คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ / โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
เมื่อ “สงครามโควิด-19” เบาบางลง หมดการ “ล็อกดาวน์” พื้นที่ก็หมดเรื่อง “หยุดยิง” ดังนั้น สถานการณ์ใน 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ก็กลับเข้าสู้โหมดเดิมๆ อีกครั้ง นั่นคือการดำเนินต่อของ “สงครามไฟใต้” ทั้งวางระเบิดและซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นงานประจำของ “แนวร่วม” จนถือเป็นเหตุรายวันที่ชินชาของผู้คนในพื้นที่ไปแล้ว เพราะเป็นอย่างนี้มาเนิ่นนานแล้วนั่นเอง
ก่อนที่จะร่ายยาวต่อไปถึงสถานการณ์หลังโควิด-19 ที่จะเกิดขึ้นกับแผ่นดินปลายด้ามขวาน ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของเจ้าหน้าที่ผู้เสียชีวิต “ชุด รปภ.ครู” ที่ ต.ป่าไร่ อ. แม่ลาน จ.ปัตตานี และผู้บาดเจ็บทั้งที่ อ.แม่ลาน และที่บ้านบางมะรวด ต.บ้านกลาง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งเกิดการซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ทหาร 2 วันติดกัน ระหว่างวันที่ 14-15 ก.ค.2563 ที่ผ่านมา ที่มีทั้งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวม 10 ราย และมีประชาชนที่ถูกลูกหลงได้รับบาดเจ็บอีกหลายราย
ในขณะที่หน่วยข่าวความมั่นคงก็แจ้งเตือนว่า เหตุการณ์โจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่องที่มีเป้าหมายต่อเจ้าหน้าที่รัฐยังจะเกิดต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เน้นที่ อ.หนองจิก อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา นั่นคือ สะบ้าย้อย เทพา จะนะ และนาทวี ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าแนวร่วมจะใช้ “จยย.บอมบ์” ในการก่อเหตุร้าย
ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ เพราะในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ในพื้นที่ 3 จังหวัดหวัดและ 4 อำเภอของ จ.สงขลา พบว่ามีการ “โจรกรรมรถ จยย.” กันไปแล้วจำนวนกว่า 10 คัน และจนถึงป่านนี้เจ้าหน้าที่ยังตอบไม่ได้ว่า รถ จยย.ที่ถูกโจรกรรมไปอยู่ที่ไหน ถูกนำไปขายต่อหรือนำไปเตรียมประกอบใส่ระเบิด
น่าอนาถนะที่พื้นที่ อ.โคกโพธิ์ และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ยังคงเป็นพื้นที่อันตราย ทั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้เวลาถึง 16 ปีกับการจัดการกับแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน หมดงบประมาณและเจ้าหน้าที่เสียชีวิตไปเท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว ใช้ยุทธวิธีต่างๆ มากมายแม้แต่ “ลูกไม้ก้นหีบ” ก็เอาออกมาใช้ แต่สุดท้าย “โจรใต้” หรือแนวร่วมกลับยังมี “มวลชน” และมี “ศักยภาพ” ในการก่อเหตุในพื้นที่ดังกล่าวได้เหมือนเดิม
ดังนั้น นับแต่นี้ไปพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา จึงกลับมาสู่สถานการณ์เดิมๆ นั่นคือ คนเป็น “แม่ทัพนายกอง” ก็จะมีงานประจำคือ “ส่งศพลูกน้อง” กลับมาตุภูมิ เป็นตัวแทน “วางหรีดหน้าศพ” ผู้กล้าเหล่านั้น
ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ก็ต้องอยู่กันแบบระมัดระวังทั้ง “ลูกหลง” และ “ระวังตนเอง” เพราะอาจจะกลายเป็นเหยื่อสถานการณ์เมื่อไหร่ก็ได้ โดยเฉพาะหลังเกิดกรณีเจ้าหน้าที่ปิดล้อมตรวจค้นแล้ว “วิสามัญ” บรรดาแนวร่วม นั่นก็จะมีการเอาคืนหรือแก้แค้นกัน
เหมือนกับที่เคยบอกว่าแม้ “บีอาร์เอ็น” จะมีพัฒนาการจากการใช้ความรุนแรงหรือ “งานการทหาร” ไปสู่เวทีทาง “การเมือง” ทั้งในประเทศและนอกประเทศ แต่การก่อการร้ายก็จะยังมีอยู่ เพราะการ “ทำสงครามแบ่งแยกดินแดน” ทุกประเทศทั่วโลก ต้องมีการก่อการร้ายควบคู่กันไปด้วย ถึงจะครบรูปแบบของการขอแบ่งแยกดินแดน
โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา การก่อการร้ายคือ “กับดัก” ของแนวร่วมในการดึงกำลังทหารให้ออกมาป้องกันพื้นที่ เพื่อมิให้เกิดเหตุร้าย รวมทั้งป้องกันชีวิต ป้องกันทรัพย์สิน ทั้งของประชาชนและสาธารณสมบัติ จนกำลังส่วนใหญ่ต้อง “จมปลัก” อยู่กับการลาดตระเวน ตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย และนั่นได้กลายเป็น “งานหลัก” ที่ขับเน้นให้เห็นถึงความรุนแรงถึงการใช้กำลังอาวุธ จนทำให้งานการเมืองฝ่ายรัฐอ่อนด้อย ตามไม่ทันงานการเมืองของบีอาร์เอ็น
16 ปีของ “ไฟใต้ระลอกใหม่” หลังจากไม่ประสบความสำเร็จใน “แผนบันได 7 “ขั้น” หรือปฏิบัติการ 1,000 วัน ทำให้บีอาร์เอ็นปรับแผนใหม่ ตั้งเป้าความสำเร็จภายใน 15 ปี ด้วยกระบวนการรุกทางการเมืองในพื้นที่ “ตั้งกลุ่มประชาสังคมกว่า 30 กลุ่ม” เพื่อทำหน้าที่เป็น “ปีกการเมือง” ให้แก่ขบวนการ
มีการประสานงานกับองค์กรต่างประเทศทั้ง “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ไอซีอาร์ซี)” และ “องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (เอ็มเอสเอฟ)” แล้วขยายเครือข่ายและขยายมวลชนไปในทุกภาคส่วน ทุกภูมิภาค ทุกหน่วยงานและในรัฐสภา เปิดแนวรุกสู่ความเป็นสากล โดยการเปิดเวที “พูดคุยสันติภาพ” โดยมีเอ็นจีโอต่างชาติที่มีอิทธิพลใน “สหประชาชาติ (ยูเอ็น)” โดยเฉพาะ “เจนีวาคอลล์” ให้เป็นพี่เลี้ยง
อีกทั้งในทุกวาระและทุกโอกาสที่มีในเวทีในระดับ “ยูเอ็น” โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” และเรื่องอื่นๆ อันเกี่ยวกับการขับเน้นเรื่องราวของ “ชาติพันธุ์” ที่มีอัตลักษณ์และวัฒนธรรมเฉพาะตัว ก็จะมีตัวแทนบีอาร์เอ็นได้ไปมีปรากฏตัวและแสดงผลงานในเวทีนั้นๆ มาโดยตลอด
นี่คือพัฒนาการของบีอาร์เอ็นหลังจากที่ไม่ประสบความสำเร็จตามแผนบันได 7 ขั้น ซึ่งหากติดตามแบบแกะรอยขบวนการลับนี้แล้วจะพบว่า นโยบายสำคัญๆ ที่ใช้ปฏิบัติการทางการเมือง หรือใช้ทำงานมวลชนที่มีประสิทธิภาพที่ “สั่งการ” ให้แนวร่วมและมวลชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีนัย ซึ่งล้วนเป็นอันตรายต่อการก่อ “สงครามแบ่งแยกดินแดน” ที่ยืดเยื้อมานาน โดยเฉพาะในฟากของงานด้าน “ปลุกระดม บ่มเพาะ” และใช้ช่องทางโชเชียลมีเดียในการทำลายภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือขององค์กรภาครัฐ ด้วยการชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
ภารกิจที่ “แกนนำ” บีอาร์เอ็นสั่งการให้แนวร่วมในพื้นที่ปฏิบัติการอย่างเข้มข้นคือ การเผยแพร่ข่าวสารขององค์กร สมาคม กลุ่มปกป้องศาสนาพุทธ ที่เคลื่อนไหวต่อต้านการสร้างมัสยิด การโจมตีผู้นำและประเด็นต่างๆ ที่อาจจะนำไปสู่ “ความขัดแย้งทางศาสนา” เพื่อขยายให้แตกแยกให้มากที่สุด
และที่สำคัญอีกประเด็นคือ ให้เครือข่ายใน “ปีกการเมือง” ร่วมประท้วงหรือคัดค้านเมกะโปรเจกต์ไม่ว่าท่าเรือ โรงไฟฟ้า อุตสาหกรรม ที่เป็นโครงการของรัฐเพื่อขยายความขัดแย้ง ซึ่งหากนำเอารายละเอียดในแผนร้ายของบีอาร์เอ็นที่สั่งการให้แนวร่วมในพื้นที่ปฏิบัติการเขียนกัน 3 หน้าก็ไม่จบ
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่ต้องการ “สื่อ” ให้เห็นว่า สงครามแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังอยู่อีกยาวไกล และรัฐบาลต้องมีนโยบายในการดับไฟใต้ที่ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่
เนื่องเพราะ 16 ปีไฟใต้ระลอกใหม่ที่ผ่านมายังไม่มีอะไรที่บ่งชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงมีพัฒนาการในการดับไฟใต้ได้อย่างเห็นผล
ตัวอย่างเช่นบังคับให้คนในพื้นที่ใช้ “ถังแก๊สคอมโพสิต” ก็แล้ว บังคับให้คนใช้โทรศัพท์มือถือต้องลงทะเบียน “2 แชะอัตตลักษณ์” ก็แล้ว เที่ยวไล่ “ขูดกระพุ้งแก้มตรวจดีเอ็นเอ” ผู้คนในพื้นที่ก็แล้ว แต่เสียงปืนและเสียงระเบิดก็ยังเกิดขึ้นแทบจะทุกวัน
หมดงบประมาณในการ “เอาใจผู้นำศาสนา” ไปเท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ แต่แนวร่วมที่ถูกวิสามัญก็ยังทำพิธีฝังศพแบบเทิดทูนเป็น “นักรบพลีชีพ” หรือเป็นการทำ “ชาอีด” มีการแห่ศพเหมือนกับ “วีรบุรุษ” ทั้งที่เป็นเพียงโจรใต้ โดยที่ผู้นำศาสนาไม่เคยที่คิดจะชี้ว่าอะไรผิด อะไรถูก
หรือกว่า 16 ปีที่มีการขนทหารเข้ามากระจายเต็มพื้นที่ แต่ “มอดไม้” ก็ยังสามารถทำลายผืนป่าใน 3 จังหวัดชายแดนใต้กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้อย่างยับเยินแบบไม่เคยเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมามีแต่ข่าวทหารไปพบกับ “ตอไม้” ของกลาง แต่ตัวตน “คนลอบตัดไม้” ไม่รู้อยู่ที่ไหนและเป็นใคร
หรือเรื่องราวการปราบปรามยาเสพติดในชายแดนใต้ที่มีอย่างจริงจัง ตั้งแต่มีการค้ายาบ้ากันเป็นแสนๆ เม็ด ปราบไปปราบมาในวันนี้กลับมีขายเพิ่มขึ้นเป็นล้านๆ เม็ด และจากการใช้รถบรรทุกกระบะมาบรรทุกกลายเป็นบรรทุกด้วยรถเทรเลอร์ 22 ล้อเพื่อให้ได้ครั้งละหลายตัน
นี่ไม่ต้องบอกนะว่าพัฒนาการของเจ้าหน้าที่รัฐ “ก้าวหน้า” หรือ “ล้าหลัง” เรื่องนี้สังคมดูเอาจากข้อเท็จจริงก็จะได้คำตอบชัดแจ้ง
อีกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ มีการบังคับใช้กฎหมายในกรณีชาวบ้านที่ให้ที่พักพิงแก่แนวร่วม ซึ่งมีการแจ้งข้อกล่าวหาและนำตัวไปสู่กระบวนการยุติธรรม ชาวบ้านถูกตัดสินตามความผิด รับโทษจำคุกแต่รอลงอาญา แล้วปรับเป็นเงินหลักหมื่น ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่แน่ใจว่ากรณีนี้จะให้คุณให้โทษต่อการดับไฟใต้แค่ไหนหรืออย่างไร
เนื่องจากเท่าที่สังเกตแนวร่วมจะเลือกบ้านของคนชรา หญิงหม้าย หรือที่จัดว่าเป็น “เป้าหมายอ่อนแอ” เป็นที่พักพิง เมื่อคนร้ายถูกวิสามัญเจ้าของบ้านก็ถูกดำเนินคดี กลายเป็นว่าคนในสังคมกลับเห็นใจและสงสารผู้ที่ทำผิดกฎหมายเหล่านี้ ซึ่งกลายเป็น “จุดอ่อน” ที่เกิดขึ้น แล้วสุดท้ายอาจจะไม่ได้เป็นผลดีกับกระบวนการดับไฟใต้แต่อย่างใด
เป็นที่น่าสังเกตว่า ณ วันนี้เมื่อเกิดการปิดล้อมจับกุม แนวร่วมทั้งหมดเลือกที่จะ “สู้ตาย” มากกว่าที่จะ “มอบตัว” เหมือนในอดีต ถามว่าเกิดอะไรขึ้นหรือ?! วันนี้บีอาร์เอ็นสามารถ “บ่มเพาะ” คนเข้าสู่ขบวนการได้แบบบรรลุถึงการ “ยอมตาย” แล้วล่ะหรือ?!
หากเป็นเช่นนี้จริง! อีกไม่นานเราอาจจะได้เห็นบนผืนแผ่นดินปลายด้ามขวานไทยเกิดปรากฏการณ์ “สู้รบแบบพลีชีพ” อย่างที่มักเกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางก็เป็นได้?!