ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประมงพื้นบ้านกับผู้ประกอบการคอกหอยในพื้นที่อ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลายาวนาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยามยามในการแก้ปัญหามาโดยตลอด แต่ยังไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ จากความซับซ้อนของปัญหา อ่าวบ้านดอนเป็นขุมทรัพย์ที่มูลค่ามหาศาล แต่ละปีมีการเก็บลูกหอยแครงขายและเลี้ยงหอยแครงเป็นหมื่นล้าน ทำให้เป็นพื้นที่ที่ทุกฝ่ายต้องการ จึงเกิดการแย่งชิงพื้นที่เข้าครอบครอง ระหว่างประมงพื้นบ้าน กับกลุ่มนายทุน และผู้มีอิทธิพลในพื้นที่
ปัญหาปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อผู้มีอิทธิพลบุกรุกเข้ามาจับจองทำคอกหอยในพื้นที่ 1,000 เมตร ที่สงวนสิทธิไว้ให้ประมงพื้นบ้าน ทำให้ประมงพื้นบ้านไม่มีพื้นที่ทำกิน ชาวบ้านขยับเข้าไปเก็บหอยในคอกที่ผู้ประกอบการเลี้ยงไว้ หลังหน่วยงานราชการออกมาระบุว่า ลูกหอยที่เกิดจากธรรมชาติไม่มีเจ้าของใครก็สามารถเก็บได้ เท่านั้นเอง กลายเป็นปัญหาลุกลามบานปลายใหญ่โต ชาวบ้านรุกคืบเข้าไปเก็บหอยในคอกที่ผู้ประกอบการเลี้ยงไว้ วันละเป็นหมื่นคนๆ มาจากทั่วสารทิศ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นที่เจ้าของคอกหอยขับเจ็ตสกียิงปืนขู่ชาวบ้านที่ไปเก็บหอยในคอกที่เลี้ยงไว้ และล่าสุด เจ้าของคอกหอยขับเรือออกไปขอร้องชาวบ้านให้หยุดเก็บน้อยในคอกของตัวเอง จนเป็นลมเสียชีวิต และไม่มีทีท่าว่าปัญหาดังกล่าวจะจบลงง่ายๆ ยังคุกรุ่นระหว่างประมงพื้นบ้านกับเจ้าของคอกหาย ที่พร้อมจะปะทุได้ตลอดเวลา
การแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่อ่าวบ้านดอน ขุมทรัพย์หมื่นล้าน เริ่มเห็นภาพการเอาจริงเอาจังของหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น เมื่อจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ผนึกกำลังกับกองทัพภาค 4 ที่แม่ทัพน้อยที่ 4 ได้ลงมาแก้ปัญหาในพื้นที่ ทัพเรือภาคที่ 2 และศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ที่มีกองทัพเรือเป็นกลไกสำคัญ ทั้งในระดับพื้นที่ คือ ศรชล.ภาค 2 และ ศรชล.ส่วนกลาง เข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยผู้บัญชาการกองทัพเรือได้ลงมาในพื้นที่ด้วยตัวเอง
การแก้ปัญหาเริ่มเห็นแนวทางที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2563 ที่ผ่านมา พล.ร.ท.สำเริง จันทร์โส ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 2 (ศรชล.ภาค 2) ได้ประชุมร่วมกับ นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ทางทะเลจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าท่า ประมง ตำรวจน้ำ ผกก.สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี บูรณาการกฎหมายทั้งหมดร่วมกันแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ที่ประชุมมีมติให้รื้อสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำในพื้นที่อ่าวบ้านดอน (ขนำเฝ้าคอกหอย) ภายใน 2 เดือน โดยออกเป็นประกาศจังหวัดแจ้งให้ผู้บุกรุกรับทราบ พร้อมกำหนดระยะเวลาการรื้อถอนออกเป็น 3 ระยะ คือ 1.เริ่มตั้งแต่การสร้างความเข้าใจกับผู้บุกรุกให้รื้อถอนด้วยตัวเองตามประกาศจังหวัดให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน นับจากวันออกประกาศ 2.เมื่อครบกำหนดตามประกาศจังหวัดหากยังไม่รื้อถอนจะดำเนินคดีตามกฎหมาย และ 3.หากรัฐเข้าดำเนินการรื้อถอนตามคำสั่งศาล ผู้บุกรุกจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด โดยมีเป้าหมายที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2564 และจะไม่มีสิ่งปลูกสร้างและเหตุการณ์รุนแรงในทะเลอ่าวบ้านดอน ภายในเดือนมีนาคม 2565
จังหวัดสุราษฎร์ธานี ออกประกาศ เรื่อง ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอาคาร (ขนำเฝ้าหอยและโฮมสเตย์) หรือสิ่งใดๆ ที่ได้ก่อสร้างหรือติดตั้งในที่จับสัตว์น้ำบริเวณอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยอาศัยมาตรา 103 แห่งพระราชกำหนดประมง 2558 และแก้ไขเพิ่มเติม ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้สร้างหรือติดตั้งรื้อถอนสิ่งนั้นออกจากที่จับสัตว์น้ำในระยะเวลาที่กำหนด 60 วัน นับจากวันที่ออกประกาศลงวันที่ 12 มิถุนายน 2563 หากพ้นกำหนดวันเวลาดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดจะใช้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 103 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และแก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการรื้อถอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเคร่งครัดต่อไป
หลังจังหวัดสุราษฎร์ธานีออกประกาศดังกล่าว มีการเคลื่อนไหวจากเจ้าของคอกหอย จะออกมาอุทธรณ์ทางปกครองคำสั่งดังกล่าว โดยขอให้ทางจังหวัดพิจารณาขยายเวลาการรื้อถอนขนำเฝ้าคอกหอยออกไปอีก 1 ปี 6 เดือน นับจากเดือนพฤษภาคม 2563 เพื่อให้หอยแครงที่ได้ลงทุนคอกละหลายล้านบาทเก็บผลผลิตได้ก่อน เพราะเกรงว่าหากไม่มีขนำและคนที่เฝ้าหอยจะสร้างความเสียหายให้แก่หอยแครงที่เลี้ยงไว้ ทั้งจากภัยธรรมชาติและคนที่จะเข้าไปขโมยเก็บหอย
ในขณะที่เจ้าของคอกหอยบางรายที่ได้บุกรุกสร้างขนำเฝ้าคอกหอยในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต เริ่มออกมาเคลื่อนไหวตามคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้งในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอพุนพิน และอำเภอกาญจนดิษฐ์ ส่งคนเข้ารื้อขนำกันบ้างแล้ว เช่น ในพื้นที่ ต.ลีเล็ด อ.พุนพิน และ อ.กาญจนดิษฐ์ ซึ่งเป็นขนำของหุ้นส่วนกำนันคนดังในพื้นที่อำเภอกาญจนดิษฐ์ และอำเภอเมือง เป็นขนำของกำนันคนดังในพื้นที่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ส่วนขนำอื่นๆ ยังไม่มีการเคลื่อนไหวแต่อย่างใดในขณะนี้
ในขณะเดียวกัน ศูนย์รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ได้ส่งกำลังทหารเรือกว่า 100 นาย เข้าประจำการในอ่าวบ้านดอน เพื่อปฏิบัติการยึดคืนพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ อ่าวบ้านดอน ในพื้นที่อำเภอพุนพิน และอำเภอเมือง ที่กลุ่มผู้ประกอบการ และกลุ่มผู้มีอิทธิพลบุกรุกครอบครองปักไม้ไผ่พร้อมก่อสร้างขนำเฝ้าหอยกลางทะเล เพื่อนำพื้นที่กลับคืนมาให้ประชาชนใช้ร่วมกัน โดยร่วมกับกรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ออกปฏิบัติการตรวจยึดและดำเนินคดีต่อเจ้าของขนำกลางทะเล ในพื้นที่อำเภอเมือง ที่มีทั้งหมด 70 หลัง พื้นที่ตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน 90 หลัง เป็นระยะแรก ก่อนที่จะเข้าดำเนินการต่อในพื้นที่ อ.กาญจนดิษฐ์ อำเภอท่าฉาง อำเภอไชยา ที่ต้องรื้อออกทั้งหมดภายใน 60 วัน
พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลส่วนกลาง พร้อมคณะ ศรชล.ส่วนกลาง ได้เดินทางลงตรวจเยี่ยมกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยและแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะอ่าวบ้านดอน เพื่อสำรวจข้อเท็จจริงการบุกรุกพื้นที่สาธารณะอ่าวบ้านดอน ด้วยตัวเอง เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมกับเน้นย้ำให้ใช้กฎหมายและคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ประชาชนต้องใช้ประโยชน์ร่วมกัน และอยู่ร่วมกันได้
“ศรชล.มี 6 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย ตำรวจน้ำ เจ้าท่า ประมง ทช.ศุลกากร และทหารเรือ จะใช้กฎหมายที่มีอยู่เข้าจัดการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทอ่าวบ้านดอนให้ดีที่สุด ภายใต้ความร่วมมือที่ไม่ต้องกังวลว่า จะต้องเกรงใจหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง รวมถึงกลุ่มผู้มีอิทธิพลใดๆ เพราะเชื่อว่าไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายได้” ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวและย้ำว่า
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่มีผู้ประกอบการขับเจ็ตสกีออกมายิงปืนข่มขู่นับว่าเป็นเหตุที่รุนแรงมาก ทาง ศรชล.ส่วนกลางจึงต้องส่งชุดหน่วยซีลลงดูแลป้องกัน พร้อมย้ำว่า สถานการณ์อ่าวบ้านดอนจะกลับมาเป็นพื้นที่ประชาชนทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกันไม่มีใครมาจับจองหรือเป็นของผู้ใดอย่างเด็ดขาด ถึงแม้ปัญหาที่เกิดขึ้นจะสะสมมานานแล้ว แต่เมื่อ ศรชล.เกิดขึ้นทุกอย่างจะเรียบร้อย
โดยทาง ศรชล.ได้กำหนดแผนการยึดคืนพื้นที่อ่าวบ้านดอน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นมีการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดทั้งในส่วนของการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ การทำประมงผิดกฎหมาย จัดเจ้าหน้าที่ และยุทโธปกรณ์ลาดตระเวน เฝ้าตรวจเพื่อระวังป้องกันกำรกระทำผิดกฎหมาย และระวังป้องกันความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่ และแผนระยะยาว ระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำเป็นแนวทางการอนุรักษ์และแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างเท่าเทียมกันและอย่างยั่งยืน สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
หลังจากนี้ การรื้อถอนขนำเฝ้าคอกหอยในพื้นที่อ่าวบ้านดอน จะสำเร็จหรือไม่ คงต้องจับตามองกันต่อไปว่า ผู้ประกอบการจะรื้อถอนด้วยตัวเองตามประกาศจังหวัดภายใน 60 วัน หรือต้องอาศัยอำนาจศาลในการรื้อถอน ยึดคืนพื้นที่อ่าวบ้านดอนมาเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่อยู่ในมือผู้มีอิทธิพลเหมือนที่ผ่านมา