xs
xsm
sm
md
lg

“อ.ไชยณรงค์” แนะหยุดมาเฟียยึดครองทะเล และจัดการ “อ่าวบ้านดอน” อย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภาคใต้ - “อ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ” โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแนะหยุดมาเฟียยึดครองทะเล และจัดการ “อ่าวบ้านดอน” อย่างยั่งยืน

วันนี้ (17 มิ.ย.) จากเฟซบุ๊กในชื่อ “Chainarong Setthachua” ของอาจารย์ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระบุว่า...

หยุดมาเฟียยึดครองทะเลและจัดการอ่าวบ้านดอนอย่างยั่งยืน

ตลอดสัปดาห์ที่แล้ว อ่าวบ้านดอนที่ถูกสังคมลืมว่าเคยเกิดความขัดแย้งมานานได้กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง โดยเฉพาะหลังจากมีนายทุนไลฟ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ขณะขี่เจ็ตสกีไล่ยิงปืนขู่ชาวประมงพื้นบ้าน และขอความเห็นอกเห็นใจจากสังคม

หลังเหตุการณ์นั้น สังคมรู้สึกเห็นอกเห็นใจนายทุน แถมด้วยการตราหน้าว่าชาวบ้านเป็นโจร เห็นแก่ตัว นายทุนอุตส่าห์ลงทุนไปนับล้าน ยิ่งไปกว่านั้น กำนันคนดังคนหนึ่งรอบอ่าวบ้านดอนก็ออกมาปกป้องนายทุน และช่วยผลิตซ้ำให้ชาวบ้านเป็นโจร

ในฐานะคนที่เติบโต และเห็นอ่าวบ้านดอนในวัยเยาว์ และสนใจปัญหาการเมืองเรื่องทรัพยากร ผมไม่อาจทนเห็นตรรกะที่วิบัติที่ป้อนสู่สังคมผ่านสื่อออนไลน์ และสื่อหลักได้ จึงเขียนบทความนี้ขึ้นมา

สิ่งสำคัญที่สังคมต้องเข้าใจในกรณีนี้ก็คือ

ประการแรก อ่าวบ้านดอนเป็นสมบัติของชาติ และมีกฎหมายคุ้มครองไม่แตกต่างจากทรัพยากรอื่นๆ เช่น ป่าไม้ หรือที่หลวง ดังนั้น ใครไปจับจองแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวย่อมกระทำไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย (กรณีป่าไม้ที่ดินอาจแตกต่างออกไปเพราะมีการประกาศป่าทับที่ทำกินของชาวบ้าน แต่ทะเลไม่ทับใครแน่นอน) ดังนั้น ใครที่ยึดทะเลมาเป็นสมบัติส่วนตัว ไปกั้นแปลงและปล่อยหอย หรือสร้างขนำ สร้างบ้านพักหรือโฮมสเตย์ผิดกฎหมายแน่ๆ เอาง่ายๆ แค่สร้างแคร่เล็กๆ บนลำธารสำหรับกินกาแฟของร้านกาแฟที่เชียงใหม่ยังผิดกฎหมายเลย แต่กรณีอ่าวบ้านดอนทำกันยิ่งกว่านั้นมาก ถ้าจะเทียบก็เทียบได้กับกรณีของปารีณาที่ยึดที่ป่าสงวนแห่งชาติหลายร้อยไร่ทำฟาร์มไก่นั่นเอง คนกลุ่มนี้ยึดทรัพยากรส่วนรวมไปเป็นสมบัติส่วนตัวก็ต้องอาศัยอิทธิพลมืดล้วนๆ

ประการที่สอง แม้ทะเลเป็นสมบัติของชาติตามกฎหมาย แต่สิทธิเหนือทรัพยากร คือสิทธิของส่วนรวมที่ทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยไม่ส่งผลต่อการละเมิดสิทธิของคนอื่น อ่าวบ้านดอนจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของส่วนร่วม (common property) ที่ชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวบ้านดอนอาศัยทำมาหากินมาหลายชั่วอายุคน ไม่มีใครเป็นเจ้าของหรือมีกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ทะเล แต่นายทุนกลับไปยึดครองมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิด การไปยึดครองทะเลจึงเท่ากับแย่งยึดที่ทำมาหากินของชาวประมงพื้นบ้าน ไม่แตกต่างไปจากยึดที่ดินทำกิน วันหนึ่งชาวประมงพื้นบ้านทนไม่ไหว เพราะนั่นคือที่ทำมาหากินร่วมของพวกเขา แต่สังคมกลับเห็นอกเห็นใจนายทุน เพราะสังคมนี้มองปัญหาที่ปลายท่อเท่านั้น ไม่มองว่านายทุนยึดที่ทำกินของชาวบ้านไปนานแล้ว ทำให้ชาวบ้านต้องยากลำบากมานาน และเป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมด ที่ผ่านมา กรณีอ่าวบ้านดอน ไม่ใช่ไม่มีการประท้วงจากชาวประมงพื้นบ้านนะครับ แต่มีบ่อยครั้ง เพียงแต่ไม่ได้เป็นข่าวดังเหมือนครั้งนี้

ประการที่สาม เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น เราได้เห็นตัวละครมากมายที่โลดเล่นบนเวทีอ่าวบ้านดอน และสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลที่ชัดเจน เราได้เห็นนายอำเภอคนหนึ่งแทนที่จะรักษากฎหมาย แต่กลับปกป้องผลประโยชน์ของนายทุน ถึงขั้นจับกุมชาวบ้าน และประกาศว่า “ใครเข้ามาใกล้ ยิง” เราได้เห็นว่า คนที่ไปคุ้มครองคอกหอยผิดกฎหมายมีบัตรเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงด้วย เราได้เห็นว่า คนที่รีบไปประกันตัวเจ้าของคอกหอยผิดกฎหมายที่เอาปืนไล่ยิงขู่ชาวประมงพื้นบ้าน คือกำนันดังในพื้นที่ และกำนันยังออกแถลงปกป้องผลประโยชน์ของคนที่ผิดกฎหมาย และบิดเบือนข้อมูล รวมทั้งสร้างตรรกะวิบัติขึ้น ทั้งที่กำนันน่าจะรู้แก่ใจดีว่าผู้มีอิทธิพลคนไหนที่ไปยึดครองพื้นที่ทะเลนับหมื่นไร่ และต่อมาก็แบ่งขายให้นายทุน การที่มีคนออกมาปกป้องผลประโยชน์ของเจ้าของคอกหอยผ่านสื่อ คนที่รู้ทันตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการตกลงหลักประกันในการทำธุรกิจผลิตหอยแครงบนพื้นที่ที่ผิดกฎหมาย ดังนั้น จึงต้องออกมาปกป้องผลประโยชน์อย่างถึงที่สุด ดังจะเห็นว่ามีการสร้างเงื่อนไขมากมายตลอดเวลาในการให้สัมภาษณ์สื่อ เช่น รื้อก็ต้องรื้อพร้อมกัน หรือให้นายทุนเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ก่อน สังเกตดีๆ ครับว่ามีข้อเสนอที่ลากยาวไปถึง 2 ปี เป็นต้น หากค้นข่าวย้อนหลังไปถึงปี 2560 เราก็ได้เห็นว่า ตัวละครมากมายที่สะท้อนอิทธิพลในอ่าวบ้านดอน ถึงขนาดแม่ทัพภาพ 4 ยังเคยแถลงข่าวว่าจะจัดการกับเจ้าหน้าที่ก่อน แล้วจึงจัดการมาเฟียที่สร้างคอกหอยผิดกฎหมาย แต่ผ่านปีสองปีกว่าก็ยังอีหรอบเดิม

ประการที่สี่ ตรรกะที่สำคัญที่นายทุน (หลังไล่ยิงขู่ชาวบ้าน) และกำนันคนดังแถลงต่อสื่อก็คือ หนึ่ง ทะเลเหมือนที่สาธารณะ ตนเอาวัวไปปล่อย ชาวบ้านจะมาจับวัวไม่ได้ ชาวบ้านก็คือโจร คือฟังแล้วคล้อยตามได้ง่าย แต่ทะเลไม่ใช่ที่ดินสาธารณะครับ และหอยก็ไม่ได้เปรียบได้กับวัว ถ้าจะเปรียบเทียบจริงๆ ต้องเปรียบทะเลคือป่า ในป่ามีเห็ดขึ้นเองตามธรรมชาติ เห็ดนั้นชาวบ้านไปเก็บกันทุกปี ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่วันหนึ่งมีคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว อาศัยอิทธิพลเข้าไปกั้นเขตป่า แล้วเอาเชื้อเห็ดไปปล่อย ห้ามคนอื่นเข้าไปเก็บเห็ด อ้างว่าเป็นเห็ดของตน ไปสร้างขนำ สร้างบ้านพัก ให้มือปืนมาเฝ้าเห็ด ใครเข้ามาก็ไล่ยิง เปรียบเทียบแบบนี้น่าจะตรงมากกว่าการปล่อยวัว

สอง มีการอ้างว่าจังหวัดอนุญาตให้ทำประมงเพาะหอยแครงที่อ่าวบ้านดอนได้โดยมีการพูดคุยที่ค่ายทหาร แต่เท่าที่มีข้อมูล ไม่มีหลักฐานใดๆ ว่าราชการมีการอนุญาตให้ทำได้ แต่ข้อมูลเชิงลึกก็คือมีการตกลงกันระหว่างคนบางกลุ่ม ในสถานที่แห่งหนึ่งหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นการตกลงที่ขัดต่อกฎหมาย โดยที่มีการจัดตั้งชาวประมงฝ่ายนายทุนเข้าไป ขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านต้องการจะเข้าไปด้วย 10 คน แต่ในที่สุดต้องถอนตัวเพราะเกรงว่าจะถูกอุ้ม

สาม กำนันอ้างว่าที่อื่นๆ ก็ทำผิดกฎหมาย พร้อมยกตัวอย่างประกอบ ทำไมไม่จัดการ ทำไมจัดการแต่คอกหอยแครงที่สุราษฎร์ฯ คำถามก็คือ รู้ทั้งรู้ว่าผิดกฎหมาย แต่ทำไมกำนันจึงมีข้ออ้างเช่นนี้ เพราะกำนันมีหน้าที่รักษากฎหมาย โดยตำแหน่งมีเงินเดือนที่เป็นภาษีประชาชน เปรียบได้กับตำรวจ ต้องจับคนขับที่ฝ่าฝืนสัญญาณจราจร แต่พอเป็นคนรู้จักกลับไม่จับ อ้างว่าคนอื่นก็ฝ่าฝืนจราจร หากเจ้าหน้าที่รัฐคิดเช่นนี้ นอกจากเปลืองภาษีประชาชนแล้ว ตรรกะนี้หากพิจารณาในมิติของทรัพยากร ก็จะนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรของส่วนรวม

ประการที่ห้า อ่าวบ้านคือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 หมายความว่า อ่าวบ้านดอนมีระบบนิเวศที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ เพียงแต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาแรมซาร์ ความจริงแล้ว อ่าวบ้านดอนยังเชื่อมต่อกับแม่น้ำตาปี ที่ ครม.มีมติให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติด้วย ความจริงแล้ว อ่าวบ้านดอนยังเชื่อมต่อกับแม่น้ำตาปี ที่ ครม.มีมติให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติด้วย การเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติแสดงให้เห็นว่า อ่าวบ้านดอนไม่ได้มีความสำคัญแค่การเป็นแหล่งเกิด และขยายพันธุ์หอยแครงเท่านั้น แต่ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพรรณไม้ป่าชายเลน พันธุ์สัตว์ป่าในป่าชายเลน พันธุ์สัตว์น้ำ และนกน้ำ ทั้งในป่าชายเลน และทะเล การจัดการอ่าวบ้านดอนต้องยึดหลักการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหลักสากล และในอนาคตควรขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศตามอนุสัญญาแรมซาร์

นี่เป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้อ่าวบ้านดอนอยู่รอดถึงลูกถึงหลาน และเป็นครรภ์ของทะเลไทย รวมทั้งมีคุณค่าในเชิงอนุรักษ์ในระดับสากลด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น