xs
xsm
sm
md
lg

ศึกหอยหมื่นล้าน! รองผู้ว่าฯ ด่าชาวบ้านหน้าด้าน-ไร้ศีลธรรม “เอ็นจีโอ” สวนพูดในฐานะประธานแก้ปัญหาหรือเจ้าของคอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



.

ศูนย์ข่าวภาคใต้ - รองผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานี ประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะอ่าวบ้านดอน วอนให้ชุมชนเป็นคนแก้ปัญหากันเอง ฉะนักวิชาการกลางเวทีราชภัฏสุราษฎร์ฯ อย่าเอาตำราฝรั่งมาใช้กับคนไทย ด่าประมงพื้นบ้านหน้าด้าน มีศีลธรรมกันไหม เข้าไปจับหอยแครงในคอกที่ผู้ประกอบการลงทุนซื้อ-เลี้ยงกว่าจะโต ด้าน “วรา จันทร์มณี” นักวิชาการอิสระ ไม่สบายใจคนระดับรองผู้ว่าฯ ใช้ท่าที-คำพูดคุกคาม รุนแรง ผรุสวาท “ประสิทธิ์ชัย หนูนวล” ตั้งคำถามถึงจุดยืนในการแก้ปัญหาอ่าวบ้านดอนของรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จี้คำพูด 9 จุดที่สงสัยจะแก้ปัญหาอย่างไร
.
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้มีการจัดเวทีนโยบายสาธารณะอ่าวบ้านดอน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. หัวข้อ “กระบวนทัศน์และกระบวนการในการจัดการพื้นที่สาธารณะทางทะเลอ่าวบ้านดอน อย่างมีส่วนร่วม ยั่งยืน และเป็นธรรม” โดยมีนายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี และประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะอ่าวบ้านดอน กล่าวเปิดงาน
.
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตอนนี้ สถานการณ์ต่างๆ รุมเร้าเข้ามาเหลือเกินกับความไม่เข้าใจ ชุมชนแต่เดิม เขาอยู่กันอย่างมีความสุข เพิ่งเกิดเรื่องมาเมื่อปีที่ผ่านมา คนที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุดคือคนที่รู้ปัญหานี้ คือคนที่ใกล้ชิดปัญหาที่สุด อย่าดึงสุราษฎร์ธานีให้เสียหายไปกว่านี้ ถ้าไม่รู้จริง อย่าพูด อย่าอวดเก่ง ถ้ามีจิตสำนึกรักบ้านเกิดจริง คุณไปอยู่สัก 2-3 เดือน คุณกล้าหรือไม่ ข้อเสนอแนะต่างๆ หากเข้ามาแบบเป็นกลาง ก็โอเค ถ้าทำอย่างบริสุทธิ์ใจ อย่ามีแอบแฝงเรื่องผลประโยชน์ แต่ที่ผ่านมา มันเกิดเรื่องเพราะอะไร คนระยำทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง คนที่รู้ปัญหาฉาบฉวย เอาทางวิชาการและกฎหมายมาพูด มากำหนดกฎเกณฑ์ให้เขาเดิน ถ้าพวกเรารักสุราษฎร์ธานีจริง เหตุการณ์อย่างนี้จะไม่เกิดขึ้น
.

นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ที่เก็บหอยกันอยู่มีคนสุราษฎร์อยู่ไม่ถึง 20 % เมื่อวาน (26 มิ.ย.) เจ้าของคอกหอยที่ช็อกตาย เพราะอะไร ถ้าคนมีศีลธรรม จะเข้าไปเอาของที่เขาซื้อมาไหม ศีลธรรมไปไหน คุณธรรม จริยธรรมส่วนบุคคลหายไปในอ่าวบ้านดอน หากคนนั้นคือญาติพี่น้องของเราจะรู้สึกอย่างไร คุณมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แก้ไม่ได้ เมื่อจะแพ้ชนะกันด้วยกฎหมาย นักข่าวคนหนึ่งบอกว่า ทะเลเป็นของส่วนรวม คนปัตตานีก็มีความชอบธรรมจะเข้ามา แต่เข้าไปแล้วกระทบกระเทือนสิทธิของคนอื่นไหม เขาเอาหอยไปปล่อย แล้วยังหน้าด้านไปเอา น่าอายไหม โดยเฉพาะนักวิชาการบางท่านที่พูดแบบนั้น ลองคิดถึงพวกคุณเอง กู้เงินมา ตนไปเยี่ยมบ้านคนตาย กู้เงินมา 3.3 ล้านบาท เรือประมงที่อ้างว่าเป็นประมงพื้นบ้านเข้าไปเก็บหอยในคอกของเขา ลูกชายออกไปขอร้องว่า หอยนี่ซื้อมา.
“คนไทยหรือเปล่าวะ ที่หน้าด้านตรงนั้น ที่รุมเข้ามา สุดท้าย เขาช็อกเสียชีวิต ขอให้คนที่รู้ปัญหา เขาแก้กัน จะเอาตำรับตำรามาแก้ เชิญนักวิชาการได้มีภารกิจนำหน้าแล้วเก่งกันนักหน้า ประเทศไทยเหมือนประเทศตะวันตกไหม เอาหลักของตะวันตกมาคิดกับประเทศไทย มันเหมือนกันไหม ไม่ใช่ไม่อ่าน ผมอ่านนะ และก็ไปสัมผัสกับชาวบ้านมา 2 เดือน ผมกล้าพูดว่ารู้ดีกว่าอาจารย์หลายท่าน เพราะผมไปดูมาจริง ลูกหอย 1 กิโลกรัม มี 35,000 เหลือครึ่งเดียว 15,000 ตัว นี่คือตัวเลขที่เป็นสวรรค์ ถามว่า ความเป็นจริงเป็นอย่างไร เอามาก็ต้องอนุบาลก่อน ฝนตกก็ต้องย้าย เขากว่าจะได้มา ต้องเลี้ยงมา หลายคนกลับชื่นชมว่านั่นเป็นของสาธารณะ กว่าหอยเขาจะโต เขาใช้เวลา แรงงาน และเงิน”

.
นายวรา จันทร์มณี นักวิชาการอิสระ อดีตเลขาส่วนตัวนายอังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว Wara Chanmanee ระบุว่า ขอใช้สิทธิพาดพิงที่นายสุทธิพงษ์ พูดว่า “แล้วเสือกมีหลายท่านที่สนับสนุนว่าทะเลเป็นของสาธารณะ น่าอายมั้ย โดยเฉพาะนักวิชาการบางท่าน” ผมเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่นายสุทธิพงษ์ กล่าวถึง ขออธิบายว่าไม่ได้เสือก เพราะปัญหาอ่าวบ้านดอนไม่ใช่เรื่องส่วนตัว หรืออ่าวบ้านดอนไม่ใช่เขตอิทธิพลส่วนตัวของใคร อ่าวบ้านดอนเป็นปัญหาสาธารณะที่กระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ทั้งที่ทำอาชีพประมงและผู้บริโภค รวมถึงกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิต ความสงบสุข มาตรฐานนิติธรรมสังคม ตนในฐานะนักวิชาการจึงมีสิทธิทักท้วงวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ
.
มีหลายประเด็นที่ฟังรอง ผวจ.สุราษฎร์ธานีพูดแล้วไม่สบายใจ ไปจนถึงหนักใจ โดยขออภิปรายเป็นข้อๆ ดังนี้ (1) สิ่งที่ตนไม่เห็นด้วยลำดับแรกคือ ประเด็นที่นายสุทธิพงษ์ บอกว่า ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา ไม่ทราบว่า นายสุทธิพงษ์ เรียนจบรัฐศาสตร์หรือไม่ ถ้าจบ จบมาจากสถาบันไหน แต่เท่าที่นายสุทธิพงษ์ พูด นายสุทธิพงษ์ ไม่เข้าใจวิชารัฐศาสตร์ เราเรียนตั้งแต่ปรัชญาการเมืองไปจนถึงการบริหารจัดการ ไม่มีปรัชญาการเมืองไหนสอนให้กะล่อนไร้หลักการ รัฐศาสตร์สอนเรื่องธรรมาภิบาล (Good Governance) การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อันต้องประกอบด้วยหลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ หลักความคุ้มค่า แถมยังสอนเรื่องบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ครอบคลุมไปถึงเรื่องคุณธรรมในการปกครอง เช่น ทศพิธราชธรรม ไปจนถึงโพชฌงค์ 7 หนทางแห่งการตรัสรู้
.

นายวรา จันทร์มณี นักวิชาการอิสระ
“(2) ผมรู้สึกไม่สบายใจกับท่าทีและคำพูดของคนระดับรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่แสดงต่อสาธารณะ รู้สึกถูกคุกคามและไม่ปลอดภัย ท่านใช้คำพูดรุนแรง และมีคำผรุสวาทนานา เช่น คนระยำไม่กี่คน หน้าด้าน เสือก”
.
(3) ตรรกะที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดใช้ สับสนระหว่างหลักนิติธรรมกับหลักลอย พูดว่า นักข่าวคนหนึ่งบอกว่าทะเลเป็นของสาธารณะ ทะเลอ่าวบ้านดอนทุกคนก็เข้าไปได้ แต่มันกระทบกระเทือนสิทธิคนอื่นมั้ย นายสุทธิพงษ์ พยายามอธิบายว่า ทะเลทุกที่ล้วนถูกจับจอง โดยยกตัวอย่างทะเลเพชรบุรีว่า ทะเลเป็นของสาธารณะ แต่อยากให้คนพูดพาไปเก็บหอยที่เพชรบุรี ผมไม่ได้สนับสนุนผู้ประกอบการ และบอกว่า คุณธรรม จริยธรรม มันหายไปไหน และคำพูดที่ว่า “ความจริงผมควรจะมีเป็นพันไร่ เพราะตอนนั้นผมเป็นรักษาการนายอำเภอ” และ “ถ้าสำนึกรักบ้านเกิดจริง คุณลองไปอยู่สักเดือนสองเดือน กล้ารึเปล่า”
.
“ผมฟังแล้วน่ากลัวมาก และเป็นเครื่องตอกย้ำว่ากรณีปัญหาหอยอ่าวบ้านดอนที่คาราคาซังมานับ 10 ปี ไม่ธรรมดา มากด้วยอิทธิพล และเริ่มไม่แน่ใจว่า ตกลง รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรัทธาในกฎหมายหรือกฎหมู่ (4) คำพูดที่ท่านบอกว่า “คุณจะไปเสนอรัฐบาล คสช. ไม่มีทาง อย่าคุยเลย” “คนไทยเราทำอะไรตามใจคือไทยแท้” “ผมบอกพวกคุณ ถ้าเอาตามกฎหมาย ข้าราชการในประเทศไทยติดคุกไม่เหลือสักคน แม้กระทั่ง ป.ป.ช.” ผมฟังแล้วเหมือนกับว่ารองผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เชื่อในหลักนิติธรรม หรือท่านอาจรู้ว่าประเทศนี้ไม่มีระบบนิติธรรมอยู่จริง” นายวรา กล่าว
.
(5) การที่นายสุทธิพงษ์ บอกว่า “ผมรับราชการ ทำงานก่อน 8 โมงเช้าทุกวัน” มันไม่ได้สะท้อนอะไร แม้ว่าท่านจะมาก่อน 6 โมงเช้า กลับ 2 ทุ่ม หรือนอนศาลากลาง ก็ไม่รู้ว่าท่านทำอะไร การใช้เวลามากหรือจะโม้ว่าขยันไม่ได้เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลของงาน หากท่านเข้าใจวิชารัฐศาสตร์จริงจะไม่พูดเช่นนี้ และ (6) ท่านตำหนิเรื่องคนใส่เสื้อกล้ามไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องเปลือก เป็นรูปลักษณ์ภายนอก และเป็นค่านิยมของตัวท่านเองที่ #ใช้อำนาจในฐานะรองผู้ว่าราชการจังหวัด “ไล่” ประชาชน แต่ท่านกลับจะลดหย่อนให้แก่ผู้ที่จับจองทะเลซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะประกอบกิจการส่วนตัว
.
“ทุกท่านครับ นี่เป็นแค่ตัวอย่าง ขอให้ท่านฟังคลิปเอง ผมแน่ใจว่าสิ่งที่พวกเรา นักวิชาการ ประชาชน และสื่อมวลชน กำลังผลักดัน คือการทำให้การทำประมงในจังหวัดสุราษฎร์ฯ โปร่งใสขึ้น และได้ทำตามที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอ คือ ขอร้องอย่าทำให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีเสียหายไปกว่านี้หรือตกต่ำลงอีกเลย หวังว่ารองผู้ว่าราชการจังหวัดคงเข้าใจ และยึดในหลักธรรมาภิบาล หลังจากนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีคงเข้าใจคำว่าหลักรัฐศาสตร์มากขึ้น”
.
นายวรา กล่าวว่า สุดท้ายขอให้ข้อสังเกตว่า เราควรยกเลิกการรวมศูนย์อำนาจไปที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้แล้ว ประชาชนควรตระหนักถึงปัญหานี้ เพราะเป็นนรกขุมใหญ่ที่โยงใยผลประโยชน์สกปรกดำมืดมหาศาล ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ เราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือลุกขึ้นสู้ ตรวจสอบ ชี้ให้เห็นจุดบกพร่อง ผลักดันให้มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจังเสียที เพราะไม่อย่างนั้นเราจะมีผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กินอำนาจ และถือสิทธิขาดให้คุณให้โทษไปอย่างนี้ไม่จบสิ้น ขอยกตัวอย่าง การเก็บส่วยค่าจดทะเบียนปืน ส่วยการพนัน เงินใต้โต๊ะโครงการต่างๆ ที่มีแทบทุกอำเภอ ทุกจังหวัด
.
“เวลาชาวบ้านมีปัญหากับนักการเมืองท้องถิ่น หรือข้าราชการ ที่อยู่ในสายนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ทำอะไรไม่ได้ ไร้อำนาจต่อรอง เพราะเขาก็เป็นพวกกันหมด ในที่สุดก็ถูกกลั่นแกล้งกดดันรังแกสารพัด จะไปร้องศูนย์ดำรงธรรมเหรอ ศูนย์ดำรงธรรมก็ไม่ได้ให้ความเป็นธรรม เพราะศูนย์ดำรงธรรมถูกกำกับโดยนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดนั่นเอง ขออนุญาตเสือกแค่นี้ก่อนนะครับ แล้ววันหลังจะมาเสือกอีก ขอบคุณครับ” นายวรา กล่าว

นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมภาคใต้
ด้านนายประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมภาคใต้ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวที่ใช้ชื่อ “ประสิทธิ์ชัย หนูนวล” ว่า อดตั้งคำถามถึงจุดยืนในการแก้ปัญหาของรองผู้ว่าฯ ไม่ได้ ในฐานะที่เป็นบุคคลสำคัญของฝ่ายรัฐที่มีบทบาทในการแก้ปัญหา ดังนี้ (1) รองผู้ว่าฯ พูดว่า “ที่ผ่านมาเขาอยู่กันอย่างมีความสุข” ถามว่า ความสุขของใคร เรื่องอ่าวบ้านดอนเป็นแบบนี้มานับ 10 ปีแล้ว รัฐก็ไม่ทำอะไร ปล่อยให้มีการจับจองพื้นที่สาธารณะ พอชุมชนทักท้วง เรียกร้อง จึงจะลุกขึ้นมาแก้ปัญหา ชุมชนเดือดร้อนกันมานาน (2) พยายามพูดหลายรอบว่า “คนในพื้นที่รู้ดี คนอื่นฉาบฉวยเอาทางวิชาการมาพูด เอากฎหมายมาพูด” ถามว่า คนในพื้นที่คือใคร ถ้าหมายถึงชาวบ้านที่เป็นประมงพื้นบ้าน ใช่หรือที่อ้างว่า ประมงพื้นบ้านแก้ปัญหาได้แล้ว
.
“บอกว่า เอาวิชาการมาพูด เอากฎหมายมาพูด ถ้าไม่ใช้ 2 อย่างนี้แล้วจะใช้อะไร ใช้อำนาจเหรอ ใช้อิทธิพลเหรอ แม้มันต้องใช้อย่างอื่น แต่สองอย่างนี้คือ ฐานสำคัญครับ รองผู้ว่าฯ ความพยายามสื่อสารของรองผู้ว่าฯ เช่นนี้หมายความว่าอะไร พยายามปกป้องอะไรอยู่หรือเปล่า” นายประสิทธิ์ชัย กล่าว
.
(3) นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ตลอดการพูดทั้งหมดของรองผู้ว่าฯ บอกว่าเราต้องใช้รัฐศาสตร์ ไม่พูดว่าต้องใช้นิติศาสตร์นำ เวลาคนพูดแบบนี้มี 2 นัย หนึ่งคืออยากประนีประนอมกันจริงๆ สองคือ ใช้อิทธิพลอำนาจในการประนีประนอม เพราะถ้าเอากฎหมายมาใช้มีฝ่ายหนึ่งมีความผิด จึงยกอ้างเอาหลักรัฐศาสตร์นำหน้า กรณีนี้ต้องใช้นิติศาสตร์นำ ใช้รัฐศาสตร์ตาม เพราะตราบเท่าที่คุณพยายามประนีประนอมให้ทุนคอกหอยอยู่ต่อได้ด้วยการพูดคุยกับชุมชน แสดงว่าคุณยินยอมให้ความผิดนั้นดำรงอยู่ เหมือนกับที่ดำรงอยู่มา 10 ปีแล้วใช่ไหม ในกรณีความขัดแย้งเช่นนี้ เราต้องใช้นิติศาสตร์จัดการกับความผิดนั้น แล้วใช้หลักรัฐศาสตร์ตามคือการมาตกลงกัน ต้องทำให้อ่าวบ้านดอนไม่มีเจ้าของด้วยการบังคับใช้กฎหมาย หลังจากนั้น จึงจะมาสร้างกติการ่วมกัน เราไม่สามารถคิดแบบโรแมนติกในกรณีนี้ได้ เพราะมันเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาแล้ว แล้วปัญหาก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม
.
(4) ทะเลเป็นของสาธารณะ ประเด็นนี้รองผู้ว่าฯ พูดหลายรอบและดูเหมือนจะมีอารมณ์กับประเด็นนี้มาก บอกว่า ยอมรับว่าทะเลเป็นสาธารณะ แต่บอกว่า “ไอ้คนที่พูดกล้าพาผมไปหาหอยที่เพชรบุรีไหม คุ้มครองผมให้ปลอดภัยด้วยนะ” ผมคิดว่าประเด็นนี้อันตราย เพราะความเข้าใจคลาดเคลื่อนในความหมายของพื้นที่สาธารณะของรองผู้ว่าฯ จะนำมาซึ่งอคติในการแก้ปัญหา คำว่าพื้นที่สาธารณะคือการห้ามมีเจ้าของจับจองลิดรอนสิทธิผู้อื่น ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมในการใช้พื้นที่
.
“รองผู้ว่าฯ พูดบางช่วงว่า บอกว่าทะเลเป็นพื้นที่สาธารณะ แล้วเวลาเข้าไปแล้วกระทบสิทธิคนอื่นไหม ไปเก็บหอยของเขาหน้าด้านไหม ทำแบบนี้แล้วยังมีหลายคนสนับสนุน น่าอายไหม โดยเฉพาะนักวิชาการบางคน อยากทำความเข้าใจกับรองผู้ว่าฯ ในกรณีนี้ การที่ด่าคนไปเก็บหอยในคอกหอยของนายทุนว่าหน้าด้าน อาจจะถูกของรองผู้ว่าฯ แต่คนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีบทบาทในการแก้ปัญหา ต้องยืนให้ถูกจุดว่า การจับจองเลี้ยงหอยมันผิดตั้งแต่ต้น แต่ถ้ารองผู้ว่าฯ เป็นเจ้าของคอกหอยหรือพูดเพื่อนายทุนอันนั้นเข้าใจได้ครับ ตกลงรองผู้ว่าฯ พูดในฐานะอะไร” นายประสิทธิ์ชัย กล่าว
.
(5) ถ้าคนมีศีลธรรม คนจะเข้าไปเอาของที่เขาซื้อมาไหม ศีลธรรมไปไหนหมดอ่าวบ้านดอน
กรณีนี้รองผู้ว่าฯ พูดถึงคนที่เข้าไปเก็บหอยในคอกว่า “ไร้ศีลธรรม” รองผู้ว่าฯ พูดต่อว่า “เคยคิดถึงความยากลำบากของคนทำคอกหอยไหม เขากว่าจะได้มา คนที่สบายคือคนที่ไปดำหอยเอาในคอก แต่หลายคนกลับชื่นชม เขาใช้เวลา แรงงาน กว่าจะได้มา” (6) จะเอาตำรามาแก้ไม่ได้ มนุษยวิทยา สังคมวิทยา นักวิชาการเก่งกันนักหนา เอาหลักตะวันตกมาคิดกับคนไทย เรียนกันอยู่แบบนั้น ท่องบ้ากันอยู่แบบนั้น ผมรู้ดีกว่าหลายท่านที่เป็นอาจารย์
.

(7) รื้อขนำเพื่อให้อยู่กันได้ระหว่างพื้นบ้าน ขนำมันมันมีภาพถ่ายฟ้องอยู่ ประเด็นนี้ขอตั้งคำถามกับรองผู้ว่าฯ ดังนี้ว่า ตกลงว่าการรื้อขนำนี้เพื่อไม่ให้มันประเจิดประเจ้อ จะได้เลี้ยงหอยกันต่อไปได้หรือ (8) ส.ส.เสนอกฎหมายยังไม่พอ แล้วพวกคุณเขาจะเอาเหรอ! และ (9) ถ้าไม่รู้จริงอย่าอวดเก่ง คุณจะเสนอรัฐบาล คสช.ไม่มีทาง คำถามสำคัญคือ “จะให้คนที่มีทัศนคติแบบนี้มาแก้ปัญหาอ่าวบ้านดอนเหรอครับ”
.


กำลังโหลดความคิดเห็น