xs
xsm
sm
md
lg

ให้เวลา 2 เดือนรื้อคอกหอย ดื้อใช้อำนาจศาลเอาผิด ประมงพื้นบ้านปิดอ่าวบ้านดอนยื่น 3 ข้อเรียกร้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สุราษฎร์ธานี - ผู้บัญชาการทัพเรือภาค 2 ลงพื้นที่พิพาทเลี้ยงหอยแครงก่อนบานปลาย เร่งหาข้อยุติ ให้เวลาผู้บุกรุก 2 เดือนรื้อถอน หากฝ่าฝืนใช้อำนาจศาลดำเนินการเด็ดขาด ด้านผู้ประกอบการในอำเภอท่าฉาง ร่ำไห้ขอความเมตตาจากพี่น้องชาวประมงงดลงจับหอย ขณะที่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านรุกฮือปิดปากอ่าวบ้านดอน พร้อมยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ

จากกรณีปัญหาความขัดแย้งแย่งชิงผลประโยชน์ลูกหอยแครงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในบริเวณอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี จนมีการยิงปืนขู่ และมีการปะทะกันหลายครั้งระหว่างกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านกับผู้ประกอบการยืดเยื้อมาเป็นเวลานานเกือบล่วงเลยจะเข้าสู่เดือนที่ 2 แล้ว แต่ภาครัฐยังหาข้อสรุปไม่ได้

ล่าสุด วันนี้ (11 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมด่านศุลกากรบ้านดอน อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี พล.ร.ท.สำเริง จันทร์โส ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 2 (ศรชล.ภาค 2) ลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานีอีกครั้ง ประชุมร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการใช้กฎหมายร่วมกันในการแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยมี นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นาวาเอกวศากร สุนทรนันท์ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ประจำ จ.สุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าท่าจังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตำรวจน้ำ ผกก.สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานข้อมูลจำนวนพื้นที่ทางทะเลทั้งหมดกว่า 2 แสนไร่ ถูกบุกรุกกว่า 110,300 ไร่

โดยในที่ประชุมเพิ่มพนักงานอัยการจังหวัดมาเป็นคณะทำงานหาแนวทางแก้ไขปัญหา ให้เวลาผู้ที่บุกรุกทำการรื้อถอนเองภายในเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย.จนถึงกลางเดือน ส.ค.นี้ โดยมีการจัดทำประกาศจังหวัดแจ้งให้ผู้บุกรุกรับทราบ พร้อมทำแผนรื้อถอน 3 ระยะ เริ่มตั้งแต่สร้างความเข้าใจกับผู้บุกรุกให้รื้อถอนด้วยตัวเองก่อน 2.หากไม่รื้อถอนตามที่กำหนดจะดำเนินคดีตามกฎหมาย และ 3.หากรัฐดำเนินการรื้อถอนเองตามคำสั่งศาลต้องมีการเรียกค่ารื้อถอนจากผู้บุกรุกโดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2564 และจังหวัดจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทราบว่าประมาณเดือน มี.ค.2565 จะไม่มีสิ่งปลูกสร้างในอ่าวบ้านดอน และไม่มีเหตุการณ์รุนแรงในทะเลอ่าวบ้านดอนอีก


หลังจากประชุมช่วงแรก พล.ร.ท.สำเริง จันทร์โส ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 2/ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ในช่วงแรกจะนัดผู้ประกอบการและตัวแทนกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านมาพูดคุยกันก่อน ถ้าไม่รื้อถอนภาครัฐจะรื้อถอนเอง ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานเป็นการสะท้อนความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งทาง ศรชล.จะพยายามไม่ให้เกิดขึ้นอีก และชาวประมงพื้นบ้านที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นชาวประมงจากนอกพื้นที่ และช่วงนี้ได้ขอร้องทั้งผู้ประกอบการและชาวประมงพื้นบ้านอย่าเพิ่งเข้าในพื้นที่พิพาทและผู้ประกอบการต้องยุติการรับซื้อหอยชั่วคราว จะช่วยลดกำลังซื้อไปได้มาก ส่วนในระยะยาวจะต้องรื้อขนำและคอกหอยทั้งหมด

ด้าน นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า พร้อมที่จะเร่งดำเนินการตามมติที่ประชุมทุกอย่าง

ต่อมา ในเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านได้นำเรือหางยาวกว่า 100 ลำ มาจอดปิดปากอ่าวบ้านดอนจนการจราจรทางน้ำไม่สามารถสัญจรได้ พร้อมยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอพื้นที่ทำกิน 2,000-3,000 เมตร 2.ปักแนวเขตให้ชัดเจน และ 3.หากไม่ทำตามก็ขอให้ทางการรื้อขนำ คอกหอยออกไปให้หมด โดยชาวประมงพื้นบ้านบอกกว่าการที่มาปิดอ่าวเนื่องจากเช้าวันนี้มีสาเหตุกลุ่มนายทุน ผู้มีอิทธิพล มาข่มขู่ขับไล่ไม่ให้ลงน้ำจับลูกหอย ประกอบกับทางจังหวัดได้ขอความร่วมมือไปยังพ่อค้าแม่ค้าไม่ให้รับซื้อหอยจากชาวบ้าน จึงเกิดความไม่พอใจจึงขับเรือมาปิดอ่าว


ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการเลี้ยงหอย ในพื้นที่ อ.ท่าฉาง นำเรือกว่า 10 ลำ มายังพื้นที่ตำบลลีเล็ด อ.พุนพิน เพื่อชี้แจงยับยั้งไม่ให้กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านกว่า 300 ลำเข้าไปจับลูกหอยในพื้นที่เพาะเลี้ยง
โดย นายสุรพล ผู้ประกอบการเลี้ยงหอยในพื้นที่ อ.ท่าฉาง กล่าวว่า ตนเลี้ยงหอยในพื้นที่ 30 ไร่ ลงทุนไปเป็นเงินกว่า 1 ล้านบาท โดยซื้อลูกหอยมาจากพ่อค้า นำมาใส่ไว้ในคอก โดยเอารถยนต์เข้าไปจำนองไว้กับไฟแนนซ์ และเอาสร้อยคอทองคำของลูก น้ำหนัก 5 บาท ไปจำนำ หากมีคนบุกเข้ามาเก็บหอยไปตนก็หมดตัว

“นายเข้าข้างคนมาก พวกตนคนน้อย ไม่มีทางสู้ และที่ผ่านมา นาย (เจ้าหน้าที่รัฐ) ไม่เคยบอก ซึ่งจริงๆ แล้วนายต้องบอกกล่าวว่า เป็นพื้นที่อะไร ผมทำอาชีพเลี้ยงหอยมา 20 กว่าปี ที่ผ่านมาไม่มีใครบอกว่าเป็นพื้นที่ห้ามเลี้ยงหอย เมื่อเอาลูกหอยมาปล่อย แล้วปล่อยให้คนลงไปจับ ผมก็หมดตัว และเป็นหนี้สินธนาคาร” เมื่อนายสุรพล กล่าวพร้อมพร้อมกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ พูดไปร้องไห้ไป พร้อมยกไหว้ขอความเห็นใจจากพี่น้องชาวประมงด้วยกัน ว่า

หากบุกเข้าเข้าไปจับหอยที่เลี้ยงไว้ตนหมดเนื้อหมดตัว เพราะพวกตนไม่ใช่นายทุน ซึ่งพอทราบว่าพื้นที่ที่ทำกิน เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ พวกตนพร้อมถอยออกจากพื้นที่ แต่ในช่วงนี้ขอเวลาอนุบาลลูกหอยประมาณ 3-6 เดือน ก่อนนำไปขายต่อ ส่วนขนำพร้อมรื้อถอนออกเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น