ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ศอ.บต.จัด 2 เวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” จัดเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนนับพันนายคุมเข้ม ปิดถนนห้ามกลุ่มค้านเข้าพื้นที่ ด้านกลุ่มหนุนร่วมเวทีชูป้ายสนับสนุนโครงการ
วันนี้ (11 ก.ค.) ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดเวทีรับฟังความเห็นโครงการเมืองต้นแบบ 4 "จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" พร้อมกัน 2 เวที คือ ที่โรงเรียนจะนะวิทยา และที่สนาม อบต.ตลิ่งชัน โดยเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เวลา 09.30 น โดยทั้ง 2 เวทีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเฉพาะที่โรงเรียนจะนะวิทยา ได้มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนนับพันนายทั้งชายและหญิง มาตรึงกำลังอยู่บริเวณทางเข้า เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าฝ่ายที่คัดค้าน ทั้งเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และเอ็นจีโอจะรวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อล้มเวที นอกจากนี้ ยังมีการปิดเส้นทางทั้งขึ้นและขาล่องสงขลา-ปัตตานี บริเวณหน้าโรงเรียนจะนะวิทยาทั้งสองฝั่งชั่วคราวระยะทางราว 9 กิโลเมตร
ในขณะที่ชาวบ้านจาก 3 ตำบลใน อ.จะนะ จ.สงขลา ได้แก่ นาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตั้งโครงการราว 1,500 คน ได้เดินทางมาเข้าร่วมเวทีพร้อมถือป้ายสนับสนุนโครงการ และมีการคัดกรองเข้มเปิดให้เฉพาะชาวบ้านที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ทั้ง 3 ตำบลเข้ารับฟังเท่านั้น
ทั้งนี้ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กระบุว่า กลุ่มชาวบ้านที่สนับสนุนโครงการ เจ้าหน้าที่จะให้เข้ามาได้ โดยมีรถมาส่งถึงหน้าโรงเรียน ส่วนกลุ่มค้านจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้า โดย นพ.สุภัทร ระบุว่า “เพื่อให้เวทีรับฟังความคิดเห็นวันนี้เป็นพิธีกรรมตามแผนให้มากที่สุด คือยกมือหนุนกันถ้วนทั่ว เพื่อถ่ายรูปส่งเป็นหลักฐาน”
เมื่อกลุ่มคัดค้านเข้าไปในเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่ได้ ดังนั้น ในเวลาประมาณ 10.20 น. กลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้เดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณวงเวียนกรงนกเขา อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต พร้อมกับอ่านแถลงการณ์ยืนยันให้ยกเลิก “จะนะเมืองอุตสาหกรรมฯ” เนื่องจากมีความไม่ชอบธรรม ทั้งการอนุมัติโครงการก่อนมารับฟังความคิดเห็นของประชาชน เอื้อประโยชน์ให้นายทุน และสร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล
อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง
๐ ชวนประชาชนร่วมค้าน! “จะนะรักษ์ถิ่น” ยันให้ยกเลิกเมืองอุตสาหกรรมฯ เอื้อนายทุน-ทำลายสิ่งแวดล้อม