xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์ ม.เกษตรฯ ชี้ “ศอ.บต.” จ้างบัณฑิตอาสาลงพื้นที่ อ.จะนะ ถือเป็นการปิดตาปิดปากชาวบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “อ.ชลิตา บัณฑุวงค์” อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ม.เกษตรฯ ชี้การที่ “ศอ.บต.” จ้างบัณฑิตอาสาลงพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อสร้างความเข้าใจกับกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างอุตสาหกรรม ถือเป็นการปิดตาปิดปากชาวบ้านในพื้นที่

ความคืบหน้ากรณีที่ ศอ.บต. พยายามผลักดันพื้นที่ อ.จะนะ เป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาพื้นที่ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีกหลายโรงงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการขออนุญาตการก่อสร้าง โดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวกับพลังงาน แต่กลับถูกประชาชนในพื้นที่ และองค์ภาคีภาคประชาชนต่อต้าน จนต้องพักโครงการอย่างไม่เป็นท่า ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ ทาง กอ.รมน. โดยหน่วยงานสันติสุขที่มี พล.ต.ธิรา เดหวา เป็นผู้อำนวยการ ได้ร่วมประชุมกับผู้บริหาร ศอ.บต. เพื่อหาทางออกของความขัดแย้งดังกล่าว โดยหน่วยสันติสุขรับลูกที่จะผลักดันโครงการดังกล่าวผ่านสภาสันติสุขในการขับเคลื่อน

ล่าสุด อาจารย์ชลิตา บัณฑุวงค์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความเห็นถึงกรณีที่ ศอ.บต. จ้างบัณฑิตอาสา (บัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิ) จำนวน 136 คน มาทำงานปูพรมระดับพื้นที่เพื่อสนับสนุนโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมที่จะนะนั้น เป็นเหมือนการตบหน้า และเย้ยหยันคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสำคัญ สะท้อนวิธีคิดของ ศอ.บต.ว่าพร้อมจะใช้เงิน และทำทุกทางเพื่อผลักดันโครงการฯ เพื่อเอาชนะ และปิดตาปิดปากประชาชนที่คัดค้าน ศอ.บต.เอาความยากจน และสภาวะการตกงานของผู้คนในพื้นที่มาเป็นเครื่องมือ สร้างความชอบธรรมให้แก่โครงการนี้ บัณฑิตอาสาเหล่านี้ไม่มีทางเลือก ทุกคนล้วนมาจากครอบครัวที่ฐานะไม่ดีนัก (ถ้ามีทางเลือกคงไม่อยากทำงานเงินเดือนน้อยๆ แบบนี้) พวกเขาเหมือนถูกเอามาเป็นตัวประกัน

ทั้งนี้ การที่บัณฑิตจบใหม่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมาก เรียนจบมาแล้วไม่มีงานทำ ต้องยังชีพวนไปด้วยการเป็นลูกจ้างของรัฐแบบเงินเดือนต่ำ ไร้สวัสดิการ ไร้อนาคต และมีสถานะเป็นเพียงคนรับใช้ของข้าราชการในพื้นที่นั้น ถือได้ว่าเป็นความล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐไทย และ ศอ.บต. ยังไม่พอรัฐไทย และ ศอ.บต.ยังผลักดันโครงการที่เอื้อทุนใหญ่ และทำลายฐานทรัพยากรในการดำรงชีพที่เหลือไม่มากแล้วของชาวบ้านลงไปอีก




กำลังโหลดความคิดเห็น