xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ มรส.โต้มาตรการลดความขัดแย้งอ่าวบ้านดอนของอธิบดีกรมประมง เอื้อนายทุน-ปลุกประมงพื้นบ้านต้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดร.ประวีณ จุลภักดี อาจารย์พิเศษ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
สุราษฎร์ธานี - นักวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โต้อธิบดีกรมประมง พื้นที่ชุมน้ำอ่าวบ้านดอน อ.พุนพิน และ อ.เมือง ไม่สามารถอนุญาตให้เลี้ยงหอยแครงได้ พร้อมระบุมาตรการลดความขัดแย้ง เหมือนเอื้อนายทุน ปลุกประมงพื้นบ้านออกมาต่อต้าน

จากกรณีที่นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เตรียมจัดการทรัพยากรหอยแครง อ่าวบ้านดอน โดยระบุให้มีการบูรณาการกำลังทุกภาคส่วนในพื้นที่ร่วมกันบังคับใช้กฎหมาย ในการจัดการแปลงหอยแครงที่รุกล้ำพื้นที่สาธารณะ ให้เป็นพื้นที่ทำการประมงของชาวประมง และใช้กลไกของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด เพื่อบริหารจัดการพื้นที่เหมาะสมกับการเลี้ยงหอยทะเล พร้อมประกาศให้เป็นพื้นที่เลี้ยงหอยตามขั้นตอนต่อไป โดยให้สิทธิชาวประมงพื้นบ้านในการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นอย่างถาวร ในพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ อ่าวบ้านดอน ตามติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ได้ประกาศขึ้นทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติของประเทศไทย โดยระบุพื้นที่อ่าวบ้านดอนในเขตของอำเภอพุนพิน และเขตอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนนานาชนิด พร้อมทั้งเป็นแหล่งกำเนิดลูกหอยแครงตามธรรมชาติ จึงไม่สามารถอนุญาตให้มีการเพาะเลี้ยงหอยแครงโดยเด็ดขาด


ล่าสุด วันนี้ (18 มิ.ย.) ดร.ประวีณ จุลภักดี อาจารย์พิเศษ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจว่าเป็นข้อกำหนดหรือไม่ แต่ถ้าในความเข้าใจคงไม่ใช่เป็นแค่การดำเนินการในส่วนของกรมประมงเพื่อลดความขัดแย้ง แต่ถ้าเป็นมุมมองในเรื่องนี้เหมือนกับเป็นการเรียกแขกในกลุ่มของประมงพื้นบ้านที่เข้าไปใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่สาธารณะ แต่ถ้าตีความในข้อที่ 2 เท่ากับเป็นการเข้าข้างผู้ประกอบการชัดเจน อาจเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ของกรมประมง มองว่าหากอธิบดีมีแนวทางมาเป็นแบบนี้เท่ากับว่าล้าหลังพอสมควร ขณะนี้มี พ.ร.บ.การส่งเสริมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อีกทั้งกฎหมายที่พี่น้องใช้ประโยชน์ร่วมกันในการดูแลฟื้นฟูอนุรักษ์ในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน กฎหมายตัวที่ 2 คือกฎหมาย ศรชล.(ศูนย์รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล) ในการกระทำใดๆ จะอาศัยกฎหมายของกรมประมงคงไม่ได้ เพราะองค์ประกอบมีกระบวนการสิทธิตามรัฐธรรมนูญไปไกลกว่าที่จะใช้กฎหมายตัวใดตัวหนึ่งมาจัดการกับทรัพยากรของส่วนรวม

“ณ วันนี้ในพื้นที่อ่าวบ้านดอน มีการอนุญาตพื้นที่เลี้ยงทั้งหอยแมลงภู่ หอยแครง หอยนางรม ชาวประมงพื้นบ้านมีภูมิความรู้ในการพิจารณา ในการอนุญาตโดยคณะกรรมการประมงจังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดใน ปี 2560 มีการอนุญาต 39,800 กว่าไร่ มีการตั้งอนุกรรมการมีประมงเป็นอนุกรรมการ และชัดเจนว่าพื้นที่ อ.เมือง และ อ.พุนพิน ไม่เหมาะสำหรับการเลี้ยงหอยแครง เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อนบางฤดูกาล” ดร.ประวีณ กล่าวและว่า


การที่อธิบดีกรมประมงให้แนวทางมาแบบนี้ ไม่ใช่แนวทางใหม่ หากมีการอนุญาตให้เพาะเลี้ยงเพิ่มเติม คิดว่าชาวประมงพื้นบ้านไม่ยอมอย่างแน่นอน เท่ากับเป็นการลิดรอนสิทธิทำกินของชาวบ้าน จึงไม่ควรที่จะอนุญาตเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เลี้ยงหอยในพื้นที่ไม่รับอนุญาต เมื่อมีคำสั่งจากทางผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.63 ที่ผ่านมา หลายคนแสดงสปริตของตัวเองร่วมมือกับทางราชการรื้อคอกหอยตัวเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น