ศูนย์ข่าวภาคใต้ – ชาวบ้านม่วงงามยืนยันต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลอย่างแท้จริง แฉที่ผ่านมาจัดเวทีมีประชาชนร่วมแค่ 180 คนจากทั้งตำบลมีคนอยู่เป็นหมื่น ยันปักหลักอยู่หน้าศาลากลาง จ.สงขลาจนกว่าจะได้รับคำตอบจากนายกรัฐมนตรี
วันนี้ (3 มิ.ย.) MGR Online ภาคใต้ จัด Live สด! #หาดม่วงงาม กับ #เขื่อนกันคลื่นหรือกันใคร?! จากศาลากลาง จ.สงขลา ล้อมวงไขข้อข้องใจกับ “วิโรจน์ สนตอน” แกนนำชาวม่วงงาม และ “อภิศักดิ์ ทัศนี” ผู้ประสานงาน Beach for life ดำเนินรายการโดย “ปิยะโชติ อินทรนิวาส” จาก MGR Online ภาคใต้
นายวิโรจน์ สนตอน กล่าวว่า “ได้รับทราบจากการที่นายกเทศมนตรีเมืองม่วงงาม ไลฟ์สดว่า มีชาวบ้านเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา จำนวน 180 คน ผมตกใจมาก เพราะประชาชนในพื้นที่ ต.ม่วงงามมีหมื่นกว่าคน เราจึงหาความรู้ แล้วรวมกลุ่มกันขึ้นมา เจอคนไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้อีกจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งคนในและนอกพื้นที่”
“ประเด็นหลักคือคนในชุมชนไม่รู้เรื่องเยอะ อยากให้การตัดสินใจเรื่องนี้ ให้พวกเราได้เลือกได้กำหนดเอง หากเห็นด้วยเยอะกว่าว่าต้องการให้ทำ เราก็ยอมรับการตัดสินใจ ระหว่างนี้ อยากให้รอคำสั่งศาลปกครอง และอยากให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ตอนนี้ทุกคนกังวลว่า หากตอกเสาเข็มเพิ่มจะสร้างความเสียหายให้หาดม่วงงามมากขึ้น ซึ่งหลังจากที่ได้ยื่นหนังสือคัดค้านโครงการนี้ถึงนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 แล้ว พวกเราก็จะปักหลักอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลาต่อไปจนกว่าจะได้รับคำตอบ”
นายอภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงาน Beach for life กล่าวว่า หาดทรายจะเป็นปราการทางธรรมชาติ ที่ช่วยซึมซับคลื่นที่ซัดเข้ามา ทำให้บ้านเรือนปลอดภัย ทำให้คนในเมืองอยู่ได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีเรื่องวิถีชีวิตที่อยู่กับหาดทราย ทั้งเรื่องการจอดเรือ การหาอาหาร ทั้งนี้ การกัดเซาะหาดทรายมีทั้งโลก เมื่อคลื่นวิ่งเข้ามาก็จะเอาทรายอออกไป แล้วก็จะพากลับมา วนเป็นวัฏจักร แต่ที่มีปัญหาก็เมื่อมนุษย์อยู่ใกล้ชายหาด แล้วทำให้เกิดการกัดเซาะไปเรื่อยๆ ชายฝั่งเราพังทุกปี เพราะเราสร้างตัวกันการกัดเซาะ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียที่ชุมชนเก้าเส้ง อ.เมือง จ.สงขลา ที่สร้างผลกระทบออกไปเรื่อยๆ
“เดิมการทำกำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA แต่เพราะกรมเจ้าท่า กรมโยธาไม่สามารถทำได้ทันท่วงที เพราะใช้เวลาทำ EIA นานจึงมีการยกเลิกการทำ EIA ซึ่ง 74 โครงการในประเทศไทยในช่วงเวลา 6 ปี ใช้งบฯ ไป 9,000 กว่าล้านบาท รวมระยะทาง 30,000 กว่าเมตร ปีงบฯ 2563-2564 อีกกว่า 20 กว่าโครงการ เป็นภาพใหญ่ที่เป็นเหมือนโรคระบาดของกำแพงกันคลื่น ที่ต้องสร้างต่อไปเรื่อยๆ เพราะเมื่อทำกำแพงตรงนี้ จุดถัดไปก็จะเกิดการกัดเซาะ”