xs
xsm
sm
md
lg

“นุชวรา ปูรณัน” ในระหว่างความสัมพันธ์ ผู้คน-ชุมชน-สิ่งแวดล้อม ใครกันที่ถูกหลงลืมทิ้งไว้ Eco School แหล่งเรียนรู้เพื่อการอยู่รอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เรื่อง : ขวัญฤทัย ปานนุ้ย / รูป : โตมร อภิวันทนากร



วัฒนธรรมการเรียนรู้ของไทยมักเน้นแต่เนื้อหาและการท่องจำ ให้ความสำคัญต่อคะแนนผลการเรียนเป็นหลัก ระบบการศึกษา ไม่เอื้อให้เกิดทั้งการเรียนและการสอนที่มีคุณภาพ ผู้สอนมีภาระงานนอกเหนือการสอน จนไม่ได้ให้ความสำคัญต่อผู้เรียนเป็นหลัก ผู้เรียนต้องเรียนในเรื่องที่ไม่ได้สนใจ ความรู้และทักษะที่เรียนไปไม่สามารถใช้งานได้จริง และไม่สอดคล้องต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบัน

“แม่พิมพ์ของชาติ” เป็นคำที่เก่าไปแล้วกับโลกวันนี้ ที่ครูต้องไม่ทำหน้าที่แค่เป็นต้นแบบที่ดีแก่นักเรียนเท่านั้น โรงเรียน ก็ต้องไม่เป็นเพียงสถานที่เสมือนโรงงานผลิตคนเป็นสินค้าเหมือนๆ กันส่งออกสู่ตลาดสังคม

“นุช” หรือ “นุชวรา ปูรณัน” เชื่อว่าการเรียนรู้ที่ดีต้องสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับตัวผู้เรียนได้ ไม่ใช่แค่เป็นคนเก่ง แต่ต้องเป็นคนที่ตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นแก่สังคม โดยลุกขึ้นมาทำด้วยตนเอง หรือสร้างความร่วมมือที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนั้นได้

“ทำในสิ่งที่เราสามารถจะทำได้ ไปพร้อมๆ กับสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น” สร้างการเรียนรู้ที่มีความหมาย เพื่อการมีชีวิตที่มีความหมายต่อโลกที่ได้อาศัยอยู่

เป็นระยะเวลา 3 ปีที่ “นุชวรา” ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานที่ โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ อ.นาทวี จ.สงขลา จากการพัฒนาตนเองด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ต่อยอดไปสู่การพัฒนาขับเคลื่อนงานในโรงเรียน โดยการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยแนวคิดทาง นิเวศวิทยา (Ecology) เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนอื่นๆ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม สามารถเชื่อมโยงตนเองกับระบบนิเวศ รักษาสมดุลระหว่างสิ่งมีชีวิต อยู่อย่างคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับธรรมชาติ ให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวเพื่อการอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลกใบนี้


การเรียนรู้ที่ดี สร้างการมีชีวิตที่ดี

ในปีการศึกษาก่อนโรงเรียนได้ทำ “โครงการตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปากทะเล” ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการผ่านการลงมือทำ นำนักเรียนไปร่วมเรียนรู้กับนักศึกษา โดยใช้เครื่องมือนักสืบสายน้ำ มีการเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ สัมภาษณ์ และทำแผนที่ชุมชน

ผ่านมา 1 ปีก็มาคิดกันว่าแค่ความรู้อย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับเด็ก ยังไม่ตอบโจทย์ของการมีชีวิตที่ดี การเรียนรู้ควรสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ต้องสร้างวิธีคิดและวิธีการใช้ชีวิตที่มีสุขภาวะ ไม่สร้างปัญหาให้แก่ตนเองและสิ่งแวดล้อม

จึงได้ต่อยอดมาสู่ “โครงการองค์กรตื่นรู้เชิงนิเวศ Eco School” สร้างการจัดการเรียนรู้สุขภาวะด้านสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการกับชีวิตและชุมชน ผ่านการมีส่วนร่วมสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ตั้งแต่บุคลากร หลักสูตร นโยบายโรงเรียน และชุมชน ทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ ฝึกการใช้ชีวิต การเอาตัวรอดด้วยกระบวนการเรียนรู้ผ่านแหล่งเรียนรู้ในชุมชน โดยให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก


การเรียนรู้ที่มีความหมาย สู่การเปลี่ยนแปลงตนเอง

เริ่มต้นจากการให้ความสำคัญกับตัวเองก่อน ด้วยกิจกรรมอบรม “ครูตื่นรู้เชิงนิเวศ (New me)” ศึกษาดูงานสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช ชุมชนที่นี่มีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ สามารถอยู่รอดได้ด้วยการสร้างคุณค่าให้ชุมชน โดยได้เรียนรู้ผ่านฐานการเรียนรู้ชุมชน เช่น การทำผ้ามัดย้อมด้วยสีธรรมชาติ การจัดการน้ำเสีย การทำสิ่งประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ชุมชน

ภาคเรียนที่สองไปกันที่พิพิธภัณฑ์อุทยานธรณี จ.สตูล ซึ่งเป็นอุทยานธรณีระดับโลก ได้ร่วมเรียนรู้เรื่องธรณีวิทยา คุณค่าทางด้านโบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรมพื้นถิ่นจากแหล่งเรียนรู้ชุมชน ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลก ตั้งแต่อดีต 500 ล้านปีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมนุษย์มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ได้เรียนรู้ที่จะเคารพโลกที่เราอาศัยอยู่

การศึกษาเรียนรู้จากพื้นที่จริงช่วยกระตุ้นให้ครูเกิดความสนใจมากขึ้น จากการชวนมองให้เห็นคนอื่น สิ่งแวดล้อม โลก ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ มีความรู้สึกร่วม เกิดความตระหนักและเห็นคุณค่า สร้างการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ วิธีคิด นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ส่งผลให้ชีวิตก็เปลี่ยนตาม

เป็นการเรียนรู้ที่มีความหมาย สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตตนเอง เกิดแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงตนเอง ตัวเด็ก และชุมชน อยากเปลี่ยนอยากสร้างชุมชนที่ดีกว่าที่เป็น โดยเริ่มจากเปลี่ยนแปลงตนเองก่อน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางด้านสุขภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิต ดูแลจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น ปลูกผักไว้กิน เก็บขยะในชุมชน ลดการเล่นโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น เปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่คาดหวังเกิดขึ้นได้อย่างเร็ว เพราะทุกคนมองเห็นภาพเดียวกัน มีเป้าหมายในการทำงานแบบเดียวกัน จึงเกิดความร่วมมือกันเป็นอย่างดี


การจัดการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงชีวิตและชุมชน

โรงเรียนมีการทำหลักสูตรบูรณาการมานานแล้ว แต่ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ครูทำเพราะต้องทำ อยากทำบ้าง ไม่อยากทำบ้าง สอนแค่เนื้อหาอย่างเดียวไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรต่อ เมื่อได้ทำกิจกรรมที่สร้างการตื่นรู้ร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงตนเองของครูส่งผลไปสู่นักเรียนผ่านการเรียนการสอน เกิดการสร้าง หลักสูตรบูรณาการสู่ชุมชนด้านสุขภาวะและสิ่งแวดล้อม เป็นแผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการกับชีวิตและชุมชน ซึ่งลงลึกในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศทั้งหมด โดยเชื่อมโยงกับทุกรายวิชาและทุกกระบวนการทำงานของโรงเรียน มีการวางแผนดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ออกแบบกิจกรรมโดยไม่ใช้สารเคมีในการปลูกและลดการสร้างขยะ ปรับสหกรณ์โรงเรียนให้ไม่มีการใช้โฟมและพลาสติก

ตั้งแต่เปิดภาคเรียนก็ได้มีการจัด กิจกรรมสร้างการเรียนรู้เชิงนิเวศ เป็นเวลา 2 วัน เพื่อให้นักเรียนได้ปรับตัวก่อนเข้าสู่การเรียน ซึ่งปกติในทุกปีจะเป็นกิจกรรมพี่น้องสัมพันธ์ นักเรียนเข้าร่วมทั้งระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษา โดยเป็นรูปแบบฐานการเรียนรู้ เช่น ฐานน้ำหมักชีวภาพ ฐานแยกขยะ ฐานอาหารปลอดภัย และกิจกรรมในรายวิชาลูกเสือ-บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต เรียนรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ การเก็บข้าว สีข้าว เก็บเมล็ดพันธุ์ ผ้ามัดย้อม ปั้นดินเผา ประดิษฐ์กล่องนม พืชสมุนไพร

นอกจากนี้ โรงเรียนยังได้ทำ ไร่ปลูกรัก ปลูกผักผลไม้และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งยังไม่มีคนจัดการเรื่องระบบน้ำ จึงได้ย้ายมาทำในโรงเรียนก่อน โดยเปลี่ยนมาให้นักเรียนปลูกผักหน้าห้องเรียนคนละ 5 กระถาง เพื่อใช้เป็นอาหารกลางวันให้แก่โรงเรียน ผู้ปกครองก็มีส่วนร่วมในการส่งผักและไข่มาเป็นอาหารกลางวันด้วย ช่วยกันทำกระทงใส่อาหารในกิจกรรมวันเด็ก มีการเข้าร่วมอบรมการทำสวนยางผสมผสาน

และที่จะขยับเพิ่มเติมในขั้นต่อไปคือ การสร้างเครือข่ายชุมชนเพิ่มพื้นที่แหล่งเรียนรู้ อย่างเช่นพลังงานปลอดภัย อาหารปลอดภัย ซึ่งแหล่งอาหารที่มีอยู่ตอนนี้ยังมีน้อยไม่พอสำหรับทุกวัน


การเรียนรู้นอกโรงเรียน เชื่อมโยงสู่ระบบใหญ่

ในแต่ละภาคเรียน นักเรียนทุกระดับชั้นจะมีกิจกรรมลงพื้นที่เรียนรู้ชุมชน โดยเลือกจากประเด็นที่นักเรียนสนใจอยากเรียนรู้ แยกกลุ่มคละกันทุกระดับชั้น เช่น เรื่องดิน น้ำ ลม ขยะ ตัวอย่างกลุ่มที่เลือกเรื่องดิน ในภาคเรียนแรกเรียนรู้เรื่องบ้านดินที่ชุมชนควนหมาก ภาคเรียนที่สองเรียนรู้เรื่องหาดทรายที่ชุมชนสวนกง ซึ่งเป็นการให้ความรู้โดยชาวบ้าน ครูและเด็กต่างสนุกและตื่นเต้นกับการได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ

ได้ออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกรักและหวงแหน เห็นคุณค่าสิ่งที่เรียนรู้จากการได้สัมผัสจริง จะรักน้ำทะเลต่อเมื่อได้สัมผัส ได้เล่น อยากดูแลเพราะทะเลมันเย็นสบาย ได้เห็นความร่วมมือในการแก้ปัญหาการดูแลชุมชนของคนในชุมชน ชุมชนเองก็ได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมี สร้างโอกาสให้เด็กและชุมชนได้สัมพันธ์กัน

เนื้อหาภายนอกห้องเรียนสร้างการเรียนรู้ได้มากกว่า เป็นประสบการณ์จริงที่ไม่ใช่การสอน นอกจากความสนุกยังได้เห็นคุณค่า เห็นระบบใหญ่ เห็นการเชื่อมโยงกันของทุกสิ่ง ได้รู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ สร้างหลักคิดที่จะส่งผลต่อชีวิต เป็นประสบการณ์ฝังลึกให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก


เป้าหมายระยะยาว สร้างระบบที่เข้มแข็ง พัฒนาสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้

แนวทางในการทำงานระยะแรกจะเริ่มจากในโรงเรียนก่อน แล้วขยายไปสู่เครือข่ายภายนอกโรงเรียนคือ บ้าน (ผู้ปกครอง) และชุมชน ซึ่งในปีแรกหลายอย่างยังไม่นิ่ง ยังอยู่ในขั้นตอนของการทดลอง ค้นหา ปรับเปลี่ยน ปรับแก้ โดยในระยะ 2-3 ปีถัดมาจะต้องทำให้หลักสูตรให้นิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมที่ชัดขึ้น จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่สามารถถ่ายทอดให้คนที่เข้ามาใหม่ได้ เชื่อว่าระบบจะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมได้มากขึ้น

การเปลี่ยนแค่ทัศนคติอย่างเดียว การเปลี่ยนแปลงยังเกิดขึ้นน้อย พฤติกรรมยังเปลี่ยนได้ยาก เพราะความชิน ดังนั้นทางออกคือ ต้องหาระบบที่เหมาะสมและสามารถทำได้จริง ทั้งที่โรงเรียน บ้าน ชุมชน เพื่อไปสู่แผนระยะยาวในเวลา 5 ปี นั่นคือโรงเรียนจะสามารถเป็น “แหล่งเรียนรู้สุขภาวะด้านสิ่งแวดล้อม” ให้แก่องค์กรอื่นๆ ได้



สร้างทางเลือกชีวิต การอยู่รอดท่ามกลางโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง

ถ้าเราไม่ทำตั้งแต่ตอนนี้ ปัญหาที่เราเจออยู่ทุกวันนี้ เด็กรุ่นต่อไปต้องเจอมากกว่านี้แน่นอน ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปทั้งอากาศ น้ำ อาหาร โดยที่เราควบคุมอะไรไม่ได้ ชีวิตไม่มีทางออก ไม่มีทางเลือก ต้องพึ่งคนอื่นตลอด ต้องสร้างให้เด็กรู้จักที่จะพึ่งพาตนเองให้ได้ ให้เขาได้มีเครื่องมือมีทักษะชีวิตในการเชื่อมโยงตนเองกับสิ่งแวดล้อม สามารถดูแลสิ่งแวดล้อม มีหลักคิดในการพึ่งตนเอง ทำในสิ่งที่เราสามารถจะทำได้ ไปพร้อมๆ กับสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น อยากเห็นชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้โดยคนในชุมชนได้ทุกที่ ซึ่งโรงเรียนก็คือหนึ่งในนั้น

อยากเห็นการตื่นตัวของผู้ปกครองในการเลือกกิน เลือกอยู่ เลือกใช้อย่างถูกต้อง ขยายต่อไปยังชุมชนให้สามารถสร้างความเข้มแข็งได้ด้วยตัวเอง เกิดความภูมิใจจากการร่วมมือกัน โรงเรียนได้ทำการจำลองความเป็นชุมชน โดยการพิสูจน์ให้เห็นความเป็นไปได้ในการอยู่รอดได้ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม


สังคมที่เรียนรู้ร่วมกัน ขัดเกลาคนอื่น ขัดเกลาตนเอง

เมื่อมีความขัดแย้งหรือมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ก็หาทางออกที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องปะทะหรือใช้ความรุนแรง เราเปลี่ยนใครไม่ได้ ต่างคนต่างมีความเชื่อที่ยึดกันคนละชุดความคิด ไม่มีใครผิดหรือถูก ทำได้คือหาทางออกที่จะอยู่ร่วมกัน ตกลงหาจุดตรงกลาง ร่วมมือหาทางพัฒนาไปด้วยกัน ลองทำด้วยกัน ถ้าทำไม่ได้เราก็สร้างของเราเอง ทำให้เห็น พึ่งตนเองให้ได้โดยไม่ต้องทะเลาะกับใคร

ไม่ได้อยากเป็นคนยิ่งใหญ่ แต่อยากเป็นคนที่สามารถเคารพตัวเองได้ มีความสุขสงบ แต่น่าศรัทธา แบบ “อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์” ที่สัมผัสได้ถึงความสุขสงบผ่านตัวเขา ศรัทธาผ่านความจริงที่เขาพิสูจน์ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพยายาม ท่านเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญต่อการการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราเปลี่ยนแปลงภายในตัวเราเองได้ เราก็สร้างการเปลี่ยนแปลงภายนอกได้ ซึ่งโรงเรียนคือเครื่องมือหนึ่งที่สร้างกระบวนการเรียนรู้นั้น มีสถานการณ์ให้ได้เรียนรู้กระตุ้นให้คิดทุกวัน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่มีโรงเรียนก็ไม่มีที่ให้คิด เป็นความท้าทายหนึ่งที่ต้องอยู่ให้ได้ เรียนรู้ไปด้วยกัน ขัดเกลาชุมชน ขัดเกลาตัวเราเองไปด้วย

องค์กรทางด้านการศึกษามีอำนาจและบทบาทอย่างมากในการ สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพราะ “การศึกษา” คือเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างพลเมืองให้มีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลไปสู่การพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทางด้านการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และมีอิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนาของประเทศ

นักเรียนไทยเรียนหนักที่สุดในโลก งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการก็มีจำนวนที่สูงมากในแต่ละปี แต่ทั้งหมดกลับสวนทางกันกับ คุณภาพการศึกษา ที่เด็กไทยได้รับ ไหนจะ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เชื่อมโยงมากับปัญหาอื่นๆ อีกหลายหลาก

การปฏิรูปการศึกษาแบบปลอมๆ ของรัฐนั้นย่อมไม่นำไปสู่การพัฒนาใดๆ เราไม่มีทางไปสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ได้อย่างแท้จริงได้ หากยังอยู่ภายใต้สังคมที่ไม่เท่าเทียม และการศึกษาที่ไม่นำไปสู่การลดความไม่เป็นธรรมทางสังคม จะสร้างวิถีของการอยู่โดยไม่มีใครคำนึงถึง ตระหนัก และมีสำนึก ไม่ว่าจะเป็นผู้คน ชุมชน หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อม



หมายเหตุ
:
ติดตาม 10 พลเมืองสงขลา จากยุทธศาสตร์สู่ปฏิบัติการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สังคมเป็นสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน ได้ที่ https://www.facebook.com/SongkhlaFlagshipNode/



กำลังโหลดความคิดเห็น