ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ ภ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) สร้างมิติใหม่ ขับเคลื่อนบริการวิชาการแบบบูรณาการ เชื่อม 2 คณะใหญ่พัฒนาบ่มเพาะสหกรณ์การเกษตร เป้าหมาย 30 แห่งทั่วประเทศ
วันนี้ (29 มิ.ย.) ที่โรงงานแปรรูปยางพารา สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด จังหวัดสงขลา ผศ.ธีรวัฒน์ หังสพฤกษ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ นำผู้บริหาร และคณาจารย์จากคณะวิทยาการจัดการ และคณะอุตสาหกรรมเกษตร ลงพื้นที่สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด เพื่อประชุมชี้แจงโครงการพัฒนาความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร (ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ปีงบประมาณ พ.ศ.2563) ซึ่งเป็นโครงการที่ศูนย์พัฒนานวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ (MIDC) คณะวิทยาการจัดการ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการ ภายใต้งบประมาณของกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยมีวัตถุประสงค์บ่มเพาะสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจ และการบริหารจัดการองค์กร พัฒนาการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์การตลาดที่สหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรได้รับการสนับสนุน ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต การรวบรวม การแปรรูป และการตลาด ให้สามารถบริหารจัดการอุปกรณ์การตลาดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดความคุ้มค่า สร้างรายได้เพิ่มให้แก่สมาชิกสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้สหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป โดยมีสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย จำนวน 30 สหกรณ์ใน 21 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 7 ชนิดสินค้า ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา โคนม โคเนื้อ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง เข้าร่วมโครงการ
ผศ.ธีรวัฒน์ หังสพฤกษ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2563 คณะวิทยาการจัดการ ได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวน 2 โครงการ ซึ่งนอกจากโครงการข้างต้นนี้แล้ว ยังมีโครงการเพื่อยกระดับการผลิตผัก และผลไม้คุณภาพของสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร สู่มาตรฐาน GAP โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการผลิตผัก และผลไม้ของสมาชิกสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร ตามหลักวิธีการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาสมาชิกสหกรณ์ จำนวน 1,200 ราย จากสหกรณ์เป้าหมาย จำนวน 58 สหกรณ์ใน 28 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในปีนี้เป็นปีแรกที่คณะวิทยาการจัดการ ได้ร่วมมือกับคณะอุตสาหกรรมเกษตรในการร่วมดำเนินโครงการบริการวิชาการ เพื่อให้เกิดการบูรณาการศาสตร์ และการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้สามารถช่วยเหลือสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายได้อย่างครบถ้วน ทั้งในแง่กระบวนการผลิต การแปรรูป และการตลาด เป็นมิติใหม่แห่งการให้บริการวิชาการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ในส่วนของคณะวิทยาการจัดการ ที่ผ่านมามุ่งเป้าการวิจัยและบริการวิชาการ เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ที่เน้นพันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม (University Engagement) โดยมหาวิทยาลัยต้องมีส่วนในการใช้องค์ความรู้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา และพัฒนาชุมชนในพื้นที่ ซึ่งจะต้องอาศัยการบูรณการศาสตร์ในทุกสาขาวิชา สอดคล้องต่อการที่คณะวิทยาการจัดการ มีศาสตร์การจัดการที่หลากหลาย ทั้งศาสตร์ด้านบริหารธุรกิจ การบัญชี และรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งจะสามารถทำให้เกิดการวิจัย และบริการวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ได้อย่างสมบูรณ์ และเมื่อบูรณาการร่วมกับคณะอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งมีศาสตร์ที่สามารถบริหารจัดการกับผลผลิตทางการเกษตรได้ตั้งแต่ต้นทางของการผลิต ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพ และความเข้มแข็งในการให้บริการวิชาการได้อย่างสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การลงพื้นที่สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด ในครั้งนี้ ก็เพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการ รวมถึงเพื่อประเมินความพร้อมศักยภาพ สภาพปัญหา และความต้องการในการพัฒนาการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์เบื้องต้นตามรายชนิดสินค้า ซึ่งสินค้าของสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด คือยางพารา ทั้งนี้ หลังจากนี้ทีมงานที่ปรึกษาโครงการจะลงพื้นที่สำรวจสหกรณ์การเกษตรตามเป้าหมายให้ครบทั้ง 30 แห่งทั่วประเทศ และจะนำข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ในครั้งแรกนี้ไปวิเคราะห์ และจัดทำแผนปฏิบัติงานโครงการ และแผนในการอบรมบ่มเพาะ การถ่ายทอดความรู้ และการสอนงาน (Coaching) ตามแต่ละรายสหกรณ์ต่อไป โดยคาดหมายว่าภายหลังเสร็จสิ้นการดำเนินโครงการ สหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 30 แห่ง จะสามารถลดต้นทุนจากเดิม หรือเพิ่มประสิทธิภาพได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับก่อนเข้าโครงการ