xs
xsm
sm
md
lg

วิถีชีวิตคนกับลิงกังขึ้นมะพร้าว...ในสายตาฝรั่งนักล่าอาณานิคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลายเป็นปัญหาระดับโลก เมื่อ “พีต้า” (People for the Ethical Treatment of Animals PETA) องค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ระดับนานาชาติ ถือเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลต่อโลกค่อนข้างสูง ได้เผยแพร่รายงานข่าว Monkeys Chained, Abused for Coconut Milk ระบุว่า การใช้แรงงานลิงกังที่จับมาจากป่าธรรมชาติเพื่อเก็บมะพร้าวในประเทศไทย มีลักษณะเป็นการทารุณกรรมสัตว์ จนนำไปสู่การที่ห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เกตหลายแห่งในประเทศอังกฤษ และยุโรปหยุดขายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าว เช่น กะทิ แป้ง น้ำมันยี่ห้อดังของไทย จนกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงกับก้นร้อนต้องหาข้อมูลเหตุผลออกมาชี้แจงกันพัลวัน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชาวสวนและผู้ประกอบการผลผลิตจากมะพร้าวในประเทศไทย

กรณีข้อกล่าวหาดังกล่าว หากหน่วยงานภาครัฐไม่มีมาตรการสร้างความเข้าใจต่อชาวโลก ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการชาวสวน และอาชีพคนเลี้ยงลิงกังขึ้นมะพร้าวอย่างแน่นอน

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกสวนมะพร้าวรวมทั้งสิ้น 847,881 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 777,339 ไร่ รวมผลผลิต 806,026 ตัน/ปี ปลูกมากที่สุดทางภาคใต้ตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลงไปยัง 14 จังหวัดภาคใต้ พื้นที่ปลูกมากที่สุดคือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณกว่า 4 แสน ไร่ อันดับ 2 จ.สุราษฎร์ธานี 1.6 แสนไร่ และอันดับ 3 คือ จ.ชุมพร 1.1 แสนไร่ รวมมูลค่าผลผลิตปีละมากกว่า 1 พันล้านบาท ปัจจุบันแนวโน้มจะมีปริมาณพื้นที่เพาะปลูกลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากชาวสวนหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน


นายเสน่ห์ คงสุวรรณ ประธานชมรมผู้เลี้ยงลิงกังขึ้นมะพร้าว จ.ชุมพร มองถึงกรณีดังกล่าวว่า ในแต่ละภูมิภาคภูมิศาสตร์บนโลกใบนี้มีความแตกต่างกัน ทางตะวันออกกลางเป็นทะเลทรายใช้แรงงานอูฐเพราะมีความอดทนสูง ทางยุโรปหลายเมืองหนาวมีหิมะก็จะเลี้ยงสัตว์ไว้ล่าสัตว์ เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นยานพาหนะเพื่อการขนส่งตามสภาพพื้นที่ สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมีการเลี้ยงสัตว์ไว้ทำการเกษตร แต่ละประเทศในแต่ละภูมิภาคย่อมมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพวกตัวเอง

ลุงเสน่ห์ ในวัยกว่า 60 ปี กล่าวว่า ตนมีอาชีพใช้ลิงกังรับจ้างขึ้นมะพร้าวสืบทอดต่อมาจากรุ่นพ่อและปู่ย่าตายาย รักลิงกังเหมือนลูก ก่อนที่จะให้ขึ้นมะพร้าวมีการฝึกฝนด้วยตนเองอย่างดี บางคนก็พาไปฝึกหัดในโรงเรียนสอนลิงกังขึ้นมะพร้าวเปรียบเสมือนเข้าเรียนวิชาชีพในโรงเรียนอาชีวศึกษา จนมีความชำนาญจบหลักสูตรออกมาทำงานรับจ้างได้เลย ลิงกังทุกตัวที่ผ่านการฝึกสอนจะรู้หน้าที่ตัวเองเมื่อพาเข้าสวนมะพร้าวก็จะทำหน้าที่วิ่งขึ้นไปปั่นลูกมะพร้าวและจะรู้ด้วยว่าทะลายไหนเป็นมะพร้าวอ่อน มะพร้าวแก่ ที่เก็บผลได้แล้ว ระหว่างอยู่บนต้นมะพร้าวก็สื่อสารกันด้วยภาษาที่รู้กันระหว่างคนและลิงกัง ไม่มีการบังคับทุบตีแต่อย่างใด คนไม่เคยเลี้ยงลิงกังจะไม่รู้หรอกว่าเป็นอย่างไร

“ลิงกังทุกตัวเป็นสัตว์คุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครอง พ.ศ.2535 ใครเลี้ยงไว้ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ที่มีเลี้ยงประกอบอาชีพอยู่ทุกวันนี้เป็นลิงกังที่ได้ไปขึ้นทะเบียนและฝังไมโครชิปไว้กับทางราชการแล้ว เพราะพวกเราเลี้ยงมาก่อนที่จะมีกฎหมายประกาศบังคับใช้ ไม่ใช่ลูกลิงกังที่จับมาในป่าธรรมชาติตามที่ฝรั่งคิดและเข้าใจไปเอง” ลุงเสน่ห์ กล่าว


ลุงเสน่ห์ บอกด้วยว่า การขึ้นทะเบียนมีลิงกังไว้ในความครอบครองก่อนจะเป็นสัตว์คุ้มครองตามกฎหมายนั้น ยังมีกฎระเบียบเงื่อนไขในการครอบครองลิงกังไว้เลี้ยงอีกหลายประการ เช่น ต้องมีคอกหรือโรงเรือนให้ลิงกังอยู่อาศัยอย่างถูกสุขลักษณะ ห้ามเคลื่อนย้ายลิงกังในช่วงเวลาก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและหลังพระอาทิตย์ตกดิน นอกจากนั้น ยังมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกสุ่มตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้มีอาชีพเลี้ยงลิงกังขึ้นมะพร้าวจะทารุณกรรมสัตว์ตามที่ฝรั่งกล่าวหา

สำหรับ จ.ชุมพร มีโรงเรียนสอนลิงกังอาชีพอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง อ.สวี อ.หลังสวน ไม่เกิน 10 แห่ง ซี่งไม่รวมสถานที่ฝึกลิงกังเพื่อการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ในอนาคตนั้นวิถีชีวิตคนกับลิงกังขึ้นมะพร้าวก็จะหมดไปเองเพราะทุกวันนี้สวนมะพร้าวที่ปลูกดั้งเดิมเหลือน้อยมากแล้ว ขณะที่ปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุกรรมพืชทำให้ต้นมะพร้าวมีขนาดต่ำและเตี้ยมากสามารถใช้แรงงานมนุษย์และเครื่องจักรทำงานแทนลิงกังได้


ลุงเสน่ห์ เล่าย้อนอดีตถึงอาชีพใช้ลิงกังขึ้นมะพร้าว ว่า ตลอดกว่า 20 ปี ตนกับลิงกังคู่ชีวิตมีความรักความผูกพันกันมากยิ่งกว่าลูกเสียอีก เวลาพาลิงกังตระเวนไปขึ้นมะพร้าวตามสวนต่างๆ วันละ 100-300 ลูก ค่าจ้างลูกละ 1.50 บาท ทำงานเช้า-บ่าย ก็กลับบ้านพักผ่อนทั้งคนทั้งลิงกัง เลี้ยงดูให้กินอยู่อย่างดี หลังตกเป็นข่าวฝรั่งกล่าวหาใช้ลิงกังขึ้นมะพร้าวเป็นการทารุณกรรมสัตว์ มีนักข่าวทั้งไทยและต่างประเทศสนใจมาศึกษาเยี่ยมชมคนกับลิงกังขึ้นมะพร้าวจำนวนมาก ทุกคนก็เข้าใจดีว่าเป็นภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของคนและสัตว์ที่มีความเป็นอยู่ผูกพันกันมานานแต่โบราณ

“ตอนนี้เจ้าของสวนมะพร้าวยังว่าจ้างไปขึ้นมะพร้าวตามปกติ พ่อค้าก็ยังรับซื้อเหมือนเดิม ยังไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด แต่ก็อยากให้หน่วยงานรัฐเร่งทำความเข้าใจกับต่างชาติให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยให้เจ้าของลิงกังกับชาวสวนมะพร้าวออกมาชี้แจงฝ่ายเดียว” ประธานชมรมผู้เลี้ยงลิงกังขึ้นมะพร้าว จ.ชุมพร กล่าว


ขณะที่ นายพรชัย สิทธิเกษตร เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส หัวหน้าสายตรวจคุ้มครองสัตว์ป่าประจำ จ.ชุมพร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า หลังจากมีการออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทสัตว์ป่าสงวนคุ้มครอง เมื่อปี 2546 ให้ลิงกังเป็นสัตว์สงวนสัตว์คุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 พร้อมกับประกาศให้ผู้ที่เลี้ยงลิงกังไว้ในความครอบครองอยู่ก่อนแล้วมาแจ้งขึ้นทะเบียนการครอบครองสัตว์ป่าตามที่กฎหมายบังคับใช้ดังกล่าวภายใน 180 วัน โดยลิงกังที่เจ้าของนำมาขึ้นทะเบียนแต่ละตัวจะมีการฝังไมโครชิปเลขประจำตัว เพื่อการตรวจสอบหากมีการนำสัตว์ป่ามาสวมสิทธิ

“จังหวัดชุมพรมีชาวบ้านขึ้นทะเบียนการครอบครองลิงกังก่อนที่กฎหมายจะประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ประมาณ 3 พันตัว รวมทั้งลูกลิงกังเกิดใหม่จากพ่อแม่พันธุ์ด้วย มีการออกตรวจสอบผู้ที่ขึ้นทะเบียนลิงกังอยู่ตลอดเวลา จึงไม่มีการจับลิงกังจากป่ามาเลี้ยงให้ขึ้นมะพร้าวอย่างแน่นอน คนเลี้ยงลิงกังจะมีความรักความผูกพันเหมือนสมาชิกในครอบครัวเดียวกันอยู่แล้ว แต่อาจจะมีบ้างกับเจ้าของคนเลี้ยงลิงกังที่จิตใจขี้โมโหทุบตีลิงกังบ้างแต่ก็ถือว่าน้อยมาก ส่วนใหญ่ผู้ประกอบอาชีพนี้จะเลี้ยงดูปฏิบัติต่อสัตว์อย่างเป็นธรรมอยู่แล้ว จึงใช่เป็นการทารุณกรรมสัตว์ตามที่ฝรั่งต่างชาติกล่าวหาแต่อย่างใด” นายพรชัย กล่าว


หากมองย้อนไปในอดีตประเทศที่เจริญแล้วอย่างอังกฤษและหลายประเทศในยุโรปได้สร้างปัญหาไปทั่วโลกทั้งการใช้กำลังอาวุธที่เหนือกว่าล่าอาณานิคมยึดประเทศที่อ่อนแอกว่าเป็นเมืองขึ้นเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ มายุคปัจจุบันประเทศเหล่านั้นใช้ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเป็นเครื่องมือกดดันต่อรองเอาผลประโยชน์กับประเทศเล็กๆ มาโดยตลอด อดีตเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ยังเหมือนเดิมแค่เปลี่ยนวิธีการเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น