xs
xsm
sm
md
lg

ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ยกเลิกประกาศกรมศิลป์ลดพื้นที่ “เขายะลา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภาคใต้ - เครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ขอให้ยกเลิกประกาศกรมศิลปากรเรื่องการแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานเขายะลา พร้อมขอข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการทำเหมืองหินบริเวณเขายะลา

วันนี้ (17 มิ.ย.) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นายวรา จันทร์มณี ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา นายสมบูรณ์ คำแหง ที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) และคณะ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ยกเลิกประกาศกรมศิลปากร เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานในขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสี เขายะลา ต.ลิดล และ ต.ยะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ที่ได้ลดเขตจาก 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา เหลือ 697 ไร่ 75 ตารางวา เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2562 และขอให้สํารวจสภาพพื้นที่และตรวจสอบการทําเหมืองหินปูน บนเขายะลา

รวมทั้งขอทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ในบริเวณดังกล่าว ประกอบด้วย การขอประทานบัตร เอกสารประกอบคําขอประทานบัตร และเงื่อนไขท้ายประทานบัตร แผนผังพื้นที่โครงการ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รายงานประจำเดือนในการตรวจสอบพื้นที่เหมืองแร่ รายงานการขนส่งแร่ รายงานการจ่ายค่าภาคหลวงแร่ ข้อมูลการต่ออายุประทานบัตรเขายะลา ประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรมพื้นที่จังหวัดยะลา หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในป่าไม้/ป่าสงวนแห่งชาติ/พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A

นายวรา กล่าวว่า จากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศเปรียบเทียบตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีการทำลายภูเขาในเขตที่กรมศิลปากรประกาศให้ลดเขตเรื่อยมา จึงมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม การระเบิดย่านเขายะลาเป็นการทำลายแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญ โดยภาพเขียนสีดำยาว 3 เมตร บริเวณโพรงถ้ำด้านตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งห่างจากจุดระเบิดหินที่ ต.ลิดล เพียง 500 เมตร ได้พังถล่มลงมาแล้ว เหตุเพราะภูเขาหินปูนมีฐานรากเดียวกัน ระเบิดตรงไหนก็สั่นสะเทือนถึงกันหมด

“เขายะลาเป็นเขตป่าต้นน้ำชั้น 1A และมีพื้นที่รอยต่อเป็นป่าต้นน้ำชั้น 1B ในส่วนฐานของภูเขาซึ่งโดนระเบิดทำลายไปมากแล้ว ส่วนฐานของภูเขาทั้งใน ต.ยะลา และ ต.ลิดล คือกลุ่มเขาเดียวกัน มีระบบนิเวศเชื่อมโยง มีป่าไม้ สิ่งปกคลุมตามธรรมชาติ มีพื้นที่ซับน้ำสำหรับการทำนาและการใช้สอย การระเบิดทำลายจึงเป็นการตัดห่วงโซ่ทางธรรมชาติที่มีมานานนับพันปี ซึ่งน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ภูเขาไม่ใช่หน่อไม้ที่จะงอกใหม่ได้” นายวรา กล่าว

นายวรา กล่าวว่า การทำเหมืองหินมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่มากมาย เช่น มีเสียงดังรบกวน ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนไปทั่วบริเวณคล้ายแผ่นดินไหว สร้างความหวาดผวาจากเสียงดัง สุขภาพจิตเสีย ส่งผลให้บ้านเรือนที่อยู่อาศัยเกิดสภาพแตกร้าว บางครั้งมีก้อนหินปลิวใส่หลังคาบ้านเรือน หรือตกใส่ที่ดินของประชาชน ซึ่งอยู่รายรอบเขา นอกจากนั้น ยังมีความเดือดร้อนจากฝุ่นละออง ทั้งจากการระเบิดและการขนส่งลําเลียง สร้างความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น