xs
xsm
sm
md
lg

รู้ยัง BRN ก็มี New Normal นะ! อย่าใช้ “งบฯ การข่าว” ไปซื้อตั๋วทัศนาจรแบบให้ผ่านไปวันๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ / โดย … ไชยยงค์ มณีพิลึก



สถานการณ์การก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วง 16 ปีที่ผ่านมา เวลานี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็น “นิว นอร์มอล (New Normal)” กับเขาด้วย อันเป็นผลจากการระบาดของของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ทำให้ “บีอาร์เอ็น” ส่งสัญญาณกับคนในพื้นที่ด้วยการประกาศ “หยุดยิง” และนับแต่วันนั้นเป็นต้นมาเกือบ 2 เดือนเต็มที่ไม่มีเสียงปืน เสียงระเบิดเกิดขึ้นเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ถ้ามองสถานการณ์โดยไม่คิดอะไรมาก เรื่องนี้สามารถตอบโจทย์ได้ว่า โควิด-19 มีส่วนในการสร้างความเสียหายและความเดือดร้อนให้แก่ “แนวร่วม” ของขบวนการบีอาร์เอ็น จนต้องหยุดการใช้ “กับดักความรุนแรง” ต่อเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนในพื้นที่

แต่ถ้ามองโดย “ยุทธศาสตร์” ก็จะเห็นถึงความมี “เอกภาพ” ในการสั่งการของขบวนการบีอาร์เอ็นต่อ “กองกำลังติดอาวุธ” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีการใช้สถานการณ์ของโรคระบาดที่เกิดขึ้นทำงาน “เชิงรุก” ทั้งในด้านการเมืองและมวลชน

บีอาร์เอ็นต้องการแสดงให้ฝ่ายรัฐไทยได้เห็นถึงทิศทางของการ “เจรจาสันติภาพ” ที่จะเกิดในอนาคต ซึ่งเวลานี้ถือว่าบีอาร์เอ็นมีศักยภาพในเวทีการพูดคุยที่สามารถ “กำหนดแนวทาง” ตามที่ต้องการได้ รวมทั้งการ “สื่อสาร” กับ “ชาวมลายู” ในพื้นที่ถึงทิศทางในการต่อสู้เพื่อสิ่งที่บีอาร์เอ็นต้องการ

ถ้าสังเกตให้ถี่ถ้วนจะพบว่า หลังการเกิดขึ้นของ “คณะเจรจา” ครั้งล่าสุดที่มี “6 แกนนำบีอาร์เอ็น” ทำหน้าที่ตัวแทนนั้น ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มมาราปาตานี กลุ่มพูโลใหม่-เก่า และกลุ่มอื่นๆ ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคยทำตัวเป็น “ฝ่ายเกาะขบวนรถไฟสันติภาพ” เที่ยวสุดท้าย ต่างไม่มีปฏิกิริยาในการเรียกร้องเพื่อที่จะไม่ยอมตกขบวนรถแต่อย่างใด

ทั้งนี้เพราะทุกอย่างเป็นกลเกมที่บีอาร์เอ็นวางไว้ โดยมีองค์กร “เจนีวาคอล” และ “ไอซีอาร์ซี” ชักใยอยู่เบื้องหลังทั้งหมด

วันนี้แนวร่วมกลุ่มติดอาวุธของบีอาร์เอ็นยังคง “กบดาน” อยู่ใน “ที่มั่น” ไม่ได้หลบหนีไปไหน เพียงแต่ไม่ได้ปฏิบัติการทางอาวุธเท่านั้น และความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่รัฐก็ยัง “อยู่ในสายตา” ของแนวร่วมเหล่านี้มาโดยตลอด

แถมยังมีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการด้านมวลชนที่เกิดขึ้นในห้วงที่มีสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการ “ตอบโต้” หน่วยงานของรัฐในอนาคต

ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นยุทธศาสตร์และยุทธวิธีการเดิมๆ ที่บีอาร์เอ็นใช้มาตลอดเวลา 16 ปี จนทำให้บีอาร์เอ็น รู้ถึงยุทธวิธีในการปฏิบัติการต่างๆ ทางทหารของกองกำลังในพื้นที่เป็นอย่างดี

และเพราะรู้ถึงยุทธวิธีของเจ้าหน้าที่รัฐนี่เอง ที่ทำให้ปฏิบัติการทางทหารของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อยู่ในสายตาของแนวร่วมในพื้นที่มาโดยตลอด ปฏิบัติการหลายครั้งจึงทำให้เกิดความสูญเสียต่อกำลังพลได้บ่อยครั้ง

ในขณะที่การปฏิบัติการทางทหารของแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ กลับมักจะประสบความสำเร็จเกือบทุกครั้ง และที่สำคัญคือหลังปฏิบัติการสามารถ “หลีกเร้น” ผ่านจุดตรวจ จุดสกัดของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอยู่มากมายชนิดที่เรียกว่า “อสงไข” หรือนับไม่ถ้วนนั่นเอง

วันนี้เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่หน่วยข่าวในพื้นที่ไม่สามารถบอกได้ว่า บีอาร์เอ็นจะมาไม้ไหน มีแผนการในการปฏิบัติหลังสถานการณ์โควิด-19 เบาบางลงอย่างไร เพราะบีอาร์เอ็นกำลังใช้ “ความเงียบสงบ สยบความเคลื่อนไหว”

ซึ่งนี่เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์ไม่ถูก จึงได้แต่ทำการแจ้งเตือนแบบ “คาดว่า” ให้กองกำลังในพื้นที่ระวัง ป้องกันและหาข่าวความเคลื่อนไหวของแนวร่วมกันเอง โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังเชื่อมั่นว่าแนวร่วมในพื้นที่ต้องออกมาก่อเหตุอย่างแน่นอน

เนื่องจากในห้วงที่สถานการณ์เงียบสงบ ปราศจากเสียงปืน และเสียงระเบิด เจ้าหน้าที่ได้ใช้กฎหมายเข้าควบคุมตัวแนวร่วมที่มีหมายจับมาดำเนินคดีแล้วจำนวนหนึ่ง แต่ปราศจากการตอบโต้จากแนวร่วมในพื้นที่ จึงดูเหมือนกับว่ากำลังจะปล่อยให้แนวร่วมเหล่านั้น “รับเคราะห์” ตาม “ยถากรรม”

ล่าสุดศาลได้ลงโทษ “เจ้าของบ้าน” ผู้ให้ที่พักพิงแนวร่วมที่ถูกเจ้าหน้าที่ปิดล้อมและวิสามัญ 3 ศพที่บ้านปะกาจินอ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เหตุเกิดเมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยให้ลงโทษจำคุก 3 เดือนปรับ 5,000 บาท แต่โทษจำให้รอลงอาญา 1 ปีฟฟ

เคสนี้ถือเป็นเคสแรกที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ดำเนินคดีผู้ให้ที่พักพิงแก่แนวร่วมเป็นผลสำเร็จ หลังจากที่ใช้นโยบายขู่ให้กลัว แต่ไม่ได้ผล ไม่เคยมีใครกลัวกฎหมาย

ดังนั้นคดีนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องนำไปขยายผลเผยแพร่เป็นข่าวให้เข้าถึงประชาชนใน “พื้นที่สีแดง” เพื่อให้คนในพื้นที่ ทั้งที่เป็นแนวร่วมขบวนการและคนทั่วไปที่อาศัยความเป็นพวกเดียวกัน เพราะความเป็น “มลายู” ถือเป็นอิสลามที่ให้ความช่วยเหลือคนพวกเดียวกัน โดยอาจจะไม่ได้เป็นแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็เป็นไปได้ เพื่อที่จะได้รู้และเข้าใจถึงโทษที่ต้องได้รับตามกฎหมายจากการให้ที่พักพิงคนผิด หรือผู้ก่อการร้ายที่มีหมายจับและไม่มีหมายจับก็ตาม

สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปในขบวนการบีอาร์เอ็นยุคนิว นอร์มอลคือ ความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงของ “ปีกการเมือง” ที่อยู่ในภาคประชาสังคมในชื่อต่างๆ แล้วแต่จะตั้งขึ้นมา

ล่าสุดมีการหยิบประเด็นของ “วันเฉลิม” ผู้ซึ่งหนีคดีความมั่นคงไปอยู่ที่ประเทศกัมพูชา และถูกกลุ่มชายชุดดำบุกเข้าจับกุม ซึ่งวันนี้เป็นเรื่องที่นักการเมืองได้นำไปเป็นประเด็น “ทางการเมือง” มีการอภิปรายอย่างดุเดือดในสภาผู้แทนฯ

และลุกลามมาถึงปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะกรณี “อุ้มหาย” เกิดขึ้นมากที่สุดในแผ่นดินปลายด้ามขวานนี่เอง

เหตุผลที่ “ปีกการเมือง” ของบีอาร์เอ็นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้นำเรื่องนี้มาเคลื่อนไหว ผสานกับองค์กรสิทธิมนุษยชนและเอ็นจีโอจากทั่วประเทศและทั่วโลก ทั้งที่เรื่องของ “วันเฉลิม” ไม่ได้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด

นั่นคือ “การยกระดับ” ทางการเมืองของปีกการเมืองของบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ทางการเมือง ซึ่งผู้เขียนเคยนำมาเปิดโปงเมื่อวันก่อนว่า นับแต่นี้ไปปีกการเมืองของบีอาร์เอ็นจะ “สอดประสาน” กับสถานการณ์ทางการเมืองในทุกรูปแบบ ทั้งในเวทีการเมืองระดับประเทศและระดับโลก

อันเป็นไปตามแผนที่ “เจนีวาคอล” ได้กำหนดเส้นทางของการขับเคลื่อนให้กับแกนนำบีอาร์เอ็นในระดับสากล ส่วนในระดับพื้นที่ก็มี “องค์กรกาชาดสากล” หรือ “ไอซีอาร์ซี” เป็นผู้กำหนดวิธีการของการขับเคลื่อน โดยการหยิบยกปัญหานอกพื้นที่ที่เป็นสากลและเกี่ยวข้องกับการ “อุ้มหาย” มาเชื่อมโยงกับปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้

เพราะปัญหาอุ้มหายถือเป็นการ “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่ “ทนายสมชาย นีละไพจิตร” เป็นต้นมานั้น เรื่องนี้ยังไม่ได้รับการคลี่คลายเพื่อหาสาเหตุ หาคนผิดมาลงโทษแม้แต่รายเดียว ล่าสุดญาติของ “อับดุลเลาะ อีซอมูซอ” ที่ยังสงสัยว่าสาเหตุการตายต้องมาจากการถูก “ซ้อมทรมาน” ได้ถูกนำมาฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดสงขลา เพื่อทำการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอีกครั้ง

ทั้งหมดคือแผนของบีอาร์เอ็นในการรุกทางการเมือง โดยอาศัยกลุ่มก้อนของ “ปีกการเมือง” ที่มีการจัดตั้งและบ่มเพาะให้มีความเข้มแข็ง เพื่อการขับเคลื่อนทางการเมืองจาก “ท้องถิ่น” สู่ความเป็น “สากล” นั้นเอง

หรือการนำเรื่องการสังหารโหด “10 ศพชาวมลายูมุสลิม” ในมัสยิดฟุรกอนที่บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งครบรอบ 11 ปีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องหาความชอบธรรมจากกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทย นี่ก็เป็นแผนการเพื่อ “ดิสเครดิต” รัฐไทยและทหารในพื้นที่ ทั้งที่ผู้ต้องหาของคดีนี้ถูก “ยกฟ้อง” ไปแล้วนั่นเอง

ที่เป็นเช่นนี้เพราะบีอาร์เอ็นไม่ได้หวังที่จะมีชัยชนะ หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงใน 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย ด้วยการใช้ความรุนแรงด้วยกำลังอาวุธ แต่บีอามร์เอ็นมียุทธศาสตร์สู่ชัยชนะด้วย “การเมือง”

ดังนั้นถ้า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แค่ตอบว่ารู้ทุกเรื่องที่เป็นแผนของบีอาร์เอ็น เรื่องนี้ก็อยากที่จะบอกว่า “รู้เรื่อง” อย่างเดียวไม่พอ เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าไม่มียุทธศาสตร์ในการ “ทำลายแผน” ของบีอาร์เอ็นทั้งหมด

ที่สำคัญวันนี้รู้หรือยังถึง “โครงสร้างบีอาร์เอ็น” ในประเทศมาเลเซีย รวมทั้ง “แกนนำรุ่นใหม่” ที่มาแทนที่รุ่นเก่าที่ผันตัวเองมาเป็น “แกนนำคณะเจรจาสันติภาพ” กับรัฐไทย

ถ้ายังไม่รู้ก็พูดได้อย่างเดียวว่า เสียดาย “งบประมาณด้านการข่าว” จำนวนมหาศาล ที่สุดท้ายแล้วเป็นได้เพียงงบให้ผู้มีหน้าที่การข่าวใช้ “ทัศนาจร” ไปในแต่ละวันเท่านั้น

ดังนั้นการ “รู้ทุกเรื่อง” ที่ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย และเป็นได้แค่การหายใจทิ้งไปวันๆ ที่สูญเปล่าทั้งเวลาและงบประมาณในการใช้ “ดับไฟใต้” นั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น