ตรัง - สัสดี จ.ตรัง สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงสาวพนักงานการเงิน หลังจู่ๆ 2 อดีตนายทหารได้ตกเป็นเหยื่อเงินกู้รายละ 6 แสน ทั้งที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่องและไม่เคยไปยื่นเรื่องต่อธนาคารเลย
วันนี้ (17 มิ.ย.) จากกรณีที่ ร.ต.ทักษิณ สัมฤทธิ์ อายุ 60 ปี ข้าราชการบำนาญทหาร อยู่บ้านเลขที่ 143 หมู่ 5 ต.นาโยงเหนือ อ.นาโยง จ.ตรัง ได้เข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองตรัง เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อเอาผิดต่อ น.ส.พชร จันทร์ดำ พนักงานการเงินและบัญชี สำนักงานสัสดีจังหวัดตรังและพวก ที่ร่วมกันทุจริตปลอมแปลงเอกสาร และลอบนำหนังสือรับรองสิทธิในบำเหน็จตกทอด เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันการกู้เงินของ ร.ต.ทักษิณ ไปทำธุรกรรมกู้เงิน ซึ่งเป็นบำเหน็จตกทอดจากธนาคารกรุงเทพ สาขาตรัง ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2562 จำนวนสูงถึง 600,000 บาท
โดยทางธนาคารเสนอหักเงินบำเหน็จตกทอดจากกรมบัญชีกลางโดยตรง เดือนละ 3,950 บาท ซึ่งผู้เสียหายคือ ร.ต.ทักษิณ มาทราบเรื่องวันที่ผู้เสียหายขึ้นไปที่สำนักงานสัสดีจังหวัดตรัง เพื่อยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองสิทธิฯ ดังกล่าวจากสำนักงานสัสดีจังหวัด เพื่อจะกู้เงินไปสร้างขนำในสวน ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้สร้างความตกใจให้แก่ข้าราชการบำนาญทหารเป็นอย่างมาก จึงมีการเร่งตรวจสอบสถานะของตนเองกับกรมบัญชีกลาง
จนกระทั่งล่าสุด เพื่อนข้าราชการบำนาญทหารและลูกชาย ได้อุ้มผู้เสียหายที่ตรวจสอบรายล่าสุด คือ ร.ท.นฤทธิ์ รัตนพันธ์ อายุ 62 ปี ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญ และเป็นผู้ป่วยติดเตียงด้วยโรคเส้นเลือดใหญ่ในสมองตีบ มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 มาขึ้นศาลากลางจังหวัดตรัง เพื่อพบกับ พ.อ.ชยพล โชคจิรบวรเดช สัสดีจังหวัดตรัง หลังกรมบัญชีกลางยืนยันว่า เป็นหนี้เงินกู้เป็นเงินเกือบ 600,000 บาท และกรณีนี้ น.ส.พชร พนักงานการเงินและบัญชี สำนักงานสัสดีจังหวัดตรัง ได้ให้การปฏิเสธว่า ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ต่อหน้าสัสดีจังหวัด ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง และ ร.ท.นฤทธิ์ ผู้เสียหายรายที่ 2
ขณะที่ต่อมามีรายงานว่า ทางครอบครัวของ น.ส.พชร ได้นำเงินกว่า 8 แสนบาท มาจ่ายคืนให้แก่ ร.ต.ทักษิณ ผู้เสียหายรายแรกแล้ว แบ่งเป็นเงินกู้ จำนวน 13 เดือน เป็นเงิน 51,350 บาท และเงินชดเชยเยียวยา 220,000 บาท รวมชดใช้ ร.ต.ทักษิณ จำนวน 271,350 บาท และยังชดใช้ให้ธนาคารกรุงเทพ สาขาตรัง จำนวน 540,000 บาทด้วย
ล่าสุด พ.อ.ชยพล โชคจิรบวรเดช สัสดีจังหวัดตรัง กล่าวว่า ขณะนี้ตนเองได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวขึ้นมาแล้ว 1 ชุด เพื่อหาข้อเท็จจริง เพื่อใช้ประกอบหลักฐานต่างๆ ถ้าหากว่า น.ส.พชร ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชากระทำความผิดจริง ก็จะดำเนินการลงโทษทางวินัย
ผู้สื่อข่าวถามว่า เกิดข้อบกพร่องหรือมีช่องว่างตรงไหน ทำให้ น.ส.พชร สามารถไปรับหนังสือสำคัญจากห้องคลังจังหวัดตรัง แทนที่จะเป็นคนยื่นขอ พ.อ.ชยพล กล่าวว่า เรื่องการไปรับเอกสารนั้น ปกติเจ้าตัว (ข้าราชการบำนาญผู้ยื่นขอ) จะต้องไปรับเอง แต่ที่พนักงานของตนเองไปรับแทน เพราะต้องการจะบริการให้แก่ข้าราชการบำนาญ ซึ่งจริงๆ แล้วถือว่าเป็นการกระทำเกินหน้าที่
ซึ่งในเบื้องต้นตอนนี้ตนเองได้ออกคำสั่งให้พนักงานคนนี้พ้นไปจากหน้าที่ด้านการเงินแล้ว และให้ไปทำงานด้านอื่นแทน ในขณะเดียวกัน ก็กำลังจะพิจารณาว่าจะส่งพนักงานคนนี้กลับต้นสังกัดคือ มณฑลทหารบกที่ 43 อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช หรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากพนักงานสอบสวนตรวจสอบแล้วว่ามีความผิดจริง ทางสำนักงานสัสดีก็ต้องลงทัณฑ์ขั้นสูงสุด คือ การไล่ออก และรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาให้รับทราบ
ทั้งนี้ ในส่วนของ น.ส.พชร มีสัญญาการทำงานปีต่อปี และจะหมดอายุการทำงานในเดือนกันยายน 2563 ซึ่งเป็นพนักงานราชการที่สอบมาจากมณฑลทหารบกที่ 43 และส่งมาให้ปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานสัสดีจังหวัดตรัง แต่ในเบื้องต้นเท่าที่สอบถามและสอบสวนข้อเท็จจริง เจ้าตัวยังคงให้การปฏิเสธ พร้อมยืนยันว่าที่ลงไปรับเอกสารของข้าราชการบำนาญเองนั้น เพราะต้องการให้บริการตามขั้นตอน โดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับการกู้เงิน เพียงแค่กรอกข้อมูลและออกเอกสารให้เป็นไปตามระเบียบเท่านั้น แต่ยอมรับความบกพร่องเรื่องการเก็บเอกสาร ซึ่งถ้าผลการสอบสวนออกมาเรื่องการเก็บเอกสารอะไรต่างๆ จะพิจารณาลงทัณฑ์ในเบื้องต้นก่อน แต่หากพนักงานสอบสวนส่งข้อมูลมาว่ามีส่วนพัวพันร่วมกระทำความผิดจริง ก็จะดำเนินการอื่นๆ ตามขั้นตอนต่อไป
ส่วนจะมีข้าราชการบำนาญรายอื่นๆ ตกเป็นเหยื่อถูกยื่นกู้อีกหรือไม่ ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลบุคคลที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานสัสดี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 200 คนว่าได้มีการกู้เงินหรือไม่ อย่างไร และถูกต้องหรือไม่ เผื่อถ้าเกิดมีปัญหาเกิดขึ้นมาอีกจะได้ดำเนินการในครั้งเดียวกันเลย