xs
xsm
sm
md
lg

จังหวัดภูเก็ตจับมือกรมทรัพย์ฯ เดินหน้าพัฒนาภูเก็ต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - จังหวัดภูเก็ตจับมือกรมทรัพยากรและชายฝั่ง นำสิ่งที่ดีที่สุดมาแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เดินหน้าร่วมพัฒนาภูเก็ต ระบุภูเก็ตต้องทำงานเป็นทีม เพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการและแก้ไขปัญหา


วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จังหวัดภูเก็ต นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล จังหวัดภูเก็ต โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ปลัดจังหวัดภูเก็ต นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

โดยนายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กล่าวถึงสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลพื้นที่จังหวัดภูเก็ตว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์โรคโควิด-19 ระบาด การกลับมาฟื้นตัวของทรัพยากรธรรมชาติมีแนวโน้มที่ดีขึ้น สำหรับในส่วนของเนวปะการัง พบว่า ในปี 60-62 ความเสียหายของปะการังอยู่ที่ 30% แต่ปัจจุบันพบว่าความเสียหายของปะการังลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1% เท่านั้น ซึ่งพบว่ากลับมาฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว และขณะนี้ยังไม่พบปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในจังหวัดภูเก็ต

ส่วนสถานการณ์หญ้าทะเล ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตมีหญ้าทะเลประมาณ 16,000 ไร่ มีพื้นที่หญ้าทะเลสภาพสมบูรณ์อยู่ที่ 6,000 กว่าไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของเกาะ


ขณะที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายากต้องนับรวมทั้งฝั่งอันดามันเนื่องจากสัตว์เหล่านี้มีการเคลื่อนย้ายไปตามที่ต่างๆ ทั้งภูเก็ต พังงา กระบี่ ซึ่งพบว่าสถานการณ์ของสัตว์ทะเลหายากดีขึ้น เช่น เต่าทะเล พบว่าปีนี้มีเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่มากถึง 11 รัง ในพื้นที่ภูเก็ต พังงา นับมาว่าเป็นปีที่มีเต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่มากที่สุดในรอบ 20 ปี นอกจากนั้น ยังพบพะยูน วาฬโอมุระ และอื่นๆ อีกหลายชนิด

นายก้องเกียรติ ยังได้กล่าวต่อไปว่า หลังจากเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวในทะเลได้ ทำให้ทรัพยากรทางทะเลฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้งสัตว์ทะเลที่เริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างโลมา ที่เกาะไม้ท่อน ที่ก่อนหน้านี้ พบว่า มีการรวมฝูงน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แค่ฝูงละ 7- 8 ตัวเท่านั้น แต่หลังจากไม่มีกิจกรรมทางทะเลพบว่าโลมาที่เกาะไม้ท่อนกลับมารวมฝูงเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ส่วนสาเหตุที่ทำให้สัตว์ทะเลหายากเกยตื้นตายพบว่าในส่วนของเต่าทะเล พะยูน เกิดจากการติดเครื่องมือการทำประมง ส่วนโลมา และวาฬ ส่วนใหญ่เกิดจากมีอาการป่วย

ขณะที่คุณภาพน้ำก็เช่นกัน พบว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา คุณภาพน้ำทะเลดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นอ่าวป่าตอง หาดกะตะ หาดกะรน โดยที่หาดป่าตองจะพบน้ำเปลี่ยนสีทุกปีทุกปี แต่ปีนี้กลับไม่พบปรากฏการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด ปริมาณไมโครพลาสติกก็ลดลงไปประมาณ 50%


ขณะที่นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การทำงานพัฒนาภูเก็ตจะต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายและจะต้องทำงานเป็นทีม ซึ่งวันนี้นับเป็นเรื่องที่ดีที่ทางหน่วยงานในส่วนของกรมทรัพยากรทางทะเลให้ได้ข้อมูลแก่ทางจังหวัดถึงแนวทางและสิ่งที่ทางกรมกำลังทำ ซึ่งหลังจากนี้คงจะต้องมีการหารือร่วมกันว่าทั้งจังหวัดและกรมทรัพย์ฯ จะทำอย่างไรเพื่อแปลงนโยบายต่างๆ ไปสู่การพัฒนาให้สอดคล้องต่อความต้องการและแก้ไขปัญหาของจังหวัดภูเก็ต

อย่างไรก็ตาม จากการที่ตนเข้ามาดำรงตำแหน่งที่จังหวัดภูเก็ต โดยความเห็นส่วนตัวซึ่งอาจจะไม่ถูกทั้งหมดก็ได้ แต่มองว่า การท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตขึ้นอยู่กับ 2 เรื่องคือ ธรรมชาติ ที่พัฒนามาจากเมืองเหมืองแร่ มาเป็นเมืองไข่มุกอันดามัน ไม่ว่าจะเป็นหาดทราย ชายทะเลที่มีความสวยงามตรึงตาตรึงใจให้แก่ผู้ที่มาเยือน จนกลายเป็นมหานครแห่งเมืองท่องเที่ยวระดับโลก และอีกเรื่องคือ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนภูเก็ต ที่มีเอกลักษณ์ มีอัตลักษณ์ และวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นความเป็นมา รากเหง้าของคนภูเก็ต เรื่องอาหารการกิน และเรื่องอื่นๆ ที่ร้อยเรียงกันมา

นายณรงค์ ยังได้กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้ภูเก็ตกำลังประสบปัญหาที่ใหญ่ที่สุดอย่างไม่เคยเกิดมาก่อน เมื่อปี 2547 เราเคยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งตอนนั้นถือว่าสร้างความเสียหายให้แก่ภูเก็ตอย่างมาก แต่ภัยครั้งนี้เกิดขึ้นจากธรรมชาติ เป็นภัยที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ประเทศอื่นๆ ไม่ได้รับผลกระทบ เมื่อเราฟื้นตัวพร้อมรับคนจากที่อื่นก็พร้อมที่จะเข้ามา แต่ภัยครั้งนี้เป็นภัยจากโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก เราฟื้นตัว สร่างไข้แล้ว และพร้อมที่จะทำให้จังหวัดภูเก็ตกลับมาสดใสอีกครั้ง แต่คนในต่างประเทศยังคงมีเลือดไหลอยู่และยังไม่พร้อมที่จะเดินทางเข้ามา เราจึงจะต้องมาหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ภูเก็ตกลับมาเดินได้และแข็งแรงขึ้น


ถึงวันนี้ หน่วยงานกรมทรัพย์ก็ถือว่าเป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะเข้ามามีส่วนในการส่งเสริมและผลักดันให้ภูเก็ตกลับมาเดินได้ ซึ่งทราบว่าในส่วนของสถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน เป็นสถาบันวิจัยที่ดีที่สุด เราจะนำสิ่งที่ดีที่สุดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เชิงท่องเที่ยว เชิงการศึกษาได้อย่างไร รวมทั้งจะทำอย่างไรให้ภูเก็ตเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับด้านมารีนระดับโลก

ด้าน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้ความสำคัญกับพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต และพร้อมที่จะทำงานไปด้วยกันกับจังหวัดภูเก็ตเพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาของจังหวัดภูเก็ตต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น