมาจากการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องและเร่งรัดมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (เพื่อสร้างคนสำหรับระบอบประชาธิปไตย) และแผนการศึกษาแห่งชาติใหม่ๆ ที่ออกมาเรื่อยๆ ในช่วงต้นทศวรรษ 2500-2510
เมื่อประกอบกับอัตราการเกิดในช่วงทศวรรษ 2490-2500 ที่พุ่งขึ้นเรื่อยๆ จำนวนคนในวัยเรียนของทศวรรษ 2510 จึงสูงขึ้นมาก (และกลายเป็นปัญหาประชากร กระทั่งต้นทศวรรษ 2520 จึงได้กระจายนโยบายคุมกำเนิดอย่างทั่วถึงลงระดับหมู่บ้าน)
มากจนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ รับไม่ไหว ต้องออกไปสร้างมหาวิทยาลัยในภูมิภาค ทั้ง มช., ม.อ. และ มข. นี่ยังไม่รวมวิทยาลัยช่างศิลป์และเทคนิคที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป อันเป็นสายการศึกษา “วิสามัญ” ที่สุรชัย จันทิมาธร เรียนอยู่ด้วย
ในบรรยากาศของเหตุการณ์นั้น คนวัยนี้ทั้งที่อยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดอื่นๆ ตามภูมิภาคถูกสร้างสำนึกให้เป็นกลุ่มพลังขนาดใหญ่ด้วยสองคำนี้
“คนรุ่นใหม่” และ “คนหนุ่มสาว”
นอกจากคำสองคำทำหน้าที่ตัดคนออก หลอมคนเข้า ขณะเดียวกัน มันก็หล่อหลอมความหมายใหม่ขึ้นมา นั่นก็คือ ความหมายแห่งความหวัง ความก้าว (ไปข้าง) หน้า และความบริสุทธิ์
ด้วยสำนึกในความหมายเช่นนี้นี่เอง จึงไม่ผิดปกติอันใดที่พวกเขาจะฮึกเหิม กล้าหาญและมั่นใจ
ไม่รู้ว่าลึกๆ แล้วตอนที่สุรชัยเป็นคนหนุ่มสาว/คนรุ่นใหม่ขณะนั้น เคยมั่นใจในพลังของตนมากมายเพียงใด แต่ดูจากเพลงคาราวานจำนวนมากแล้ว เขาสื่อสารออกมาซึ่งความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม อย่างเพลง “ถั่งโถมโหมแรงไฟ”
ปฏิวัติโค่นล้มสังคมแบบเก่า
ปฏิวัติเพื่อเราประชาชาติไทย
มาร่วมกันดันกงล้อประวัติศาสตร์
สู่เอกราชจริงแท้และสดใส
จับอาวุธถั่งโถมโหมแรงไฟ
เพื่อก้าวไกลแห่งสังคมอุดมการณ์...
เพลงนี้แม้สุรชัยจะเขียนขึ้นจากทฤษฎีการปฏิวัติที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสอนเขาหลังเข้าป่าที่อุดรธานีได้เพียงไม่กี่วัน แต่ท่วงทำนองและความยอดนิยมของเพลงก็สร้างพลังให้แก่คนหนุ่มสาวในขณะนั้นอยู่มาก เข้าใจว่ามันย่อมย้อนกลับมาสร้างความเชื่อมั่นในพลังหนุ่มสาวของคาราวานด้วย
สังคมเชื่อแบบนั้นมายาวนานหลายทศวรรษ
แต่บทกวีชิ้นล่าสุดของสุรชัยสะท้อนว่า สำนึกตัวตนถึงความเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีพลังในอดีตของเขานั้น เป็นเพียงสภาวะชั่วครู่
จะชั่วครู่ด้วยความเป็นแฟชั่น ตามเพื่อน ตกกระไดพลอยโจน หรืออย่างไรก็แล้วแต่ ทว่า สุรชัยเหมือนจะยอมรับแล้วว่า ที่สังคมเคยมีจินตภาพเกี่ยวกับเขานั้น เป็นเพียง myths หนึ่งเท่านั้น
เช่นเดียวกับที่สังคมเคยมี myths ในลักษณะเดียวกันนี้กับ “คนตุลา” อีกจำนวนมาก ที่ปัจจุบันกลายไปเป็นแขนขาให้แก่อำนาจไม่เป็นธรรมที่พวกเขาเคยแสดงตัวต่อต้าน
ภาพของอดีตของตนเองขณะวัยหนุ่มสาวและคนรุ่นใหม่ จึงกลายเป็นสิ่งที่เขาใช้บทกวีบทนี้ทบทวนสรุป ก่อนจะยอมสารภาพว่า มันก็แค่ความ “เย่อหยิ่งทะนงตน”
ที่น่าสนใจกว่านี้อีกอย่างก็คือ สุรชัยปฏิเสธมโนทัศน์การแยกกลุ่มคนที่แฝงฝังมากับคำ “คนรุ่นใหม่/คนหนุ่มสาว”
โดยบอกว่าหนุ่มสาวและเฒ่าแก่นั้น มันคือสภาวะของการเติบโตที่ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกระบวนการที่กินเวลาไม่นานนัก “ไม่กี่ปีผ่านมันก็เก่า”
การบอกเช่นนี้ สื่อให้เห็นถึงสภาวะสิ้นหวัง หมดพลังกระตุ้นใดๆ ที่จะให้เดินไปข้างหน้า
การหมดพลังนี้ จะเพราะความสมบูรณ์ด้วยเกียรติยศชื่อเสียง ทรัพย์สินเงินทองในปัจจุบัน ความหมดน้ำยา หรืออะไรก็แล้วแต่ ทว่า มันคือคำร้องให้โลกหยุดหมุน ซึ่งผู้ร้องมองว่าตัวเองเป็นศูนย์กลาง และคิดว่าโลกจะไม่เดินหน้าต่อไปอีก เมื่อคนรุ่นของตนลงไปนอนคุยกับรากหญ้าคา
ในสภาวะหยุดนิ่งนั้น สิ่งที่ปลอบประโลมเดียวคือ การค้นพบ “ความเป็นคนแท้” ซึ่งบทกวีก็สื่อออกมาอย่างเลื่อนลอย ไร้แก่นสาร เพราะไม่รู้ว่า “แท้” ดูได้อย่างไร มีอะไรเป็นสิ่งให้พิจารณาได้บ้าง
เท่าที่พิเคราะห์ได้จากบทกวีนี้ ความเป็นคนแท้ในมุมมองของสุรชัยคือ คนที่ไร้แก่นสาร เพราะเราจะนิยาม “คน” อย่างไรก็ได้
(เหมือนที่นายกฯ ประยุทธิ์เคยนิยามความเป็นมนุษย์ของตัวเองว่าคือ การสามารถแสดงอารมณ์โมโหฉุนเฉียวจนสูงกว่าทั่วไป) [ดูท้ายบทความ]
จากคนที่เคยจะ “ปฏิวัติโค่นล้มสังคมแบบเก่า” มาสู่คนที่ “ไร้แก่นสาร” จึงเป็นการกลับหลังหันที่ทำลาย myths ของสังคมเกี่ยวกับคนรุ่น 6 ตุลาคม (ส่วนหนึ่ง) อย่างน่าสะเทือนใจ
แต่มันก็ยืนยันให้เห็นว่า ความเป็น “คนตุลา” ของเขาเป็น “อุบัติเหตุ” แห่งชีวิตช่วงหนึ่ง
บทกวีสั้นๆ ของสุรชัยชิ้นนี้จึงเป็นคำสารภาพ และเปลื้องเปลือยอดีตของตัวเองอย่างล่อนจ้อนมากกว่าอื่นใด
หมายเหตุ : คำให้สัมภาษณ์ของนายกฯ
“ความผิดของผมมีเพียงอย่างเดียวที่ผมรู้คือ ความเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์จะต้องมีความผิดพลาด มีโมโห มีโกรธ นี่คือความเป็นมนุษย์ของผม เพราะฉะนั้นในการเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะต้องมีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นเรื่องสมมติออกมา ผมเป็นมนุษย์ ผมเป็นคน และผมทำงานเพื่อคน เพื่อประเทศไทยเพื่อคนไทย ผมก็ต้องเป็นของผมแบบนี้” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา