ที่ประชุม กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎร ชี้ชัด “ศอ.บต.” นำงบฯ ประจำไปจัดเวที 11 ก.ค.ดัน “จะนะเมืองอุตฯ ก้าวหน้าแห่งอนาคต” ต้องการเปลี่ยนสีผังเมืองแบบคลุมเครือ ทำผิดทั้งรัฐธรรมนูญปี’60 และขัดระเบียบสำนักนายกฯ มากมายเงื่อนงำ ซับซ้อน ความพิลึกพิลั่น ยันประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ส่อเอื้อแต่ “ทีพีไอ” ยักษ์ใหญ่พลังงานและปิโตรเคมี
เพื่อความกระจ่างชัดต่อกรณี “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)” รับเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันให้แก่กลุ่มทุน “เครือทีพีไอ” ยักษ์ใหญ่วงการพลังงานและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย โดยการจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนเพื่อเดินหน้าแผนปั้น “เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” มูลค่ากว่า 600,000 ล้านบาท บนที่ดินราว 16,753 ไร่ใน อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2563 แบบ “มากมายความคลุมเครือ” เช่น ไม่มีการประกาศวัตถุประสงค์การจัดเวทีชัดเจนให้สาธารณะได้รับทราบ งบประมาณดำเนินงานไม่ทราบที่มาที่ไป และที่สำคัญไม่มีการแจ้งว่าจะนำผลสรุปที่ได้จากการจัดเวทีไปใช้เพื่อผลักดันโครงการอย่างไร เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนสีผังเมืองรวมจะนะ หรือการจัดทำ EHIA ที่ผู้ลงทุนต้องรับผิดชอบดำเนินการหรือไม่
“MGR Online ภาคใต้” ที่ติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มาตลอด ขอถอดความชนิดคำต่อคำจากการแถลงข่าว ณ อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ นำโดย นายสัตวแพทย์ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยตัวแทน “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ได้แก่ นายรุ่งเรือง ระหมันยะ นายสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ และ นายสมบูรณ์ คำแหง ผู้ประสานงานเครือข่าวติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสงขลา-สตูล เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2563 ภายหลัง กมธ.ได้เชิญตัวแทนจาก ศอ.บต.เข้าร่วมประชุมหารือด้วยกัน เพื่อหาทางออกความขัดแย้งจากกรณีที่เกิดขึ้น
- - - - - - - - - -
หมอปดิพัทธ์ สันติภาดา : ในส่วนของการแถลงข่าววันนี้นะครับ ก็จะเป็นความคืบหน้าในเรื่องของผลการประชุมระหว่าง เครือข่ายจะนะรักถิ่น ที่เป็นตัวแทนของพี่น้อง อ.จะนะ จ.สงขลา ที่พวกเราได้ติดตามในเรื่องของเวทีรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำเมืองอุตสาหกรรมต้นแบบแห่งอนาคต ที่ดำเนินการโดย ศอ.บต. แล้วในวันนี้เราได้คำตอบจาก ศอ.บต.ในหลายเรื่องนะครับ เราจะมาเรียนให้ทราบกัน เพื่อทุกคนได้ช่วยกันติดตามสถานการณ์ ก็มีทั้งเรื่องที่ได้คำตอบชัดเจน แล้วก็มีอีกหลายคำตอบที่นำไปสู่คำถามที่ใหญ่กว่านั้นด้วยนะครับ เพราะฉะนั้นวันนี้ผมจะให้ทางพี่น้องจากจะนะได้มีโอกาสกล่าวนะครับว่า พวกเขาได้รับคำตอบหรือมีคำถามอะไรมากกว่านี้หรือเปล่าครับ เชิญครับ
นายรุ่งเรือง ระหมันยะ : สวัสดีสื่อมวลชนนะครับ สำหรับวันนี้สิ่งที่ได้คุยกันทั้งทางกรรมาธิการ ศอ.บต. แล้วก็พวกกระผมเครือข่ายจะนะรักถิ่น ผมคิดว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ใหญ่มาก และเป็นโครงการที่ต้องใช้ความละเอียด คือจะนะของเรานะครับ มันมีแหล่งผลิตอาหาร มีห่วงโซ่อาหาร มีอะไรอยู่หลายอย่างอยู่แล้ว แล้วการที่วันนี้ได้มาคุยกับ ศอ.บต. ผมว่าคำตอบมันชัดครับ แต่ว่ามันชัดในสิ่งที่พวกเราคิดกัน ก็คือการประชุมในวันที่ 11 ก.ค.2563 มันก็คือการที่จะเปลี่ยนแปลงผังเมืองด้วย ผังเมืองที่เราได้มาเป็นผังเมืองสีม่วง
แล้วการที่ ศอ.บต. พยายามบอกว่า อุตสาหกรรมเมืองต้นแบบจะนะยืนยันแน่นอนว่าไม่มีปิโตรเคมี ผมว่าคำตอบตรงนี้มันยังคลุมเครืออยู่ครับ แล้วการที่ ศอ.บต.ก็รู้อยู่แล้วว่า จะนะของเราเป็นพื้นที่ซึ่งเปราะบางมาก การที่มีพื้นที่เปราะบางมาก แล้วนำเจ้าหน้าที่เข้ามาเป็นพันๆ นาย แล้วทำให้ชุมชนแยกพรรคแยกฝ่าย ผมคิดว่ามันเหมือนกับทำให้เพิ่ม แล้วก็สร้างความไม่เข้าใจของชุมชนมากขึ้น
ซึ่งโครงการใหญ่ๆ อย่างนี้ มันต้องมีบริษัทซึ่งเป็นเจ้าของโครงการผู้ผลักดันโครงการ และมีบุคลากรที่มีความรู้ในเรื่องโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรม ไปชี้แจ้งให้ละเอียด ไม่ใช่เอาบุคลากรที่อยู่ภายในหมู่บ้าน เป็นแค่ผู้นำหมู่บ้าน ซึ่งรายละเอียดของโครงการเขาตอบไม่ได้แน่นอน มันต้องให้คนที่มีความรู้จริงๆ ไปตอบกับชาวบ้านครับ
นายสมบูรณ์ คำแหง : เบื้องต้น ต้องขอขอบคุณกรรมาธิการการเมืองฯ ที่ได้เปิดพื้นที่ให้มีการสื่อสารกันระหว่างทางชาวบ้านจะนะ กับทาง ศอ.บต. ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ได้มีการคุยกันซึ่งๆ หน้านะครับ ก็ทำให้เห็นข้อเท็จจริงในหลายเรื่องที่เราตั้งขอสังเกตเอาไว้ว่า ทาง ศอ.บต.เบื้องต้นเราคิดว่าเขาน่าจะทำผิดกฎหมายใหญ่ที่ระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 58 ค่อนข้างชัดเจน แล้วก็กระบวนการรับฟังความคิดเห็นในช่วงเวลาที่ผ่านมาค่อนข้างชัดนะครับว่า ถ้าเราเทียบกับระเบียบของสำนักนายกฯ ว่าด้วยเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนปี 2548 ก็น่าจะไม่เข้าข่ายตามระเบียบนี้ด้วย
แล้วก็เจตนาในการจัดเวทีเมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ก็เห็นชัดเจนว่าเป็นการจัดเวทีเพื่อที่จะเอารายชื่อไปเปลี่ยนผังเมือง จากสีเขียวให้เป็นสีม่วง อันนี้เห็นว่าตอนเขาจัดเวทีเขาก็ไม่ได้ประกาศว่ามีเจตนาแบบนี้อย่างชัดเจน ผมคิดว่าความคลุมเครือในการดำเนินงานโครงการนี้ของ ศอ.บต.คาดหวังนะครับว่า ทางกรรมาธิการฯ ชุดนี้ก็จะติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้นต่อไปหลังจากนี้
แล้วก็ในโอกาสนี้นะครับ พวกผมทำหนังสือมาหนึ่งฉบับถึงรัฐบาลด้วย เดี๋ยวต้องฝากทางกรรมาธิการฯ เพื่อส่งต่อด้วยนะครับ ในเรื่องของการให้ยกเลิกโครงการนี้ ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่มีไปแล้วถึง 2 ครั้ง และถ้าเกิดรัฐบาลจะดำเนินการโครงการนี้ใหม่ ก็จะต้องยึดหลักระบบระเบียบของบ้านเมืองเป็นที่ตั้งด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญและในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ
ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราเองก็อาจจะต้องท้วงติงไปทาง ศอ.บต. รวมถึงรัฐบาลด้วย ในการทำโครงการใหญ่ๆ ของประเทศที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับชุมชนกับชาวบ้าน จะเห็นได้ว่าต้องระวังให้ดี ก็ถือเป็นโอกาสที่วันนี้กรรมาธิการฯ ได้เรียกเรามาให้ข้อมูลเพิ่มเติม และก็ทำให้เราได้รู้ว่าหลังจากนี้ เราจะไปดำเนินการอย่างไรต่อในพื้นที่ ก็ต้องฝากเรื่องกฎหมายไว้ด้วยนะครับ
หมอปดิพัทธ์ สันติภาดา : ครับทุกท่าน นี่ก็เป็นเสียงจากพี่น้องจะนะนะครับว่า การพบกันระหว่างพี่น้องจะนะ และ ศอ.บต.ในครั้งนี้ ไม่ได้นำพาไปสู่ทางแก้ไขได้ เพราะว่าเรื่องใหญ่ใจความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 ได้พูดไว้ชัดเจนว่า การดำเนินการใดของรัฐ หรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้ส่วนเสียของประชาชน หรือชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมอย่างสำคัญอื่น รัฐต้องเร่งดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความเห็นของผู้ที่มีส่วนได้เสียของประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ
ทุกท่านครับการดำเนินการนี้ไม่ได้มีส่วนใกล้เคียงกับมาตรานี้เลยนะครับ รัฐมีมติก่อน ดำเนินการก่อน และมีการรับฟังความเห็นภายหลัง และจากการรับฟังความเห็นนั้นยังเต็มไปด้วยความคลุมเครือ
วันนี้มีคำตอบจาก ศอ.บต.ที่สร้างความกังวลให้ผมพอสมควร เช่น งบประมาณในการดำเนินงานของ ศอ.บต.นั้น เอามาจากไหน ในเมื่อไม่ปรากฏงบฯ ในปี 2563 และ 2564 แต่การใช้เงินในการจ้างคน การใช้เงินในการจัดเวที ซึ่งใช้บุคลากรเป็นพันๆ คน อาหารการกิน เวที การถ่ายทอดสด ศอ.บต.เอาเงินจากไหนมาจัด
คำตอบที่ได้คือ เป็นงบฯ ประจำ อันนี้เป็นคำตอบที่ผมประหลาดใจมากนะครับว่า งบประจำของ ศอ.บต.ที่ถูกใช้เพื่อความสงบเรียบร้อย ความมั่นคง และการดำเนินงานต่างๆ ของ ศอ.บต.นั้นกลับถูกนำมาใช้ในการไกล่เกลี่ย ถูกนำมาใช้ในการจัดเวทีเพื่อประโยชน์ของการลงทุนของเอกชน อันนี้เป็นคำถามใหญ่ที่เกิดขึ้นในห้องกรรมาธิการฯ
อันที่สองก็คือ มาตรา 58 ยังพูดต่อว่า บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐ ก่อนการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรค 1 แต่การให้ข้อมูลในพื้นที่ของพี่น้องประชาชนได้แต่ข้อมูลด้านดี ผมเป็นพยานในเรื่องนี้ว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 11 ก.ค.2563 มีแต่การพูดถึงด้านดีที่จะเกิดขึ้น ซึ่งไม่แปลกนะครับที่โครงการต่างๆ จะต้องนำเสนอผลประโยชน์ที่พี่น้องจะได้ แต่ไม่มีการพูดถึงผลกระทบเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่มีการพูดถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ไม่มีการพูดถึงผลกระทบทางวัฒนธรรมชุมชน ไม่มีการพูดถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจรากฐานที่เปลี่ยนโฉมไปตลอดกาล จากการเข้ามาของนิคมอุตสาหกรรม
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผิดรัฐธรรมนูญ และแน่นอนว่าจะได้รับการศึกษาว่า เราจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
แต่สิ่งที่ผมตั้งคำถามที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ แล้วคณะรัฐมนตรีเร่งรัดทำเรื่องนี้ทำไม ในขณะที่คณะ ศอ.บต.อาจไม่ใช่จิ๊กซอว์สำคัญในเรื่องนี้แล้วนะครับ เพราะมติ ครม.เป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมคณะรัฐมนตรีต้องมีการเร่งรัดทำเรื่องนี้ ทั้งที่ยังไม่มีการศึกษา และไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชน แล้วมาทำย้อนหลัง ตรงนี้เป็นเรื่องประหลาดมาก กลับหัวกลับหาง เราอาจจะทำหลายสิ่งหลายอย่างช้าไปแล้ว ถ้าเราไม่กลับไปที่ต้นเหตุว่า ทำไมคณะรัฐมนตรีถึงมีมติเหล่านี้ออกมา
เพราะฉะนั้น สิ่งที่คณะกรรมาธิการฯ ของเราจะติดตามต่อก็คือ ติดตามไปที่คณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีเองว่า มติ ครม.ที่เกิดขึ้นนั้นผิดไปจากรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ และจะมีการทบทวนมติเหล่านี้ใหม่หรือไม่
เพื่อประชาชนจะเข้าไปตั้งแต่เริ่มต้นโครงการนี้ ส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด การพิจารณาโครงการร่วมกันจะเกิดขึ้น ไม่มีใครอยากเห็นคนตกงาน ไม่มีใครอยากเห็นว่าจะนะไม่ได้รับการพัฒนา แต่การพัฒนานั้นจะต้องยึดโยงกับความต้องการของพี่น้องประชาชน และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อชุมชนเป็นที่ตั้งสำคัญนะครับ และนี้คือสิ่งที่คณะกรรมาธิการของเราจะดำเนินการต่อไปครับ
อีกประเด็นหนึ่งซึ่งผมคิดว่าน่าเป็นห่วงมาก คือในฐานะที่ผมเป็นผู้สังเกตการณ์ในเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 11 ก.ค.2563 ผมซึ่งเป็นผู้รับฟังและสังเกตการณ์อยู่ ข้อความที่ผมได้รับนั้นชัดเจนครับว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ 11 ก.ค.ไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการนำความเห็นประกอบเท่านั้น
แต่สิ่งที่ ศอ.บต.ตอบเราในวันนี้คือ ความคิดเหล่านั้นถูกส่งไปที่หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะชื่อที่สำคัญที่สุดก็คือ อบจ. เพราะว่าจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายผังเมืองที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้
และยังมีประเด็นสำคัญที่ได้ตั้งทิ้งไว้ในห้องประชุมด้วยว่า เอกสารแนบท้ายของ ศอ.บต.นั้น มีการเขียนเรื่องของการเปลี่ยนผังเมืองไว้อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น ศอ.บต.ไม่มีหน้าที่ในการเปลี่ยนผังเมือง เป็นหน้าที่ของท้องถิ่น แต่ทาง อบจ.เขียนเรื่องนี้ไว้ในเอกสารแนบท้าย อันนี้เป็นประเด็นที่ยังไม่ได้คุยกันต่อนะครับ เพราะเวลาเราจบแล้ว
แต่ว่าเงื่อนงำ ความซับซ้อน ความพิลึกพิลั่นในเรื่องนี้ และดูเหมือนจะมีแรงจูงใจที่ไม่ได้เป็นผลประโยชน์ของพี่น้องจะนะเป็นที่ตั้ง อันนี้เป็นสิ่งที่ผมสัมผัสได้ในการประชุมในวันนี้ และเราต้องติดตามเรื่องนี้ต่อไปอย่างแน่นอนนะครับ
ท่านใดมีคำถามเพิ่มเติมไหมครับ ครับผม ขอให้ทุกท่านช่วยกันเผยแพร่เรื่องนี้ด้วย เพราะว่าถ้าเรื่องที่จะนะเกิดขึ้นในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตอนนี้เราไม่ได้อยู่ในยุค คสช.นะครับ แต่ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดที่จะนะได้ นั่นคือจะเกิดขึ้นที่ไหนในประเทศนี้ก็ได้ ผมฝากด้วยครับ