.
โดย...ศูนย์ข่าวภาคใต้
.
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ควรให้ “คนรุ่นใหม่” เป็นคนกำหนดอนาคตของพวกเขาเอง?!
สิ่งนี้น่าจะเป็นคำถามที่ผู้คนแต่ละรุ่นเฝ้าถามมาตลอดหลายสิบปี ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ ที่มีหลายเรื่องถาโถมเข้ามาท้าทายความคิดของผู้คน ทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า
“ไครียะห์ ระหมันยะ” หรือ “ย๊ะ” ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ สาวน้อยวัย 17 ปี แห่งบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ก็เป็นอีกหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับคนรุ่นปู่ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่พวกเขาจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของตัวเอง บนแผ่นดินบ้านเกิด ที่อยู่อาศัยสืบต่อกันมาหลายต่อหลายรุ่น และน่าจะมีลูกหลานของเธอได้อยู่ต่อไปอย่างมีความสุข แต่วันนี้อาจจะไม่เป็นไปตามนั้น
นั่นก็เนื่องมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีหัวหน้าคณะทั้งสองเป็นคนเดียวกันคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ก้าวขึ้นสู่สองตำแหน่งนี้จากการเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร อนุมัติทิ้งทวนเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะมีรัฐบาลบิ๊กตู่ 2 ที่ลอกคราบจากทอปบู๊ตมาสวมสูทว่าได้มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2562 ให้มีโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้พิจารณาและเห็นชอบในหลักการมาแล้วตั้งแต่ 21 ก.พ.2562
จากนั้น เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2563 ครม.ชุดต่อมาที่มีนายกรัฐมนตรีคนเดิมคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติในหลักการของแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ วงเงิน 18,680 ล้านบาท ในพื้นที่ ต.นาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา เนื้อที่ราว 16,753 ไร่ ที่จะมีทั้งโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ทั้งนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 โรงไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ จำนวน 4 โรง เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า และพื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย
นับเป็นการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ โดยที่ไม่ผ่านการทำรายงานผลกระทบต่อสิ่้งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA แล้วมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกันภายหลัง
“ไครียะห์ ระหมันยะ” ซึ่งมีบ้านอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 จึงลุกขึ้นมาตั้งคำถาม และประกาศคัดค้านโครงการนี้ ชื่อของเธอปรากฏต่อสายตาผู้คนภายนอกครั้งแรก เมื่อครั้งที่ไครียะห์ประกาศปักหลักนอนค้างคืนอยู่หน้าศาลากลาง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2563 เพื่อรอฟังคำตอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากได้ยื่นหนังสือขอให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 14-20 พ.ค. ในพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากอยู่ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และช่วงเดือนรอมฎอนถือศีลอด
จากนั้น 1 ก.ค.2563 ไครียะห์ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้ยกเลิกมติ ครม.ดังกล่าวแล้ว และยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่รัฐสภา เรียกร้องหยุดเปลี่ยนผังเมือง อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นสีม่วง ขอให้มีการยกเลิกมติ ครม. เปลี่ยนจะนะเป็นเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรม
รวมทั้งได้สร้างแคมเปญรณรงค์ในเว็บ change.org เพื่อขอเสียงสนับสนุนให้ยกเลิกมติ ครม.วันที่ 7 พ.ค.2562 และวันที่ 21 ม.ค.2563
ล่าสุด 9 ก.ค. ชาวบ้านกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น นำโดย “ไครียะห์ ระหมันยะ” เข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย ร้องขอให้มีการยกเลิกมติ ครม. เปลี่ยนจะนะเป็นเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรม
ระหว่างการเดินทางในเส้นทางนี้ “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ” ได้เขียนจดหมายถึง “เกรตา ทุนเบิร์ก” เด็กสาววัย 17 ปี นักเคลื่อนไหวชาวสวีเดน ด้านสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน
“ไครียะห์” เริ่มต้นจดหมายของเธอว่า ได้ติดตามสิ่งที่ “เกรตา ทุนเบิร์ก” ทำมาในฐานะผู้เคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนที่มีอายุน้อย แต่ทรงพลัง ซึ่งเธอบอกว่า เธอสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่น ความกล้าหาญ และความอดทน
“นี่คือความยิ่งใหญ่ที่ฉันชื่นชมคุณด้วยหัวใจ”
ในจดหมายดังกล่าว “ไครียะห์” ยังได้เล่าถึงหมู่บ้านของเธอว่า เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ชื่อบ้านสวนกง ใน ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา พ่อแม่ของเธอและคนส่วนใหญ่ที่นี่เป็นชาวประมงพื้นบ้าน จับสัตว์น้ำอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
“บ้านของฉันใน อ.จะนะ มีลำคลอง 2 สายที่ไหลลงสู่ทะเล มีระบบนิเวศโดยรวมที่อุดมสมบูรณ์ มีอากาศที่บริสุทธิ์มาก จับสัตว์น้ำได้ง่ายหลากหลายชนิด ถูกนำไปจำหน่ายที่ตลาดในตัวเมือง และจำนวนหนึ่งส่งออกต่างประเทศ ทะเลบ้านฉันจึงเป็นแหล่งผลิตอาหารให้แก่คนจำนวนมาก เป็นเสมือนครัวของอาเซียน และที่ อ.จะนะ ยังมีการเลี้ยงนกเขาชวากันมากจนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง”
“มาวันนี้ บ้านของฉันกำลังกลายเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้ชายฝั่งทะเลเกือบ 2 หมื่นไร่ รองรับโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 200 โรง รวมถึงอุตสาหกรรมหนักอย่างปิโตรเคมี ซึ่งการก่อสร้างจะต้องตัดต้นไม้จำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อน้ำและระบบนิเวศในวงกว้าง”
“ฉันเดินทางจากบ้านเข้ากรุงเทพฯ เป็นระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร เพื่อมายื่นหนังสือถึงผู้นำประเทศอย่างไร้ความหวังและไม่รู้ชะตากรรมในอนาคต ในขณะเดียวกัน เพื่อนๆ ของฉันกำลังเดินทางไปเรียนหนังสือหลังจากที่โรงเรียนปิดมากว่า 3 เดือน ทำให้ฉันคิดถึงความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของคุณ ที่เคยเลือกขาดเรียนเพื่อปกป้องโลกใบนี้ไว้”
“สิ่งนี้ได้ทำให้พลังใจของฉันฟื้นคืนอีกครั้ง ฉันจึงอยากบอกเล่าความคิด ความรู้สึก และเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้คุณได้รับรู้ ด้วยหวังว่าพลังระหว่างเราทั้งสองคนจะเชื่อมโยงถึงกันได้ ซึ่งฉันจะนำไปใช้เพื่อการปกป้องบ้านเกิดและชุมชนของฉัน ซึ่งหมายถึงการได้ปกป้องโลกใบนี้ร่วมกันด้วย”
“สิ่งที่คุณทำได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ฉัน ทำให้ฉันมั่นใจในสิ่งที่ฉันกำลังทำอยู่ ขอบคุณนะ...เกรตา”
ที่ผ่านมา ผู้ใหญ่อย่าง พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เคยฟังเสียง “ไครียะห์” คนรุ่นใหม่คนนี้มาแล้ว เมื่อครั้งตั้งคำถามและขอให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 14-20 พ.ค. ในพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรม โดย พล.ร.ต.สมเกียรติได้สั่งให้เลื่อนการจัดเวทีออกไปก่อน
ผู้ใหญ่อีกหลายคนเมื่อได้ฟังเสียงของ "ไครียะห์" ต่างพากันออกมาสนับสนุนเธอ หลายคนออกมาขอให้รัฐบาลยกเลิกโครงการดังกล่าว
แล้วผู้ใหญ่คนอื่นๆ จะหันมารับฟัง “ไครียะห์ ระหมันยะ” ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ สาวน้อยวัย 17 ปี แห่งบ้านสวนกง คนนี้หรือไม่ เหมือนดังเช่นคนทั้งโลกหันไปฟัง “เกรตา ทุนเบิร์ก” จนเกิดกระแสเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
ถึงเวลาแล้วใช่ไหมที่ “คนรุ่นใหม่” จะเป็นผู้กำหนดอนาคตของพวกเขาเอง!
โดย...ศูนย์ข่าวภาคใต้
.
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ควรให้ “คนรุ่นใหม่” เป็นคนกำหนดอนาคตของพวกเขาเอง?!
สิ่งนี้น่าจะเป็นคำถามที่ผู้คนแต่ละรุ่นเฝ้าถามมาตลอดหลายสิบปี ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ ที่มีหลายเรื่องถาโถมเข้ามาท้าทายความคิดของผู้คน ทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า
“ไครียะห์ ระหมันยะ” หรือ “ย๊ะ” ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ สาวน้อยวัย 17 ปี แห่งบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ก็เป็นอีกหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับคนรุ่นปู่ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่พวกเขาจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของตัวเอง บนแผ่นดินบ้านเกิด ที่อยู่อาศัยสืบต่อกันมาหลายต่อหลายรุ่น และน่าจะมีลูกหลานของเธอได้อยู่ต่อไปอย่างมีความสุข แต่วันนี้อาจจะไม่เป็นไปตามนั้น
นั่นก็เนื่องมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีหัวหน้าคณะทั้งสองเป็นคนเดียวกันคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ก้าวขึ้นสู่สองตำแหน่งนี้จากการเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร อนุมัติทิ้งทวนเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะมีรัฐบาลบิ๊กตู่ 2 ที่ลอกคราบจากทอปบู๊ตมาสวมสูทว่าได้มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2562 ให้มีโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้พิจารณาและเห็นชอบในหลักการมาแล้วตั้งแต่ 21 ก.พ.2562
จากนั้น เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2563 ครม.ชุดต่อมาที่มีนายกรัฐมนตรีคนเดิมคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติในหลักการของแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ วงเงิน 18,680 ล้านบาท ในพื้นที่ ต.นาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา เนื้อที่ราว 16,753 ไร่ ที่จะมีทั้งโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ทั้งนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 โรงไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ จำนวน 4 โรง เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า และพื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย
นับเป็นการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ โดยที่ไม่ผ่านการทำรายงานผลกระทบต่อสิ่้งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA แล้วมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกันภายหลัง
“ไครียะห์ ระหมันยะ” ซึ่งมีบ้านอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 จึงลุกขึ้นมาตั้งคำถาม และประกาศคัดค้านโครงการนี้ ชื่อของเธอปรากฏต่อสายตาผู้คนภายนอกครั้งแรก เมื่อครั้งที่ไครียะห์ประกาศปักหลักนอนค้างคืนอยู่หน้าศาลากลาง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2563 เพื่อรอฟังคำตอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากได้ยื่นหนังสือขอให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 14-20 พ.ค. ในพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากอยู่ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และช่วงเดือนรอมฎอนถือศีลอด
จากนั้น 1 ก.ค.2563 ไครียะห์ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้ยกเลิกมติ ครม.ดังกล่าวแล้ว และยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่รัฐสภา เรียกร้องหยุดเปลี่ยนผังเมือง อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นสีม่วง ขอให้มีการยกเลิกมติ ครม. เปลี่ยนจะนะเป็นเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรม
รวมทั้งได้สร้างแคมเปญรณรงค์ในเว็บ change.org เพื่อขอเสียงสนับสนุนให้ยกเลิกมติ ครม.วันที่ 7 พ.ค.2562 และวันที่ 21 ม.ค.2563
ล่าสุด 9 ก.ค. ชาวบ้านกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น นำโดย “ไครียะห์ ระหมันยะ” เข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย ร้องขอให้มีการยกเลิกมติ ครม. เปลี่ยนจะนะเป็นเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรม
ระหว่างการเดินทางในเส้นทางนี้ “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ” ได้เขียนจดหมายถึง “เกรตา ทุนเบิร์ก” เด็กสาววัย 17 ปี นักเคลื่อนไหวชาวสวีเดน ด้านสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน
“ไครียะห์” เริ่มต้นจดหมายของเธอว่า ได้ติดตามสิ่งที่ “เกรตา ทุนเบิร์ก” ทำมาในฐานะผู้เคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนที่มีอายุน้อย แต่ทรงพลัง ซึ่งเธอบอกว่า เธอสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่น ความกล้าหาญ และความอดทน
“นี่คือความยิ่งใหญ่ที่ฉันชื่นชมคุณด้วยหัวใจ”
ในจดหมายดังกล่าว “ไครียะห์” ยังได้เล่าถึงหมู่บ้านของเธอว่า เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ชื่อบ้านสวนกง ใน ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา พ่อแม่ของเธอและคนส่วนใหญ่ที่นี่เป็นชาวประมงพื้นบ้าน จับสัตว์น้ำอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
“บ้านของฉันใน อ.จะนะ มีลำคลอง 2 สายที่ไหลลงสู่ทะเล มีระบบนิเวศโดยรวมที่อุดมสมบูรณ์ มีอากาศที่บริสุทธิ์มาก จับสัตว์น้ำได้ง่ายหลากหลายชนิด ถูกนำไปจำหน่ายที่ตลาดในตัวเมือง และจำนวนหนึ่งส่งออกต่างประเทศ ทะเลบ้านฉันจึงเป็นแหล่งผลิตอาหารให้แก่คนจำนวนมาก เป็นเสมือนครัวของอาเซียน และที่ อ.จะนะ ยังมีการเลี้ยงนกเขาชวากันมากจนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง”
“มาวันนี้ บ้านของฉันกำลังกลายเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้ชายฝั่งทะเลเกือบ 2 หมื่นไร่ รองรับโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 200 โรง รวมถึงอุตสาหกรรมหนักอย่างปิโตรเคมี ซึ่งการก่อสร้างจะต้องตัดต้นไม้จำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อน้ำและระบบนิเวศในวงกว้าง”
“ฉันเดินทางจากบ้านเข้ากรุงเทพฯ เป็นระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร เพื่อมายื่นหนังสือถึงผู้นำประเทศอย่างไร้ความหวังและไม่รู้ชะตากรรมในอนาคต ในขณะเดียวกัน เพื่อนๆ ของฉันกำลังเดินทางไปเรียนหนังสือหลังจากที่โรงเรียนปิดมากว่า 3 เดือน ทำให้ฉันคิดถึงความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของคุณ ที่เคยเลือกขาดเรียนเพื่อปกป้องโลกใบนี้ไว้”
“สิ่งนี้ได้ทำให้พลังใจของฉันฟื้นคืนอีกครั้ง ฉันจึงอยากบอกเล่าความคิด ความรู้สึก และเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้คุณได้รับรู้ ด้วยหวังว่าพลังระหว่างเราทั้งสองคนจะเชื่อมโยงถึงกันได้ ซึ่งฉันจะนำไปใช้เพื่อการปกป้องบ้านเกิดและชุมชนของฉัน ซึ่งหมายถึงการได้ปกป้องโลกใบนี้ร่วมกันด้วย”
“สิ่งที่คุณทำได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ฉัน ทำให้ฉันมั่นใจในสิ่งที่ฉันกำลังทำอยู่ ขอบคุณนะ...เกรตา”
ที่ผ่านมา ผู้ใหญ่อย่าง พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เคยฟังเสียง “ไครียะห์” คนรุ่นใหม่คนนี้มาแล้ว เมื่อครั้งตั้งคำถามและขอให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 14-20 พ.ค. ในพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรม โดย พล.ร.ต.สมเกียรติได้สั่งให้เลื่อนการจัดเวทีออกไปก่อน
ผู้ใหญ่อีกหลายคนเมื่อได้ฟังเสียงของ "ไครียะห์" ต่างพากันออกมาสนับสนุนเธอ หลายคนออกมาขอให้รัฐบาลยกเลิกโครงการดังกล่าว
แล้วผู้ใหญ่คนอื่นๆ จะหันมารับฟัง “ไครียะห์ ระหมันยะ” ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ สาวน้อยวัย 17 ปี แห่งบ้านสวนกง คนนี้หรือไม่ เหมือนดังเช่นคนทั้งโลกหันไปฟัง “เกรตา ทุนเบิร์ก” จนเกิดกระแสเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
ถึงเวลาแล้วใช่ไหมที่ “คนรุ่นใหม่” จะเป็นผู้กำหนดอนาคตของพวกเขาเอง!