xs
xsm
sm
md
lg

ทางออกปัญหา “สันดอนทรายขนาดใหญ่” จากโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โดย... ดร.อลิสา หะสาเมาะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี และที่ปรึกษาสมาคมประมงพื้นบ้านชายแดนใต้



อาทิตยที่ 21 มิ.ย.2563 ได้มีโอกาสไปดู “สันดอนทรายขนาดใหญ่” กลาง “อ่าวปัตตานี” เนื่องจากได้รับการบอกเล่าจากชาวบ้านมาหลายครั้งแล้วว่า อาจเป็นเหตุทำให้ ประมงพื้นบ้านจับสัตว์น้ำได้น้อยลง หลังลงสำรวจพื้นที่ก็มีวงคุยกลุ่มเล็กๆ พร้อมมีสัญญาใจร่วมกันว่า สันดอนทรายดังกล่าวจะหายไป แต่ขอเวลาอีก 3 เดือน เนื่องจากเรือขุดลอกติดภารกิจที่อื่น ดังนั้น อีก 3 เดือนหลังจากนี้หรือราว 21 ก.ย.2563 ค่อยมาอัปเดตกันใหม่

ที่เขียนออกมาเล่าช้าไปนิด เพราะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายอย่างและไวมากในระยะเวลาอันสั้น รวมทั้งต้องระมัดระวังไม่เอ่ยชื่อใครออกมา เพราะเดี๋ยวจะลำบากกันหมด


วันนี้ขอเล่าเรื่องสันดอนทรายขนาดใหญ่ก่อนว่าโผล่มาจากไหน??

หากใครมีโอกาสล่องเรือไปกลางอ่าวปัตตานีสักประมาณ 10 นาที จะเห็นสันทรายกินพื้นที่บริเวณกว้าง กว้างเสียจนสามารถมองเห็นได้ชัดจาก google map เลยทีเดียว

เมื่อก่อนสันดอนทรายแบบนี้ไม่มีนะ แล้วมันมาจากไหนล่ะ?!

สันดอนทรายขนาดใหญ่แห่งนี้เป็นผลมาจาก “โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี” แล้วมีการนำดินทรายที่ขุดลอกเพื่อแก้ไขปัญหาการสะสมของตะกอนในอ่าวเอาไปถมไว้ ทั้งที่ในสัญญาระบุว่า จะต้องนำดินทรายไปทิ้งไว้ที่ทะเลนอก หรือในพื้นที่ห่างจากชายฝั่งอย่างน้อย 10 กิโลเมตร แต่ก็มีการอ้างว่ามีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งร้องขอให้นำไปกองไว้กลางอ่าวปัตตานีดังกล่าวเพื่อประโยชน์ทางการท่องเที่ยว


แล้วโครงการการขุดลอกอ่าวปัตตานีมีที่มาที่ไปอย่างไร?!

ผู้เกี่ยวข้องเล่าให้ฟังว่า โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานีก็เกิดขึ้นจากความปรารถนาดีเช่นกัน เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับเสียงร้องเรียนจากชาวบ้านว่า เรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กเรือเข้า-ออกยากลำบาก เพราะร่องน้ำตื้นเขินมาก จึงเสนอว่าให้มีการขุดลอกเอาตะกอนที่ทับถมออก ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถนำเรือเข้า-ออกได้ดีขึ้นแล้ว ยังเชื่อว่าจะช่วยฟื้นฟูทรัพยากรและทำให้สัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น

การขุดลอกอ่าวปัตตานีเคยมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น สภาเกษตรกรจังหวัดปัตตานี รวมถึง อบต.ในพื้นที่รอบๆ อ่าวปัตตานีมาแล้ว โดยกลุ่มชาวบ้านเห็นด้วยและเชื่อว่าจะได้ประโยชน์ 1) ช่วยการเข้า-ออกของเรือประมง 2) ช่วยฟื้นฟูทรัพยากรและสัตว์น้ำให้เพิ่มมากขึ้น 3) รายได้ของชุมชนจะเพิ่มมากขึ้นจากการท่องเที่ยว เพราะจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชมวิวทิวทัศน์ที่งดงาม และ 4) แก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม


สำหรับ “สันดอนทรายขนาดใหญ่” ดังกล่าวจะว่าไปผลประโยชน์ที่ได้จะตกอยู่กับชุมชนที่เน้นการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ เชื่อว่าจะเป็นเหมือน “แลนด์มาร์ก” แห่งใหม่ จะกลายเป็น “เกาะขนาดย่อม” รองรับนักท่องเที่ยว ที่สำคัญจะช่วยดึงรายได้เข้าชุมชน

วันที่ลงพื้นที่สำรวจก็เห็นฝักโกงกางเริ่มฝังรากบนเกาะ พร้อมแตกยอดใบอ่อนเล็กๆ สองใบดูงดงาม และยังมีแมงดาทะเลตัวผู้กับตัวเมียอยู่ริมหาด ตัวเมียไข่เต็มท้อง ชาวประมงบอกว่าไข่แมงดาเอาไปทำยำอร่อยมาก

ทว่า โครงการพัฒนาเกือบทุกโครงการจะมีทั้งชาวบ้านที่ได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์ “โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี” ที่นำมาสู่การเกิดขึ้นของ “สันดอนทรายขนาดใหญ่” กลางอ่าวก็เช่นกัน!!


เรามาลองไล่ประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

ข้อแรก ประเด็นการขุดลอกอ่าวที่ว่าจะช่วยการเข้า-ออกของเรือประมงขนาดเล็กได้สะดวกขึ้น แต่ตอนนี้กลับพบว่าเข้า-ออกลำบาก ปัญหาเกิดจากเรือติดสันดอนทรายที่จมอยู่ใต้ผิวน้ำ ชาวบ้านมองไม่เห็น ทำให้เรือติดแบบไปไหนไม่ได้ หรือเรือที่แล่นมาเร็วๆ ถึงกับพลิกคว่ำก็มี อีกทั้งนอกจากชาวประมงพื้นบ้านจะจับสัตว์ได้น้อยลงมาก หรือถึงขนาดไม่ได้เลยก็มีในช่วงของการขุดลอกอ่าวแล้ว ยังต้องเสียเวลากู้เรือที่พลิกคว่ำ หรือติดสันดอนอีก

ชาวบ้านบอกเล่าว่า “ถ้าเป็นสันดอนทรายที่เห็นโผล่พ้นน้ำ เราก็สามารถที่จะหลบหลีกได้ แต่สันดอนนี่อยู่ใต้น้ำ มองไม่เห็น เรือประมงบางลำจึงพลิกคว่ำ หลายลำต้องติดแบบทำอะไรไม่ได้อยู่กว่า 4 ชั่วโมง สร้างความลำบากเอามากๆ”

ข้อที่สอง ประเด็นเรื่องการฟื้นฟูทรัพยากรและทำให้สัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น ตอนนี้พบว่าสันดอนทรายขนาดใหญ่ยังไปถมทับแหล่งจับสัตว์น้ำต่างๆ ของชาวประมงด้วย โดยเฉพาะแหล่งจับปลากะตัก ปลากระบอก ปลาดุกทะเล โดยเป็นเวลา 2 ปีมาแล้ว หรือระหว่าง มิ.ย.2562-มิ.ย.2563 ที่มีโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ปรากฏว่าสันดอนทรายได้ขวางกระแสน้ำ เป็นผลให้ชาวประมงจับปลาได้น้อยลงเรื่อยๆ

เมื่อเปรียบเทียบช่วงก่อนมีโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี พบว่า เคยจับปลาได้ประมาณ 20 กิโลกรัม/วัน แต่ทุกวันนี้จับได้แค่ 1-2 กิโลกรัม/วัน ทำให้ชาวประมงบางรายตัดสินใจไม่ออกเรือแล้ว เพราะกลัวไม่คุ้มค่าน้ำมัน การออกเรือไปทะเลแล้วไม่รู้ว่าจะได้ปลาหรือเปล่านั้น เป็นเรื่องสูญเสียทางเศรษฐกิจมากมาย

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเหล่านี้ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับชาวประมงพื้นบ้านเท่านั้น แต่ยังผูกโยงกันในทางเศรษฐกิจชุมชนอย่างเป็นลูกโซ่ ร้านค้าขายของชำ ขายอาหารในหมู่บ้านต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า รายได้จากการขายข้าวยำ ข้าวห่อ ของกินของใช้ลดน้อยถอยลงมาก ปกติชาวบ้านจะซื้อไปกินในเรือช่วงทำประมง แต่เวลานี้กุ้งหอยปูปลาลดลง ชาวบ้านจึงออกทำประมงน้อยลงตามไปด้วย


ข้อที่สาม ที่คาดการณ์ว่ารายได้ของชุมชนจะเพิ่มมากขึ้นจากการท่องเที่ยว ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะชาวบ้านรอบอ่าวส่วนมากประกอบอาชีพประมง พอไม่ได้ออกทำประมงก็นำเรือไปรับนักท่องเที่ยวนำชมรอบๆ อ่าวปัตตานี ทำให้มีรายได้เพิ่ม

มีข้อมูลส่วนหนึ่งระบุว่า สันดอนทรายกลางอ่าวจะกลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ นี่อาจจะมีประโยชน์แน่นอนสำหรับชาวบ้านกลุ่มที่ทำการท่องเที่ยว แต่คำถามคือชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ อ่าวไม่ได้มีอาชีพท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก แล้วคนกลุ่มนี้จะยังชีพอยู่ได้อย่างไร นี่จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชนอย่างเป็นลูกโซ่ต่อเนื่อง

ข้อที่สี่ ที่ว่าการขุดลอกอ่าวปัตตานีจะช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ประเด็นนี้ผู้เขียนไม่ได้เชี่ยวชาญนัก นอกจากอยากจะเห็นข้อมูลและงานวิจัยที่สามารถรองรับข้อสมมติฐานนี้ หากแต่ปลาดุกทะเลตัวใหญ่ที่แห้งตายอยู่บนเกาะสันดอนทรายแห่งใหม่บอกได้ชัดเจนว่า ตรงนี้เป็นแหล่งปลาดุกทะเลแน่นอน และสอดคล้องต่อคำบอกเล่าของชาวบ้านที่ว่า บริเวณสันดอนทรายคือแหล่งหาปลาของชาวประมง มีปลามากมายหลายประเภท ประกอบกับเวลานี้กลับมีเสียงจากชาวประมงพื้นบ้านและกลุ่มผู้หญิงพร่ำบ่นให้ได้ยินหนาหูว่า ทั้งปลาและรายได้น้อยลงมาก


ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ปัญหา “โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี” อันนำมาซึ่ง “สันดอนทรายขนาดใหญ่” ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่สร้างปัญหาต่อวิถีการดำรงชีวิตชาวบ้านจริง แต่ที่ไม่อยากแสดงความคิดเห็นและไม่ออกตัวกัน เพราะต่างเกรงผลกระทบที่จะตามมาอีก เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่รู้จักคุ้นเคยกันดี แถมยังเกี่ยวข้องกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีบุญคุณในอดีต

ดังนั้น ปัญหาของผู้คนที่อาศัยอยู่รอบๆ อ่าวปัตตานีจึงมีสภาพความสัมพันธ์ทางสังคมซับซ้อนพอสมควร ถึงแม้ก่อนหน้าจะมีเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านแล้ว แต่ก็มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่มีความคิดเห็นต่างและไม่ได้ถูกเชิญให้เข้าร่วมเวที

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ทำให้ผลกระทบจากการขุดลอกและสันดอนทรายกลางอ่าวปัตตานีเข้มข้นมากยิ่งขึ้นด้วย กล่าวคือ เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก ซึ่งขอบเขตพรมแดนของประเทศถูกจำกัดและถูกบีบรัด ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ไทยผลักดันแรงงานต่างชาติให้กลับประเทศ หรือรัฐบาลมาเลเซียจัดระเบียบเข้มข้นต่อแรงงานต่างด้าว อันเป็นผลจากภัยพิบัติโรคโควิด-19 ระบาด

ทั้งนี้ ชาวบ้านรอบๆ อ่าวปัตตานีจำนวนมากมักจะไปค้าแรงงานในประเทศมาเลเซีย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากหลายสิบปีมานี้ทรัพยากรในอ่าวลดน้อยถอยลง ทำให้รายได้จากการทำประมงลดลง โดยมีข้อมูลจากการสำรวจของเครือข่ายระบุว่า เวลานี้มีจำนวนถึงกว่า 4,600 คนที่ต้องตกงานและกลับมาอยู่บ้าน เมื่อกลับมาแล้วจะหันไปยังชีพด้วยการทำประมงอีกก็แทบจะไม่ได้ เพราะได้เกิดปรากฏการณ์การขุดลอกอ่าวและสันดอนทรายขนาดใหญ่ขวางกั้นการทำประมงละทำให้สัตว์น้ำลดลงไปอีก




ในฐานะนักวิชาการที่ติดตามเรื่องราวอ่าวปัตตานีมานาน ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมประมงพื้นบ้านชายแดนใต้ และในฐานะที่มีปู่ทวดฝังร่างอยู่ข้างสุสานโต๊ะปาแย ดาโต๊ะ จ.ปัตตานี ขอเสนอแนวทางออกต่อปัญหาการขุดลอกและสันดอนทรายขนาดใหญ่กลางอ่าวปัตตานี ดังนี้

1) ขอให้มีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการขุดลอกอ่าวปัตตานีและการเกิดขึ้นของสันดอนทรายกลางอ่าว โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

2) อีก 3 เดือนจะมีการนำสันดอนทรายขนาดใหญ่ไปทิ้งทะเลนอก หรือห่างจากชายฝั่ง 9-10 กิโลเมตร ควรจะต้องมีกระบวนการติดตามผลความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

3) ขอให้มีการเปิดเผยสัญญาจ้างโครงการการขุดลอกอ่าวปัตตานี เนื่องจากจะได้ทำให้เข้าใจว่าโครงการนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร มีข้อตกลงเกี่ยวกับการขุดดินทรายอย่างไร มีการศึกษาผลกระทบของสิ่งแวดล้อมและการแก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อให้อ่าวปัตตานีเป็นมรดกของลูกหลานตราบนานเท่านาน

สำหรับอ่าวปัตตานี มีพื้นที่ 31,250 ไร่ หรือ 50.00 ตร.กม. สูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 0.4–0.9 ม. ครอบคลุม 2 อำเภอ คือ อ.เมือง และ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี มีเป็นลักษณะรูปวงเดือน ผืนดินทอดยาวงอกออกไปในทะเลคล้ายจะงอยปากนก ชายฝั่งยาวประมาณ 30 กม. ร่องน้ำลึก 4-10 ม. ชาวบ้านรอบๆ อ่าวนอกจากประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านขนาดเล็กแล้ว ยังมีนากุ้งและนาเกลือ เป็นแหล่งผลิตข้าวเกรียบปลาขึ้นชื่อ


กำลังโหลดความคิดเห็น