ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” บุกแสดงเจตนารมณ์ค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ถึงหน้าโรงแรมบุรีศรีภู อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ชี้ที่ผ่านมาไม่เคยมีการชี้แจงหรือให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมใดๆ และจัดเวทีเฉพาะผู้นำชุมชน
วันนี้ (6 มิ.ย.) เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้เดินทางมายังโรงแรมบุรีศรีภู อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อแสดงเจตนารมณ์คัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมฯ จะนะ หลังจากที่ได้ทราบข่าวว่า วันนี้มีการจัดเวที “กระบวนการสร้างการรับรู้และการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา”
เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีการชี้แจงหรือให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมใดๆ มีจัดเลือกเวทีเฉพาะผู้นำชุมชน แม้มีการจัดเวทีในหมู่บ้านในพื้นที่ 3 ตำบล แต่ไม่มีการชี้แจงรายละเอียดโครงการแต่อย่างใด มีเพียงการให้เสนอข้อกังวล และความต้องการเท่านั้น โดยทางเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้มีแถลงการณ์ระบุว่า...
เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กรณีโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เรียน พรรคก้าวไกล
สืบเนื่องจากการออกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ที่เห็นชอบนโยบาย “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการพัฒนา 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คืออำเภอจะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย ไปสู่เมืองต้นแบบแห่งอนาคต ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต
หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ลงมือปฏิบัติการตอบสนองนโยบายทันทีในฐานะหน่วยงานผู้เป็นเจ้าของโครงการ โดยได้มีการจัดเวทีนำเสนอโครงการและรับฟังความคิดเห็น ทั้งเวทีเล็กและใหญ่ หากแต่ในเวทีเหล่านั้นไม่มีการให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยส่วนใหญ่เลือกที่จะนำเสนอแต่ข้อดีเพื่อจูงใจให้ประชาชนที่เข้าร่วมเห็นด้วยกับโครงการเป็นที่ตั้ง เพราะหลายครั้งที่ประชาชนมีการสอบถามถึงรูปแบบโครงการ ก็มักจะไม่มีการชี้แจ้งอย่างตรงไปตรงมา จนนำมาซึ่งความสงสัยแก่ประชาชนในพื้นที่ถึงระบบการดำเนินงานของ ศอ.บต. ที่ถือว่าขาดมาตรฐานในการดำเนินงานปกติของโครงการที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีลักษณะปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น การจัดเวทีในระดับหมู่บ้านก็จะมีการห้ามคนต่างหมู่บ้านที่อยู่ในตำบลเดียวกันแสดงความคิดเห็น หรือสอบถามข้อมูล โดยอ้างว่าไม่ใช่คนในพื้นที่ ทั้งๆ ที่โครงการดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้าง หลายหมู่บ้าน และหลายตำบล ขณะเดียวกัน ศอ.บต.ยังปล่อยให้มีการใช้ผู้ดำเนินรายการที่ไม่เข้าใจกระบวนการมีส่วนร่วม และไม่เข้าใจถึงรายละเอียดของโครงอย่างแท้จริง จึงไม่สามารถอธิบายข้อสงสัยใดๆ ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ตามที่มีข้อสงสัยได้ กลายเป็นว่าการจัดเวทีในแต่ละครั้งเป็นเพียงจัดเวทีเพื่อให้ได้รายชื่อ และภาพของชาวบ้านที่ร่วมประชุมเท่านั้น
ที่ผ่านมา พวกข้าพเจ้าได้ทราบข้อมูลบางส่วนจากอินเทอร์เน็ต หรือสื่อออนไลน์ ที่มีการนำเสนอข้อมูล หรือภาพที่ตั้งโครงการ อันทำให้รู้ว่าโครงการนี้ต้องใช้พื้นที่จำนวนมากนับหมื่นไร่ บริเวณริมชายฝั่งทะเลไปจนถึงพื้นที่บกที่เป็นป่า และแหล่งทำการเกษตร โดยในรายละเอียดมีการพูดถึงโครงการย่อยหลายโครงการ อย่างเช่น ท่าเรือน้ำลึกเพื่อการขนส่งสินค้า ลานเทกองสินค้า และนิคมอุตสาหกรรมทั้งขนาดกลาง และขนาดใหญ่ อันรวมถึงระบบอุตสาหกรรมหนักหรือปิโตรเคมีรวมอยู่ด้วย ในขณะที่พื้นที่ส่วนหนึ่งคือหมู่บ้าน ชุมชน ที่มีประชาชนอยู่อาศัย และทำกินในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเกษตรปลูกข้าว พืชผัก และที่สำคัญคือการทำประมง อันเป็นที่รับรู้กันว่าทะเลอำเภอจะนะ คือแหล่งการทำประมงพื้นบ้านขนาดใหญ่ของคนตลอดชายฝั่งทะเลที่ไม่เฉพาะแค่อำเภอจะนะเท่านั้น แต่รวมถึงพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านจากต่างอำเภอ หรือบางทีก็มาจากต่างจังหวัดก็มี ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตอาหารทางทะเลที่สำคัญของจังหวัดสงขลา หากโครงการนี้เข้ามาในพื้นที่ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ทั้งโดยตรง พร้อมกันนี้ก็จะส่งผลกระทบในทางอ้อมให้แก่คนทั้งจังหวัดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รวมทั้งผลกระทบต่อพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร อันเป็นความทุกข์กังวลที่กำลังเกิดขึ้นกับพวกข้าพเจ้าทุกคนในทุกวันนี้
สถานการณ์ปัญหา
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ได้มีการจัดประชุม และได้เชิญชวน ชักชวนให้ชาวบ้านเข้าร่วมการประชุมด้วยรูปแบบวิธีการต่างๆ โดยมีการเสนอในที่ประชุมว่า
1.โครงการนี้อ้างว่าประชาชนทุกคนจะได้ประโยชน์ และทางรัฐจะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถของบประมาณได้ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้ดีกว่าที่เป็นอยู่
2.เกิดความคิดเห็นที่แตกต่าง จากความไม่เข้าใจถึงข้อเท็จจริงของโครงการ ยังให้มีความแปลกแยกระหว่างประชาชนในพื้นที่ โดย ศอ.บต. ได้มีการใช้แกนนำชาวบ้านที่เห็นด้วยบางคน ทำหน้าที่เสมือนเป็นเจ้าหน้าที่มาดำเนินการจัดเวทีในชุมชน แล้วอ้างหน่วยงานว่าจะดำเนินการให้โครงการเป็นไปตามความต้องการของประชาชน แต่กลับไม่สามารถอธิบายรายละเอียดการดำเนินงานได้เมื่อถูกซักถาม
3.สร้างความหวังเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยบอกว่าหากโครงการนี้เกิดขึ้นก็จะมีการให้กรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ประชาชนในพื้นที่ จึงเสมือนเป็นการล่อลวงให้หลงเชื่อ เพื่อหวังจะใช้เป็นเครื่องมือผลักดันข้อเสนอไปยังรัฐบาลให้มีการรับรองสิทธิการอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินของโครงการโดยรวม หากในความเป็นจริงแล้วผู้จะได้ประโยชน์ต่อเรื่องนี้คือนายทุนผู้ถือครองที่ดินแปลงใหญ่เท่านั้น
4.จัดเวทีเพียงรูปแบบ แต่ไม่สนใจสร้างความเข้าใจในเชิงเนื้อหาสาระที่เป็นข้อเท็จจริง และยังใช้วิธีการล่อใจในรูปแบบต่างๆ อย่างเช่นการแจกเงิน หรือข้าวของให้คนเข้าร่วมประชุมในแต่ละครั้ง เพียงหวังจะได้รายชื่อและลายเซ็นสนับสนุนของประชาชนในพื้นที่เท่านั้น
5.ศอ.บต.และกลุ่มทุนที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการ พยายามรวบรัดขั้นตอนกระบวนการดำเนินงาน โดยไม่สนใจระเบียบปฏิบัติทางกฎหมาย และไม่สนใจต่อสภาวะทางสังคม วัฒนธรรมของคนในพื้นที่ อันรวมถึงวิกฤตด้านสุขภาพในปัจจุบัน ดังเช่นความพยายามที่จะจัดเวทีแก้ไขผังเมืองในช่วงการที่มีการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม และยังเป็นช่วงการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
6.โครงการนี้จะสร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมหาศาลในอนาคต และเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนสภาพของชายหาดอย่างรุนแรง ซึ่งรวมถึงการทำลายระบบนิเวศโดยรวมของสัตว์น้ำ แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำทะเลทั่วทั้งจังหวัดสงขลา อันจะนำมาซึ่งความยากลำบากในการดำรงชีวิตปกติของประชาชนในชุมชนทั้ง 3 ตำบล ของอำเภอจะนะอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
ทางเครือข่ายเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง และไม่ชอบตามหลักกระบวนการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทั้งที่โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ศอ.บต. จึงควรให้ความสำคัญต่อการดำเนินการดังกล่าวอย่างมีมาตรฐานมากกว่าที่เป็นอยู่ ให้มีความเป็นธรรมาภิบาล ที่ไม่ใช่แค่การจัดเวทีให้เสร็จไปทีเพื่อแลกกับลายมือชื่อของประชาชน แล้วนำไปอ้างประกอบรายงานส่งให้รัฐบาลว่าประชาชนเห็นด้วยกับโครงการเพียงเท่านั้น
ข้อสังเกต
1.มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ขาดการวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการต่อบริบทพื้นที่ บริบทภูมินิเวศและสังคมพหุวัฒนธรรมในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน
2.โครงการนี้ดำเนินงานด้วยความรีบเร่งในช่วงปลายของรัฐบาลประยุทธ์ 1 ซึ่งถือเป็นมติ ครม.ฉบับสุดท้ายก่อนหมดวาระการบริหารงานของรัฐบาล เสมือนเป็นการทิ้งทวนของรัฐบาล คสช.
3.การดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขาดมาตรฐานที่ควรจะเป็น ภายใต้โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะต้องคำนึงถึงกระบวนการมีส่วนรวมและสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนในพื้นที่ และเชื่อว่านโยบายดังกล่าวนี้จะยิ่งเพิ่มความทุกข์ สร้างความขัดแย้งรูปแบบใหม่ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่การดำรงชีวิตปกติก็มีความเสี่ยงหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว จึงไม่ควรซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้มากไปกว่านี้
4.พระราชบัญญัติ ศอ.บต. พ.ศ.2553 ที่มีการซ่อนวาระเรื่องการประกาศเขตพัฒนาพิเศษ ซึ่งกำลังใช้แนววิธีการดำเนินโครงการไปในลักษณะของพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หากแต่ยังไม่มีระเบียบปฏิบัติอื่นใดที่จะมารองรับการดำเนินงานโครงการนี้ อีกทั้งการดำเนินงานที่ผ่านมา ศอ.บต.และบริษัทที่จะดำเนินงานในเรื่องนี้ไม่ได้ปฏิบัติตามระบบกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้วอย่างถูกต้องและครบถ้วนกระบวนความ จึงเห็นได้ถึงความผิดปกติของวิธีปฏิบัติที่กำลังใช้ดำเนินการทั้งหมดในโครงการนี้ ซึ่งอาจจะเข้าข่ายการทำผิดกฎหมาย
ข้อเสนอ
จึงเสนอให้พรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในกรรมาธิการหลายคณะของรัฐสภา ได้ทำการตรวจสอบการดำเนินงานในโครงการเมืองต้นแบบฯ จะนะ ของศูนย์บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ดังนี้
1.ตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ในกระบวนการดำเนินการว่าได้ใช้ระเบียบกฎหมายอื่นใดประกอบในการขับเคลื่อนโครงการแต่ละขั้นตอน ทั้งในปัจจุบันและที่กำลังวางแผนดำเนินงานในอนาคต และเป็นการกระทำที่ถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบกฎหมายนั้นๆ หรือไม่
2.ตรวจสอบการจัดเวทีที่จัดผ่านมาแล้ว ทั้งก่อนและหลังการอนุมัติโครงการของคณะรัฐมนตรีว่า ด้วยเชื่อว่ามีวิธีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของกฎหมาย ด้วยพบว่ามีการให้อามิสสินจ้างรูปแบบต่างๆ กับผู้เข้าร่วมเวทีในแต่ละครั้ง เพียงเพื่อต้องการลายมือชื่อของชาวบ้านเท่านั้น แต่ไม่ให้ความสำคัญต่อการให้ข้อมูลโครงการอย่างถูกต้องรอบด้าน
3.ให้ตรวจสอบกระบวนการด้านผังเมือง ที่จะใช้รองรับพื้นที่โครงการ ว่าจะมีแผนผังในระดับและประเภทใดบ้าง เป็นการดำเนินการตามกฎหมายใด มีขั้นตอน กระบวนการอย่างไร และจะมีความสอดคล้องกับผังเมืองที่ประกาศบังคับแล้วอย่างไร รวมทั้งจะมีการยกเลิกผังเมืองฉบับเดิมที่มีการจัดทำแล้วในพื้นที่โครงการหรือไม่ อย่างไร
4.ตรวจสอบกระบวนการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโครงการ ที่พบว่ามีการเปลี่ยนถ่ายอย่างผิดปกติ ซึ่งอาจจะมีการใช้อำนาจทางการเมืองไปในทางมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ใครบางคนบางกลุ่มที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร อันรวมถึงผลประโยชน์ทับซ้อนอื่นๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับโครงการนี้
5.ให้ตรวจสอบและประสานข้อมูลโครงการ แผนและผังประเภทอื่นที่จะมีการดำเนินการในพื้นที่โครงการ เช่น แผนผังพื้นที่เสี่ยงภัย แผนผังด้านพลังงาน และแผนดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ รวมถึงการเปิดเผยผลดี ผลเสีย หรือผลกระทบในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง
จึงขอให้พรรคก้าวไกล ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายทำการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวนี้อย่างเร่งด่วน จึงเรียนมาเพื่อทราบและพิจารณา
ขณะที่คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้ออกแถลงการณ์เช่นกัน ในเรื่อง ขอสนับสนุนเครือข่ายเพื่อนตะวันออก ที่เรียกร้องให้ยกเลิกการทำผังเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. ฉบับที่ 47/2560 ให้มีการจัดทำผังเมืองใหม่ ที่สอดคล้องกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกนั้น เป็นสาเหตุสำคัญที่กลายเป็นปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างประชาชนในพื้นที่กับฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในฐานะผู้รับคำสั่งมาดำเนินการ ด้วยเหตุผลดังนี้ คือ
1.การจัดทำผังเมืองไม่มีการศึกษาศักยภาพของพื้นที่ตามหลักวิชาการผังเมือง
2.มีการเปลี่ยนสีผังเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนบางกลุ่ม
3.การใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 47/2560 และออกกฎหมาย พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นการใช้อำนาจรัฐเพียงเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วม และส่อไปในทางละเมิดสิทธิชุมชน ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษได้อาศัยอำนาจตามคำสั่งดังกล่าวเดินหน้าจัดทำผังเมืองอย่างต่อเนื่อง และเป็นการดำเนินการภายใต้เงื่อนไขของเวลาที่จำกัดภายใน 1 ปี ทั้งที่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ของประชาชนในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด ที่จะต้องอาศัยความรอบคอบ และระยะเวลาที่เหมาะสมมากกว่านี้
การที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าวที่รวมตัวกันเป็นเครือข่าย “เพื่อนตะวันออก” ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินงานจัดทำผังเมืองของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในนามของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ซึ่งเป็นหน่วยประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ มีความเห็นว่าการพัฒนาประเทศในรูปแบบใดก็ตาม จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชนที่จะต้องไม่สร้างความเดือดร้อน และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในวิถีปกติของประชาชนในพื้นที่
เราจึงขอสนับสนุนเครือข่ายเพื่อนตะวันออกที่ออกมาเรียกร้องให้สำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ยุติการพิจารณา และให้ความเห็นชอบผังเมืองรวม EEC ฉบับที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ และให้ดำเนินการจัดทำผังเมืองดังกล่าวใหม่ทั้งหมด โดยต้องยึดหลักธรรมาภิบาลที่ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นกระบวนการ และในโอกาสนี้เราจะร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายเพื่อนตะวันออกอย่างเต็มกำลัง จนกว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้นจะถูกนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป