xs
xsm
sm
md
lg

ทางออกปัญหาอ่าวบ้านดอน บังคับใช้กฎหมายยึดคืนคอกหอยเป็นพื้นที่สาธารณะกำหนดกติกาใช้ร่วมกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สุราษฎร์ธานี - เวทีวิชาการหาทางออกปัญหาความขัดแย้งอ่าวบ้านดอน ต้องใช้กฎหมายยึดคืนพื้นที่สาธารณะ พร้อมกำหนดกติกาใช้พื้นที่ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย แนะตั้งคณะทำงานระดับชาติลงมาควบคุม มองว่าปัญหาเกินกว่าจังหวัดจะแก้ได้


เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (14 มิ.ย.) ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้จัดเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง ปัญหาและทางออกการจัดการพื้นที่สาธารณะทางทะเลอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อร่วมกันหาทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบริเวณอ่าวบ้านดอน ระหว่างกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านกับผู้ประกอบการผู้เลี้ยงหอยแครง จากนักวิชาการ เจ้าหน้าที่รัฐ และภาคประชาสังคมภาคใต้ โดยมี ดร.ชนัญชิดา ทิพย์ญาณ ดร.เพ็ญนภา ดร.ประวีณ จุลภักดี อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี นายวิชัย สมรูป ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 นายพัฒนพงศ์ ปลื้มพัฒน์ ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านอ่าวบ้านดอน นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการมูลนิธิภาคใต้สีเขียว นายกฤษดา ขุนณรงค์ ทนายความ นายสมาแอ เจะมูดอ นายกสมาคมพื้นบ้านแห่งประเทศไทย นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และที่ปรึกษาอธิบดีกรมประมง ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีชาวประมงพื้นบ้านอ่าวบ้านดอน นักกฎหมาย นักการเมือง สื่อมวลชน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่อ่าวบ้านดอน

โดยผู้ร่วมเสวนาเวทีวิชาการวิชาการ เรื่อง ปัญหาและทางออกการจัดการพื้นที่สาธารณะทางทะเลอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี มองว่า ทางออกของการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวประมงพื้นบ้านกับผู้เลี้ยงหอยแครงอ่าวบ้านดอนนั้น หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยจะต้องบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับในการบังคับใช้กฎหมายยึดคืนพื้นที่สาธารณะอ่าวบ้านดอน เพื่อนำมากำหนดกติกาในการใช้พื้นที่ร่วมกันให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และมองว่า การแก้ปัญหาอ่าวบ้านดอนไม่สามารถที่จะใช้กฎหมายบังคับเพียงอย่างเดียวได้ จะต้องนำหลักรัฐศาสตร์และความเป็นชุมชนเข้ามาร่วมด้วย รวมไปถึงมองว่าในระดับจังหวัดไม่สามารถที่จะยุติปัญหาได้ น่าจะใช้กลไกการแก้ปัญหาในระดับชาติ โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือคณะทำงานขึ้นมาโดยนายกรัฐมนตรีเป็นคนแต่งตั้ง และสร้างเครือข่ายอ่าวบ้านดอนจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาให้จบสิ้นโดยเร็ว อย่าปล่อยให้เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่การฟ้องร้องระหว่างผู้ประกอบการเลี้ยงหอยแครง กับชาวประมงพื้นบ้าน


นายพัฒนพงศ์ ปลื้มพัฒน์ ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านอ่าวบ้านดอน กล่าวว่า ในพื้นที่อ่าวบ้านดอนมีชาวประมงอยู่ 4 ประเภท ประกอบด้วย กลุ่มที่มีเรือประมง มีอวน กลุ่มที่มีใบอนุญาตเลี้ยงหอยแครง กลุ่มลูกจ้างเฝ้าคอกหอย และกลุ่มคนจับหอยปู มือเปล่า ซึ่งปัญหาของประมงอ่าวบ้านดอน หากินลำบากเนื่องจากพื้นที่สาธารณะลดน้อยลงถูกจำกัดด้วยคอกหอยแครงที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งกันไว้สำหรับประมงพื้นบ้าน ชาวบ้านต้องเผชิญต่อปัญหานี้มาโดยตลอด โดยส่วนตัวมอว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดน่าจะเป็นทางออกของการแก้ปัญหา และอยากจะเสนอให้มีการดูแลจัดการร่วมกันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นายวิชัย สมรูป ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานภาครัฐปัจจุบันต่างคนต่างทำ ทำให้การแก้ปัญหาไม่เป็นรูปธรรม แต่ขณะนี้มีศูนย์รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 2 เข้ามาดำเนินการ ซึ่งได้มีการบูรณาการการบังใช้กฎหมายจากทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง โดยล่าสุดแนวทางการแก้ปัญหาทางผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ออกประกาศจังหวัด ลงวันที่ 12 มิ.ย. เรื่องให้รื้อถอนขนำและคอกหอยที่ได้รับอนุญาตในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอพุนพิน หลังจากนั้นก็จะดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป


นายกฤษดา ขุนณรงค์ ทนายความ กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายเพื่อเอาพื้นที่สาธารณะกลับมาเป็นแนวทางหนึ่งที่ต้องทำ และล่าสุด ประกาศของจังหวัดที่สั่งให้รื้อคอกหอยและขนำ เป็นแนวทางที่เดินมาถูกแล้ว เมื่อได้พื้นที่สาธารณะมาแล้วจะต้องมากำหนดกติการ่วมกันในการใช้พื้นที่ 400,000 กว่าไร่ จุดไหน หรือ พื้นที่ไหน ให้เป็นพื้นที่สาธารณะให้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่อนุญาตให้เลี้ยงหอยได้ ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้การสั่งรื้อคอกหอยน่าจะเป็นเรื่องยาว เพราะทางผู้ประกอบการน่าจะมีการร้องต่อศาลขอคุุ้มครอง

นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการมูลนิธิภาคใต้สีเขียว กล่าวว่า การแก้ปัญหาจำเป็นต้องบังใช้กฎหมายเพื่อเอาพื้นที่สาธารณะคืนมา กระบวนการอื่นค่อยตามมา หลังจากนั้นก็จะมีการพูดคุยเพื่อกำหนดกฎกติกาข้อบังคับ ทั้งในระดับท้องถิ่นและจังหวัด เพื่อช่วยร่วมกัน การพูดคุยกันด้วยวาจาไม่แน่ใจว่าจะแก้กฎหมายได้ และใช้กลไกสาธารณะเข้ามามีส่วนในการเฝ้าติดตามการแก้ปัญหาอ่าวบ้านดอน สำหรับประเด็นที่เกิดขึ้นให้เป็นวาระของสังคม

ขณะที่ นายสมาแอ เจะมูดอ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย บอกว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ นโยบายของรัฐเพราะกฎหมายที่จะแก้มีอยู่แล้วหากมีการบังคับใช้ เพียงแต่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการกัน และไม่เชื่อว่าอ่าวบ้านดอนจะมีเพียงหอยอย่างเดียว ในทะเลอ่าวบ้านดอนต้องมีปู มีปลา แต่ทำไมชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปจับปลาในพื้นที่ได้


นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยและที่ปรึกษาอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมาย คิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในอ่าวบ้านดอนไม่สามารถที่จะแก้ได้ในระดับจังหวัด ทะเลไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของคนไทยทั้งประเทศ ความขัดแย้งประโยชน์พื้นที่สาธารณะเกิดขึ้นกับทุกที่ แต่อย่าใช้ความรุนแรง อย่าให้ถึงขั้นต้องยิงกัน น่าจะใช้หลักของการพูดคุย ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นของอ่าวบ้านดอนทำให้เกิดการเรียนรู้ เกิดวัฒนธรรมหอยทำให้ให้เห็นว่าฤดูกาลเก็บหอยมีคนจำนวนมากจากทั่วสารทิศเดินทางเข้าพื้นที่เพื่อเก็บลูกหอยขาย ซึ่งในช่วงฤดูเก็บหอยนี้ควรจะมีการกำหนดกติกาในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ว่าควรจะต้องทำอะไรบ้าง และมองว่าการแก้ปัญหาไม่สามารถที่จะทำให้ลุล่วงไปได้ภายใน 2 เดือน เพราะเชื่อว่าจะต้องมีการฟ้องร้องกันแน่นอน ควรที่จะมีคณะทำงาน หรือคณะกรรมการในระดับประเทศมาแก้ปัญหา

ในขณะที่ ดร.ประวีณ จุลภักดี อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จากการที่ได้ทำงานวิจัย การจัดการทรัพยากรชายฝั่งและประมงในพื้นที่อ่าวบ้านดอน พบ 4 ปัญหาหลักๆ คือ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรประมงที่สัตว์น้ำลดลง เรื่องปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างประมงพื้นบ้านกับเรืออวนลากอวนรุนที่เข้ามาทำประมงจนถึงริมชายหาด ทำให้ประมงพื้นบ้านไม่มีพื้นที่ทำกิน ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประมงพื้นบ้านกับผู้ประกอบการเลี้ยงหอยแครง และปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรทางทะเล มีการจับจองเลี้ยงหอยแครงนอกพื้นที่อนุญาตทำให้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน แม้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามแก้ปัญหาโดยการสั่งรื้อคอกหอยในเขต 1,000 เมตรมาแล้ว เมื่อปี 2557-2558 ก็ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากมีการรื้อไม่เกิน 3 สัปดาห์ก็มีการสร้างใหม่เหมือนเดิม

“มาครั้งนี้ทางจังหวัด ทัพเรือที่ 2 โดย ศรชล.ภาค 2 และแม่ทัพน้อยที่ 4 ออกมายืนยันว่าพื้นที่สาธารณะต้องคืนกลับมาทั้งหมด และทางจังหวัดได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ให้รื้อขนำและคอกหอยแครง ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาตอำเภอเมือง อำเภอพุนพิน ภายใน 60 วัน ถ้าจังหวัดสามารถแก้ปัญหานำพื้นที่สาธารณะกลับคืนมา การเพาะเลี้ยงหอยแครงในทะเลควรจะต้องมีการจำกัดสิทธิคนละไม่เกิน 50 ไร่ เพื่อความเป็นธรรม”


โดยแนวทางการแก้ปัญหาอ่าวบ้านดอนนั้น ต้องใช้กฎหมายบังคับยึดคืนพื้นที่สาธารณะ สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ประมงพื้นบ้าน ผู้ประกอบการเลี้ยงหอย และนักวิชาการ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืน และให้ทุกคนเข้าถึงพื้นที่สาธารณะอย่างเป็นธรรม ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอ่าวบ้านดอนทั้ง 6 อำเภอ โครงการบ้านปลา บ้านปู ป่าชายเลน โดยให้ชุมชนเป็นแกนกลาง

และตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดที่มีทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน เมื่อสามารถนำพื้นที่กลับมาเป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อไม่ให้กลับไปอยู่ในมือของผู้ประกอบการทั้งในรูปแบบของกลุ่ม และส่วนบุคคล ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันและเกิดความเป็นธรรมสูงสุด


กำลังโหลดความคิดเห็น