xs
xsm
sm
md
lg

“จะนะ” กับความขัดแย้งระลอกใหม่ภายใต้วาทกรรม “การพัฒนา” อีกแล้ว?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอลัมน์ : ใต้พรมการพัฒนา / โดย… พงศภัค วุฒิปุญญะ




“จะนะ” คือ 1 ใน 16 อำเภอของ จ.สงขลา มีอาณาเขตติดทะเลที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติมากพอสมควร เมื่อเทียบกับเมืองชายชายทะเลอื่นๆ ที่ถูกทำให้เป็น “เขตเศรษฐกิจ” ไปเสียหมดแล้ว นั่นก็ไม่รู้ว่าถือเป็นความโชคดีหรือโชคร้ายของชาวจะนะกันแน่ ซึ่งความรุนแรงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผืนแผ่นดินจะนะยังมีทรัพยากรในสภาพที่สมบูรณ์อยู่

กระนั้นก็ตาม ไม่ใช่ว่า อ.จะนะ จะรอดหูรอดตาของบรรดา “นักลงทุน” ที่มองเห็นโอกาสของในการใช้วาทกรรมการพัฒนาเข้าหลอกล่อ เพื่อสุดท้ายจะได้นำเอาทรัพยากรทุกอย่างไปแปรเป็นเม็ดเงินสร้างความร่ำรวยมหาศาลได้อย่างไม่สิ้นสุด

ช่วงต้นปี 2530 เป็นต้นมา มีการกว้านซื้อที่ดินอย่างขนานใหญ่ใน อ.จะนะ ของนายทุนใหญ่ระดับประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.เกาะแต้ว อ.เมือง และ ต.นาทับ อ.จะนะ ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกันของ 2 อำเภอใน จ.สงขลา

เมื่อลองไปไล่สำรวจที่ดินแปลงใหญ่ใน ต.เกาะแต้ว หรือ ต.นาทับ นั่นจะทำให้ได้เห็น “ตัวละคร” เดิมๆ ที่กำลังจะลงมา “พัฒนา” พื้นที่ อ.จะนะ ในปัจจุบัน

แน่นอนว่าคนที่เป็นธุระจัดการกว้านซื้อที่ดินก็ไม่ใช่ใครที่ไหนนั่นคือ “ลูกในบ้าน หลานในถิ่น” ผู้ซึ่งเป็นนักการเมืองหนุ่มใหญ่ ที่สลับเล่นในสนามการเมืองระดับท้องถิ่นกับระดับชาติมานาน ล่าสุด ก้าวจากบัลลังก์การเมืองท้องถิ่นสู่ระดับชาติได้สำเร็จภายใต้เสื้อคลุมสีฟ้า

ทั้งนี้ การกว้านซื้อที่ดินผืนใหญ่ๆ ไว้ในมือคราวนั้นก็เพราะได้รับรู้มาว่า พื้นที่ย่านนี้มีกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ต้องการนำไปพัฒนาต่อ โดยเฉพาะการตั้งฐานอุตสหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่แห่งใหม่ของประเทศ อันจะตามมาด้วยนิคมอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าต่างๆ มากมายตามมา

สำหรับชาวบ้านการที่มีนักการเมืองไปกว้านซื้อที่ดินเก็บไว้ในขณะนั้น คงรู้สึกไม่ต่างอะไรกับช่วงนาทีทอง เพราะราคาที่ดินเดิมซื้อขายกันแค่หลักหมื่นต้นๆ กลับมีราคาถีบตัวสูงขึ้นเป็นหมื่นปลายๆ ไปจนถึงหลักแสนก็มีให้เห็น โดยหารู้ชะตากรรมตนเองหรือไม่ว่า การขายที่ดินไปเท่ากับกวักมือเรียกการพัฒนา ซี่งอาจมีราคาที่ต้องจ่ายเพิ่มในอนาคตสูงลิบลิ่ว เมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่ได้จากการขายที่ดินที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่มากมายอะไรเลย

เดชะบุญที่การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในพื้นที่รอยต่อของ อ.เมือง กับ อ.จะนะ ไม่เกิดขึ้นตามที่คาดหวัง และวิกฤตเศรษฐกิจห้วงปี 2540 ทำให้นายทุนนักพัฒนาทั้งหลายมีชะตากรรมที่แตกต่างกันไป บางกลุ่มทุนต้องสูญเสียบริษัทลูกที่สร้างรายได้อย่างสำคัญเอามากๆ ไปเพราะพิษจากการกู้เงินต่างประเทศด้วยสภาพจำยอม อันเข้าทำนอง “เสียนิ้ว ดีกว่าเสียมือ”

ผ่านไปไม่ถึงทศวรรษ ช่วงต้นปี 2540 ชาว อ.จะนะได้ “รู้จักและเรียนรู้” เรื่องการพัฒนาอีกครั้งจากโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซีย เพื่อขุดเจาะก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพัฒนาร่วม (เจดีเอ) มีการก่อตั้งโรงแยกก๊าซใน ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ โดยถือว่าชาวบ้านได้บทเรียนราคาแพงอีกครั้ง

แน่นอนสำหรับ “นักพัฒนา” ทั้งหลายที่อยู่ในคราบข้าราชการ นักการเมือง ผู้นำท้องถิ่น พวกเขาพร้อมจะโพนทะนาว่าโครงการนี้จะทำให้ชาว อ.จะนะได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจ ชาวบ้านจะได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และลูกหลานจะได้มีงานดีๆ ทำ

แต่สำหรับผู้คนอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับข้อมูลจากกลุ่มเอ็นจีโอ กลับได้รับรู้ว่าเป็นโครงการที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมอย่างใหญ่หลวง ไม่ต่างไปจากการพัฒนาอุตสาหกรรมบนแผ่นดินภาคตะวันออก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกับคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลชุดต่างๆ ที่ผ่านมาก็ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหามลพิษในภาคตะวันออกได้เลย ปัจจุบันปัญหาเหล่านั้นก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข นี่ยังไม่รวมถึงผลกระทบทางสังคมต่างๆ นานาที่ทำลายอาชีพดั้งเดิมอย่างเกษตรกรรม หรือการประมงขนาดเล็ก

ตัวอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้นกับโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย ในห้วงเวลาที่ผลักดันแจ้งเกิดในพื้นที่ ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะนั้น โครงการนี้ได้ทำให้เกิดมลพิษจน “นกเขาไม่ขัน” (อ.จะนะ เป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงนกเขาชวาในระดับอาเซียน) การต่อต้านเลยเถิดไปจนเกิดความรุนแรงขนาดว่า เจ้าหน้าที่ต้องไล่ตีกลุ่มประท้วง ต่างฝ่ายต่างห้ำหั่นกันจนเป็นที่มาของม็อตโต้เท่ๆ ตามแบบฉบับเอ็นจีโอว่า “มึงสร้าง กูเผา”

สู้กันไป สู้กันมาระหว่าง “นักพัฒนา” ในคราบคนมีสีและกลุ่มทุนกับ “เอ็นจีโอ” โดยต่างฝ่ายต่างมีชาวบ้านเป็นฐานกำลัง แต่สุดท้ายโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียก็เกิดขึ้นได้สำเร็จ และที่ไม่เหมือนเดิมอีกเลยก็คือ เวลานี้คน อ.จะนะถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายที่พร้อมจะปะทะกันได้อย่างชัดเจน

ความวัวยังส่งกลิ่นสาบอยู่เลาๆ ความควายก็มาเยือน อ.จะนะอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นโครงการตั้ง “โรงไฟฟ้าจะนะ” ซึ่งก็มีความขัดแย้งกันพอประมาณ และแน่นอนยากล่อมประสาทชั้นดีของนักพัฒนาคือ โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเจดีเอผลิตนี้จะทำให้เศรษฐกิจดี และที่สำคัญจะมีการจ้างงานคนในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นอีกระลอก

ช่วงแรกยากล่อมประสาทเรื่องเศรษฐกิจออกฤทธิ์ค่อนข้างดี แต่ชาวบ้านมารู้ตัวอีกทีว่าแท้จริงแล้วโอกาสทางเศรษฐกิจของชาวบ้านจริงๆ คือ แรงงานราคาถูกในรูปของแม่บ้าน ยามหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของทั้ง 2 โครงการเท่านั้น เพราะแรงงานทักษะหลัก รวมถึงระดับหัวหน้างาน ผู้บริหารระดับกลางไปถึงระดับสูง ล้วนนำเข้ามาจากนอกพื้นที่ทั้งหมด

อย่างเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาชาว อ.จะนะ และชาว อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกันก็เกือบเป็นผู้โชคดีอีกครั้ง เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเพิ่มเติม มีการเดินหน้าศึกษาโครงการไปแล้ว กลุ่มนักพัฒนาก็มากว้านซื้อที่ดินไว้ขายให้ กฟผ.ฟันกำไรกันอุตลุด

และแน่นอนสำหรับนักพัฒนายากล่อมประสาทชุดเดิมก็ถูกเอามาขายให้ชาวบ้านอีกครั้ง กล่าวคือ โครงการนี้หากเกิดขึ้นได้จะทำให้คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชาวบ้านใน อ.เทพาและ อ.จะนะดีขึ้นอีกครั้งอย่างแน่นอน อ้าว...ไชโย ไชโย ไชโย!!

เดชะบุญที่สถานการณ์ทั่วโลกและแรงคัดค้านจากหลายฝ่ายทำให้รัฐบาลชะลอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินออกไป และมีคำสั่งให้ กฟผ.ไปทบทวนผลการศึกษาใหม่ ส่งผลให้เอ็นจีโอเก็บคะแนนได้ในครั้งนี้ หลังจากเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำมาแล้วถึง 2 ครั้ง แน่นอนชุมชนชาว อ.เทพาเองก็ได้ถูกฉีกออกเป็น 2 ฝ่ายแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นที่ อ.จะนะ แม้โครงการจะยุติชั่วคราวไปแล้วก็ตาม

ล่าสุด ที่กำลังเดินหน้ากันอยู่ในตอนนี้ ซึ่งมี “ตัวละครกลุ่มเดิมๆ” ที่เข้าไปเกี่ยวข้องอีกครั้ง เริ่มจากนักการเมืองหนุ่มในสมัยโน้น ซึ่งวันนี้เติบโตเป็นนายทุนพรรคไปเรียบร้อยแล้ว และกำลังลิ้มรสกับตำแหน่งเสนาบดีครั้งแรก เป็นผู้อาสาเป็นแก่นแกนกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านอีกครั้ง

สำหรับการกว้านซื้อที่ดินระลอกใหม่มีพรายกระซิบให้ทราบว่า ราคาที่ซื้อจากชาวบ้านไม่เกิน 300,000 บาท/ไร่ แต่เมื่อนำไปขายให้แก่กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ราคาจะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างต่ำ 500,000-700,000 บาท/ไร่ หากเป็นที่ดินริมทะเลจะขยับขึ้นเป็นหลักเกินกว่า 1,000,000 บาท/ไร่

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในฟากฝ่ายกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่นั้น เวลานี้มีตัวละครสอดแทรกเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ แต่แท้จริงแล้วมีความสืบเนื่องมาจากตัวละครเก่าๆ นั่นแหละ เพราะเครืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีเดิมได้ถูกบีบให้เปลี่ยนมือไปให้บริษัทพลังงานแห่งชาติ จึงได้ถูกชักชวนให้บริษัทลูกด้านปิโตรเคมีเข้ามามีเอี่ยวด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นพลังหนุนเสริมกันและกัน

สำหรับโครงการที่จะเข้ามาพัฒนาบนแผ่นดินของ อ.จะนะครั้งใหม่ มีการโฆษณาว่า นวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเลยทีเดียว ซึ่งแตกต่างจากนิยายหลอกชาวบ้านเล่มเก่าๆ เพราะอ้างถึงความปลอดภัยไร้กังวลในเรื่องของมลพิษ การันตีอย่างนักหนาว่าจะไม่ซ้ำรอยกับที่เคยเกิดขึ้นในภาคตะวันออกมาแล้วอย่างแน่แท้

อย่างไรก็ตาม ยากล่อมประสาทขนานแท้และดั้งเดิมยังคงถูกหยิบมาใช้อีกครา แต่ครั้งนี้บริบทเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะนักการเมืองผู้ทรงอำนาจใช้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเรื่องปัญหาภาคใต้อย่าง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้ออกหน้าแทน โดยใช้ชื่อโครงการอันสวยหรูว่า “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” หรือเรียกง่ายๆ ว่า “โครงการอุตสาหกรรมต้นแบบจะนะ”

ที่ผ่านมา อ.จะนะ เพิ่งมีการจัดทำผังเมืองใหม่ ซึ่งจากการทำเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน พบว่า ล้วนต้องการให้คงความเป็นแผ่นดิน “สีเขียว” ไว้ให้ได้มากที่สุด แต่กลับเกิดปรากฏการณ์พยายามผลักดันให้รองรับนิคมอุตสาหกรรมจากเบาไปสู่หนักหรือทา “สีม่วง” ทาบทับไปในหลายแห่ง

พร้อมๆ กับช่วงหลายเดือนมานี้มีความพยายามเดินหน้าจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชน แต่ก็เป็นไปแบบพิกลพิการเพราะต้องการแต่เสียงสนับสนุนโครงการเท่านั้น โดยได้โชว์ตัวเลขด้านเศรษฐกิจอย่างสวยหรูเพื่อแลกคะแนะเห็นด้วย โดยไม่ผ่านหน่วยงานภายในจังหวัดแม้แต่หน่วยงานเดียว

ในส่วนของ ศอ.บต.เองแม้จะไม่ถือเป็นตัวละครใหม่ แต่กลับมีผู้บริหารหน้าหยกมากอนาคต ที่สำคัญถือเป็น “ดร.หนุ่มไฟแรง” ในตำแหน่ง “รองเลขาธิการ” เพิ่มมาเป็นตัวละครใหม่ชนิดที่สังคมต้องจับตาอย่างเป็นพิเศษ โดยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบผลักดันโครงการอย่างแข็งขัน

ดร.หนุ่มใหญ่ไฟแรงแซงทางโค้งคนใน ศอ.บต.มาอย่างต่อเนื่อง ขยันถึงขนาดว่า ช่วงที่มีสถานการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาดหนักในพื้นที่ แต่เขาเองก็หาญกล้าที่จะเดินหน้าจัดเวทีรับฟังเสียงชาวบ้านอย่างไม่ลดละ จนถึงขั้นมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าคงไม่ได้คิดถึงแต่ประโยชน์ของชาวบ้านหรือนายทุนแต่เพียงอย่างเดียวเสียแล้วกระมัง

ล่าสุด เมื่อเริ่มมีเสียงคัดค้านหนาหู และเสียงต่อรองจากชาวบ้านบางกลุ่มที่บอกเห็นด้วย แต่จะขอมีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย เพราะไม่อยากจะเป็นแค่แม่บ้านหรือยามในโครงการนี้เท่านั้น พระเอกตัวจริงก็โผล่มาอีกครั้งนั้นคือ “ทหาร” ในนาม “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” โดยล่าสุดได้ประกาศใช้โมเดล “ชุมชนสันติสุข” เป็นเวทีในการชี้แจงกับชาวบ้านเพื่อผลักดันโครงการร่วมกับฝ่ายพลเรือนคือ ศอ.บต.

พูดมาถึงตรงนี้ทำให้ตะขิดตะขวงใจขึ้นมาทันที เพราะวันนี้ดูเหมือนว่า “ทหาร” จะรวบเอาทุกงานและทำทุกหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเสียแล้ว เรื่องราวไฟใต้ก็ยังคาราคาซัง แต่กลับจะผันตัวมาเป็น “นักพัฒนา” กับเขาด้วย

หรือว่าสังคมต้องยอมรับกันให้ได้เสียทีว่า “ทหารไทยไม่แพ้ทหารชาติใดในโลก” ส่วนเรื่องคุณภาพก็คงต้องไปพิจารณากันเองเองตามวุฒิภาวะของผู้อ่านก็แล้วกัน

แน่นอนว่าสำหรับชุมชนชาว อ.จะนะ ณ วันนี้พวกเขากำลังอยู่ในบทเรียนของความขัดแย้งอีกคราครั้ง ซึ่งทั้งผมและท่านผู้อ่านต่างก็ไม่อาจคาดเดาว่า โครงการปลุกปั้น “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ แต่ที่จริงแท้แน่นอนคือ ชุมชนชาว อ.จะนะ คงถูกฉีกแยกแตกขั้วอีกครั้งแล้ว เพื่อสังเวยเจตนารมณ์ของเหล่า “นักพัฒนา” ในคราบข้าราชการ นักการเมือง ผู้นำท้องถิ่น และเหล่าทหารหาญ

ท้ายที่สุดเมื่อเมฆหมอกแห่งความขัดแย้งจะคลี่คลายได้หรือไม่ หรือชาว อ.จะนะ ถูกปล่อยให้ล่องลอยไปตามยถากรรมเช่นเดิม ก็ต้องจับตากันต่อไป แต่ที่แน่ๆ ย่อมทิ้งบาดแผลฝังใจไว้ให้คน อ.จะนะอีกคราครั้งอย่างไม่ต้องสงสัย?!


กำลังโหลดความคิดเห็น