xs
xsm
sm
md
lg

สงครามแบ่งแยกดินแดน สงครามศาสนา สงครามการพัฒนา ล้วนเข้าทาง “บีอาร์เอ็น”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ / โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก



ยังน่าเป็นห่วงสำหรับสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าวันนี้เสียงปืนและเสียงระเบิดจะเบาบางลง เพราะ ขบวนการบีอาร์เอ็น ไม่ปฏิบัติการ “เอาคืน” กับการที่ “แนวร่วม” ถูกจับกุมและถูกวิสามัญจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยได้เปลี่ยนยุทธวิธีการต่อสู้ไปให้น้ำหนักด้าน “การเมือง” ทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของ แกนนำรุ่นใหม่ ที่เชื่อมโยงกับ เอ็นจีโอต่างชาติ

แต่ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้หยุดอยู่แค่การก่อการร้ายเท่านั้น เพราะมีปัญหาที่แทรกซ้อนที่เชื่อมโยงกับเรื่องของความมั่นคงอยู่ตลอดเวลา ชนิดที่ปัญหาเก่ายังไม่จบ ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้น เหมือนกับ “ไฟกองเก่า” ที่ยังดับไม่ได้ ก็มี “ไฟกองใหม่” เกิดขึ้นตามมา สุดท้ายไฟกองเก่าก็ไม่ดับ ไฟกองใหม่ก็ถูกจุดขึ้นอีกหลายๆ กอง กลายเป็น “ไฟสุมขอน” ไปเรื่อยๆ

เช่นวันนี้การก่อการร้ายที่มีบีอาร์เอ็นเป็นผู้ควบคุมยังไม่มีช่องทางว่าจะยุติ ก็กลับมีเหตุที่เกิดจาก องค์กรชาวพุทธ หลายๆ องค์กรที่เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนา ต่อต้านการขยายพื้นที่ของศาสนาอิสลาม ต่อต้านการสร้างศาสนสถานของศาสนาอิสลาม และ พ.ร.บ.ต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องศาสนาและ “ฮาลาล” รวมทั้งการเดินสายเพื่อเปิดโปงขบวนการบีอาร์เอ็นต่อชาวพุทธทุกภาค

ก็เห็นด้วยกับการเดินสายเปิดโปงแผนการของบีอาร์เอ็น ซึ่งต้องการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้แก่คนไทยทั้งชาติได้รับรู้ เพราะถ้าไม่ทำอย่างนี้ โดยรอให้รัฐบาลหรือหน่วยงานความมั่นคงออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกรัฐบาลต่างเข้าใจว่าการบอกข้อเท็จจริงถึงความเป็นมาของขบวนการบีอาร์เอ็น ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ของประเทศไทย จะเป็นการ “ยกระดับ” องค์กรลับนี้

โดยถือเป็นการให้ความสำคัญกับบีอาร์เอ็นมากเกินไป เพราะเดี๋ยวจะนำไปสู่ความเป็นองค์กรก่อการร้ายสากล และเข้าไปมีบทบาทในเวทีสหประชาชาติได้ในที่สุด ทั้งที่วันนี้บีอาร์เอ็นมีทั้งตัวแทน มีทั้งพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาอยู่ในสหประชาชาติแล้ว อย่างหน่วยงาน คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ไอซีอาร์ซี) และ เจนีวาคอลล์

แต่การขับเคลื่อนในการร้องเรียนหรือฟ้องร้องต่อรัฐขององค์กรชาวไทยพุทธให้ตรวจสอบ “พ.ร.บ.ฮัจญ์” ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญก็ดี ในเรื่อง “พ.ร.บ.ฮาลาล” ก็ดี และรวมถึงการคัดค้านมิให้มีการก่อสร้างศาสนสถาน ล้วนเป็นหนทางที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางศาสนาทั้งสิ้น

สังเกตได้ว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีเหตุกระทบกระทั่งระหว่างองค์กรศาสนาพุทธกับอิสลามหลายกรณี แม้แต่ในสภาผู้แทนก็มี ส.ส.สงขลา ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีถึงเรื่องความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าว ล่าสุดหัวหน้าพรรคประชาชาติ นายวันมูหะมัด นอร์ มะทา ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้นำองค์กรไทยพุทธองค์กรหนึ่งที่ไปกล่าวหาโดยปราศจากหลักฐานว่า เขาเป็นหัวหน้าขบวนการบีอาร์เอ็น

จริงอยู่ที่ในส่วนของ หัวหน้าพรรคประชาชาติ ไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าฟ้องเพื่อปกป้องชื่อเสียง เกียรติภูมิ วงศ์ตระกูลของเขาเอง เพื่อมิให้สังคมเข้าใจผิด แต่กับคนในพื้นที่ทั้งพุทธและมุสลิมอาจจะไม่ได้คิดเช่นนั้น และอาจจะทำให้เกิดการ “ร้าวลึก” และ “ร้าวฉาน” ที่นำไปสู่ความแตกแยกที่ยิ่งขยายให้มากยิ่งขึ้น

นี่คือ “ไฟกองใหม่” ที่ถูกจุดขึ้นแล้วและกำลังลุกลามเผาบ้านเผาเมืองอีกกองหนึ่ง แน่นอนองค์กรปกป้องศาสนาพุทธ หรือองค์กรพิทักษ์ชาวไทยพุทธในชื่อต่างๆ ก็ไม่ผิด และมีสิทธิที่จะปกป้องชาวไทยและพุทธศาสนาได้ แต่ผู้ที่ผิดคือ รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงที่ปล่อยให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ปล่อยให้มีการ “จุดไฟความขัดแย้งทางศาสนา” ขึ้นโดยที่ทำได้เพียงยืนดูไฟลามทุ่งและไม่มีท่าทีในการที่จะช่วยดับไฟ

ทั้งที่รู้ว่าไฟกองนี้เข้าทางของขบวนการบีอาร์เอ็นและ “ฝรั่งหัวแดง” ที่ต้องการเห็นปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งทางศาสนา วันนี้บีอาร์เอ็นจึงไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ แต่สามารถที่จะจุดไฟความขัดแย้งทางศาสนาให้เกิดขึ้นได้ และหากรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงยังไม่กุลีกุจอดับไฟกองนี้ นี่อาจจะช่วยโหมไฟใต้สู่การแบ่งแยกดินแดนให้สำเร็จก็เป็นได้

และยังมีไฟอีกกองที่ถูกก่อขึ้นคือ “ไฟจากแผนพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่กำลังโชนเปลวอยู่ด้วยคือ การผลักดันให้เอกชนทำ “โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งได้กลายเป็นความขัดแย้งหนักในเวลานี้ระหว่างงานรัฐที่มี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นหัวหอกผลักดัน กับกลุ่มประชาชนที่ลุกขึ้นคัดค้านที่มี “เอ็นจีโอ” เป็นกลจักรสำคัญ

แน่นอนเมื่อ “ตาอิน” กับ “ตานา” ทะเลาะเบาะแว้งกัน ผู้ที่ได้ประโยชน์คือ “ตาอยู่” ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหนอีก กล่าวคือ บีอาร์เอ็น กับ รัฐบาลมาเลเซีย เนื่องจากบีอาร์เอ็นกลัวการพัฒนาในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย เพราะตามกรอบคิดเก่าๆ การพัฒนาจะทำให้ปัญหาความยากจนหรือปัญหาการว่างงานถูกแก้ไข ทำให้คนในพื้นที่ฉลาด มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนถือว่าเป็น “ศัตรู” ของเขา

ดังนั้น ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านกลุ่มที่เห็นต่างต่อ “เมืองต้นแบบที่ 4” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงอาจจะกลายเป็น “เหยื่อ” ของบีอาร์เอ็น เป็นกองไฟกองใหม่ที่จะถูกนำไปขยายผลถึงความขัดแย้ง และอาจจะถึงขึ้นร่วมวงคัดค้านด้วย

จากการติดตามข้อมูลของทั้งกลุ่มคัดค้านและ ศอ.บต.ในเรื่องของความคิดเห็นที่แย้งกัน ก็จะเห็นร่องรอยของประเด็นใหญ่ๆ อยู่ 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรกกลุ่มคัดค้านเห็นว่าการนำพื้นที่ อ.จะนะ ไปสร้างเป็นเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ไม่ใช่แนวทางของการพัฒนาที่ถูกต้อง และมองว่าเป็นการทำลาย มากกว่าการสร้างความเจริญ

ประเด็นที่ 2 มองว่าทำไม ศอ.บต.ต้องลงมา “ลุยไถ” ด้วยตัวเอง ทั้งที่โครงการทั้งหมดเป็นของ “กลุ่มทุน” เพียง 2 กลุ่มคือ “ทีพีไอ” กับ “ไออาร์พีซี” รวมทั้งมองว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ ศอ.บต.เดินหน้าทำมาไม่ถูกต้อง หรือเป็นเพียง “พิธีกรรม” มากกว่าการให้คนในพื้นที่เข้าถึงข้อมูล

ในส่วนของ ศอ.บต.ได้ชี้นำในประเด็นเรื่องการพัฒนาที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือมากกว่านั้น ซึ่งจะได้ประโยชน์จากแผนปั้นเมืองต้นแบบที่ 4 ทั้งประโยชน์ที่ตกกับประชาชนและที่ตกกับประเทศชาติ

เช่นเราจะฝากอนาคตของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้กับการเกษตรเพียงอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว จะฝากไว้กับการท่องเที่ยวก็ไม่ได้ ถ้าไม่มีการสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แรงงานที่ไม่มีงานทำจะไปอยู่ตรงไหน นักศึกษาที่จบออกมาปีละ 75,000 คนจะไปทำอะไร การเกิดขึ้นของเมืองต้นแบบที่ 4 จะเป็น “ห่วงโซ่” ในการเชื่อมต่อให้เกิดอุตสาหกรรมและการลงทุนอื่นๆ ทั้งที่เป็นของ “กลุ่มทุน” และของชาวบ้านในพื้นที่ตามมา

และมีการยืนยันโดยกลุ่มทุนว่า แผนปั้นเมืองต้นแบบที่ 4 แห่งนี้จะไม่มี “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” แม้แต่โรงไฟฟ้าก็เป็นพลังงานสะอาดที่ไม่มีมลพิษเกิดขึ้น และที่สำคัญวันนี้ยังอยู่ในกระบวนการให้ประชนรับรู้ โดยรับฟังความคิดเห็น และยังมีกระบวนการอีกยาวนานในการที่จะบอกว่า “สร้าง” หรือ “ไม่สร้าง” เพราะทุกอย่างอยู่ที่ความต้องการหรือไม่ต้องการของประชาชน

ที่สำคัญอาชีพประมง อาชีพเกษตรที่เป็นอาชีพดั้งเดิมของคนในพื้นที่ก็ไม่ได้ล้มหายตายจาก เพราะขณะนี้ได้มีการเตรียมก่อสร้างท่าเทียบเรือประมงชายฝั่ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบอาชีพประมง และการรวมกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อเพิ่มมูลค่าในกลุ่มของแม่บ้าน

นั่นคือเหรียญ 2 ด้าน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายหยิบยกขึ้นมาให้คนทั้งประเทศได้เห็นและได้ฟัง ซึ่งวันนี้ยังไม่มีใครผิดหรือใครถูก โดยอาจจะเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ทางออกที่ดีที่ไม่ต้องกลายเป็น “เหยื่อ” ทั้งของบีอาร์เอ็นและมาเลเซียคือ การหาทางออกร่วมกัน เลิกการใช้วาทกรรม เลิกการปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังและให้มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเพื่อการเอาชนะ โดยใช้ “ประชาชน” เป็น “ตัวประกัน”

ไฟใต้ ที่เกิดจากก่อการร้ายอาจจะต้องใช้อาวุธและกำลังในการเข้าห้ำหั่นกัน ไฟขัดแย้งเรื่องศาสนา อาจต้องใช้กฎหมายหยุดยั้งได้ แต่ ไฟขัดแย้งจากการพัฒนา ต้องแก้ไขด้วย “ปัญญา” ด้วยการ “ทำความเข้าใจ” และ “เคารพเหตุผล” ซึ่งกันและกันเท่านั้น

ที่สำคัญเอ็นจีโอต้องเปิดใจกว้างเพื่อเปิดโอกาสให้คนที่เห็นด้วยได้มีพื้นที่แสดงความเห็น โดยไม่ไปปิดกั้นด้วยวิธีการ “ล้มเวที” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการกล่าวหากลุ่มคนที่เห็นด้วยกับโครงการว่า “ถูกหลอก” และ “รับเงิน” เป็นการกล่าวว่าที่ “ดูถูก” คนในพื้นที่ด้วย และเป็นการแบ่งชนชั้นที่ทำให้เห็นว่า คนที่เห็นต่างและเชื่อเอ็นจีโอคือคนคนฉลาด ส่วนคนที่เชื่อฝ่ายรัฐคือคนโง่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

ดังนั้น ในเวทีเพื่อสร้างความรับรู้ให้แก่คนในพื้นที่เกี่ยวกับรายละเอียดของเมืองต้นแบบที่ 4 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 ก.ค.2563 ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ฝ่ายที่เห็นต่างต้องไม่ใช้วิธีการเดิมๆ เพื่อปิดกั้นหรือล้มเวที เพราะถ้าทำเช่นนั้น เท่ากับว่ากลัวชาวบ้านจะรับรู้ข้อเท็จจริง จึงทำการปิดกั้นการรับรู้

และที่สำคัญคือ ถ้าใครพูดเรื่องไม่จริงหรือใครโกหกประชาชนมากเท่าไหร่ ย่อมเสียหายมากเท่านั้น และจะเป็นตัวชี้ขาดว่า ใครกันแน่ที่หลอกลวงประชาชน เพราะสังคมวันนี้ไม่มีใครโง่หรือใครฉลาดกว่าใคร ความรู้และข้อเท็จจริงหาได้จากปลายนิ้วของทุกคน

หมดยุคที่จะบอกว่า ใครโง่ ใครฉลาด และใครถูกหลอก ยกเว้นยอมที่จะให้หลอก แต่ที่แน่ๆ คือถ้าสถานการณ์ที่ อ.จะนะ บานปลาย ผู้ที่นั่งตีรำมะนาสบายใจเฉิบคือ ขบวนการบีอาร์เอ็นนั่นแหละ


กำลังโหลดความคิดเห็น