xs
xsm
sm
md
lg

ศึกชิงลูกหอยแครงขุมทรัพย์แห่งทะเลอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานียังเดือด นายทุน-ชาวบ้านไม่ยอมถอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สุราษฎร์ธานี - ศึกชิงลูกหอยแครง ขุมทรัพย์แห่งทะเลอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานีร้อนระอุ ชาวบ้าน-นายทุน ไม่ยอมหยุด บุกเข้าช่วงชิงผลประโยชน์มหาศาล หวั่นลุกเป็นไฟได้ทุกวินาที หลังภาครัฐพยายามหาข้อยุติแต่ยังไม่สำเร็จ


ปัญหาการแย่งชิงลูกหอยแครง ในพื้นที่อ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี นับวันมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากผลประโยชน์มีมากมายมหาศาล มีหลายกลุ่มก้อนที่เข้าไปหาประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าว ทั้งชาวประมงพื้นบ้าน นายทุน รวมทั้งหน่วยงานรัฐบางหน่วย ซึ่งปัญหาเกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ก่อนหน้านี้ ชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถที่จะเข้าไปเก็บหอยแครงได้เนื่องจากมีคนอ้างตัวเป็นเจ้าของจนเกิดปัญหาขัดแย้งกันขึ้นระหว่างกลุ่มชาวบ้านและนายทุน

สำหรับอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นเวิ้งขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของชายฝั่งทะเลตะวันออก มีหาดเลนที่กว้างยื่นออกไปในทะเลประมาณ 1-2 กิโลเมตร และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ลำดับที่ 62 ของประเทศจากทั้งหมด 69 แห่ง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ตามการทบทวนทะเบียนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 เรื่องทะเบียนรายนามพื้นที่ชุมน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และระดับชาติของประเทศไทยและเป็นมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ


โดยสภาพท้องทะเลฝั่งอ่าวไทยในพื้นที่ 6 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ อ.ไชยา อ.ท่าฉาง อ.พุนพิน อ.เมือง อ.กาญจนดิษฐ์ และ อ.ดอนสัก เป็นเวิ้งอ่างก้นกระทะขนาดใหญ่และมีความยาวตามแนวชายฝั่งประมาณ 120 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 434,575 ไร่ ที่รองรับน้ำจากลำคลองน้อยใหญ่หลายร้อยสายที่ไหลลงสู่ปากอ่าว โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชายฝั่งของ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี และ อ.พุนพิน มีสภาพอุดมสมบูรณ์ที่สุดของอ่าวบ้านดอน และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนนานาชนิด

และเป็นแหล่งกำเนิดลูกหอยแครงตามธรรมชาติ จึงเป็นสถานที่ที่ชาวประมงพื้นบ้านใช้เป็นแหล่งประกอบอาชีพหารายได้มาเลี้ยงครอบครัวมาอย่างช้านาน ดังนั้นในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของทั้ง 2 อำเภอจึงเป็นพื้นที่ไม่สามารถอนุญาตให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้ามายึดครองเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้


แต่จากจำนวนลูกหอยแครงที่เกิดขึ้นจำนวนมากมายมีมูลค่านับพันล้านบาท จึงทำให้มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลต่างๆ ที่ประกอบด้วย นักการเมือง กลุ่มคนมีสี กลุ่มผู้นำท้องถิ่น นายทุน ที่เรียกกันว่าผู้ประกอบการต่างบุกรุกเข้าครอบครองพื้นที่ ภายใต้การอำนวยความสะดวกของผู้นำชุมชน โดยมีแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ที่ยึดครองทะเลจัดพื้นที่แบ่งขายกันเป็นไร่ ไร่ละนับหมื่นนับแสนบาท โดยผลัดเปลี่ยนมือกันมาหลายสิบปี มีการขีดเส้นแบ่งเขตกันครอบครองแบ่งผลประโยชน์กันลงตัวทุกระดับทุกหน่วยงาน จนไม่มีใครที่จะสามารถมาดำเนินการหรือจัดระเบียบให้เป็นไปตามกฎหมาย

เมื่อประเทศไทยเจอกับวิกฤตสถานการณ์โรคระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ทางรัฐบาลได้ออกนโยบายต่างๆ ออกมาเพื่อระงับการแพร่ระบาด ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต้องหยุดการเดินเครื่องจักรหยุดการทำงาน ไม่มีการปล่อยของเสียลงสู่แม่น้ำ จึงทำให้สภาพน้ำในบริเวณอ่าวบ้านดอนมีความสมบูรณ์ปลอดมลพิษ ประกอบกับธรรมชาติส่งเสริมระดับความเค็มของน้ำพอดี หรือที่เรียกกันว่า น้ำหวาน จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ลูกหอยแครงเกิดขึ้นมาจำนวนมากมายในพื้นที่ทั้ง 2 อำเภอ จึงทำให้กลุ่มมาเฟียหอยแครง รุกขยายพื้นที่เข้าไปปักไม้ไผ่ในพื้นที่เขต 1,000 เมตรจากชายฝั่ง ที่มีการเจรจาตกลงภายในของกลุ่มก๊วนต่างๆ ว่าจะไม่ไปบุกรุกปล่อยให้เป็นพื้นที่ชาวประมงพื้นบ้านได้หากิน


แต่ด้วยความโลภของกลุ่มมาเฟียหอยแครง ในพื้นที่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จึงได้มีการบุกรุกเข้าไปปักหลักไม้ไผ่ครอบครองลูกหอยในพื้นที่ชายฝั่งทะเล 1,000 เมตร และ กันพื้นที่ไม่ให้คนของกลุ่มก๊วนอีก 2 กลุ่ม รวมทั้งกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านเข้าทำการประมงหรือจับลูกหอยในพื้นที่จนมีการร้องเรียนไปยังนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาค 4 เนื่องจากชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปจับลูกหอยแครงได้


ต่อมา เมื่อวันที่ 15 พ.ค.นายวิชวุทย์ จินโต ผวจ.สุราษฎร์ธานี ได้สั่งการให้ นายบรรเจิด สาริพัฒน์ นายอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี นาวาเอกวศากร สุนทรนันท์ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ศรชล.) นายวิชัย สมรูป ผอ.สนง.ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 สุราษฎร์ธานี สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตชด.ที่ 417 ทหาร กอ.รมน.จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฝ่ายปกครอง ประกอบด้วย อส. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน กว่า 50 นาย ดำเนินการรื้อถอนหลักไม้ไผ่ที่มีการบุกรุกพื้นที่ทางทะเลผิดกฎหมาย ในเขตพื้นที่ระยะห่างชายฝั่ง 1,000 เมตร ยาวประมาณ 10 กิโลเมตร หรือกว่า 2,000 ไร่ ให้ชาวประมงพื้นบ้านได้มีที่ทำกิน โดยมีชาวประมงพื้นบ้านจำนวนมากเข้าไปจับลูกหอยแครงในพื้นที่ที่ได้รับการยกเว้น ซึ่งแต่ละวันสามารถจับลูกหอยได้จำนวนมาก สร้างรายได้ให้คนละหลายพันบาทในแต่ละวัน

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดสืบสวนภาค 8 จำนวน 3 นาย ได้เข้ามาจับกุมเจ้าของคอกเลี้ยงหอย และเป็นพ่อค้ารับซื้อลูกหอยจากชาวประมง จนมีการเรียกเงินรับ จำนวน 5 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการไม่ถูกดำเนินคดี จนทำให้ประชาชนในพื้นที่ชุมชนบ้านสำโรง หมู่ 4 ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี กว่า 300 คน ลุกฮือปิดล้อมรถตำรวจทั้ง 3 นาย จนกำนันคนดังในพื้นที่ต้องออกโรงมานำตัวออกจากจุดเกิดเหตุ


แต่ปัญหาการจับหอยแครงในพื้นที่ยังไม่จบ ทางกลุ่มมาเฟียหอยแครง ยังคงเดินหน้าลักลอบใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย มาทำการลักลอบคราดเอาลูกหอยในพื้นที่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จนถูกชุดปฏิบัติการฉลามขาว ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจับกุมได้พร้อมของกลางที่เป็นลูกหอยแครงประมาณ 1,000 กิโลกรัม และ เครื่องมืออวนลากผิดกฎหมายนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมือง ดำเนินคดี

ทางกลุ่มชาวประมงพื้นที่จึงไม่พอใจที่กลุ่มผู้มีอิทธิพลใช้เครื่องมือผิดกฎหมายเข้าลากหอยในพื้นที่ดังกล่าว จึงเฮออกทะเลกว่า 10,000 คน บุกลุยจับลูกหอยแครงในพื้นที่อำเภอเมือง ทั้งในเขต 1,000 เมตร และ คอกหอยที่ปักไม้ไผ่ในพื้นที่ทั้ง 2 อำเภอ โดยไม่สนใจว่า คอกหอยแครงเป็นกลุ่มอิทธิพลใดๆ จนทำให้การปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้นำชุมชนลีเล็ด และผู้ประกอบการเลี้ยงหอยในพื้นที่ที่ไม่มีการอนุญาต จนมีการขับเรือไล่ชนและมีการยิงปืน และมีการเผาขนำกลางทะเลกันอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทั้งในส่วนของชาวบ้านและกลุ่มนายทุน เพราะทุกคนเล็งเห็นแค่ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองเท่านั้น ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเปรียบเสมือนเป็นขุมทรัพย์ที่มีค่ามหาศาล


แม้ว่าที่ผ่านมา ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น รวมถึงการรื้อถอนคอกหอยแครงเถื่อนในพื้นที่เขต 1,000 เมตร ในขณะที่ พล.ท.สิทธิพร มุสิกะสิน แม่ทัพน้อยที่ 4 ได้ลงมายังพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวถึง 2 ครั้ง แต่ก็ยังไม่เป็นผล เนื่องจากความขัดแย้งที่มีรุนแรงในการช่วงชิงทรัพยากรใต้ท้องทะเลที่มีมูลค่ามหาศาลยังไม่มีการหันหน้ามาพูดคุยกัน ทั้งกลุ่มบุคคลหลายฝ่าย เช่น กลุ่มนายทุนที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้หนุนหลังให้ความช่วยเหลือ กลุ่มผู้มีอิทธิพล (ผู้นำท้องถิ่น) และชาวประมงพื้นบ้าน รวมทั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมน้ำ ทำให้ปัญหาในพื้นที่ยังรอวันระเบิดได้ตลอดเวลา ถ้ายังไม่มีการพูดคุยและหาข้อยุติที่ชัดเจน


และล่าสุด (1 มิ.ย.) ที่ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประชุมร่วมกับส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ หน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนชาวประมงพื้นบ้าน ผู้เลี้ยงหอย ผู้ประกอบการรับซื้อลูกหอย ภาคประชาสังคม และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการเก็บลูกหอยแครงของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่อ่าวบ้านดอน หลังมีแนวโน้มจะเกิดความขัดแย้งขึ้น ระหว่างชาวประมงหาลูกหอยกับผู้เลี้ยงหอยแครงในอ่าวบ้านดอน โดยในเบื้องต้น ที่ประชุมได้ขอให้ผู้ประกอบการรับซื้อลูกหอยแครง หยุดรับซื้อหอยเป็นเวลา 3 วัน เพื่อหาข้อยุติปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นให้มีความชัดเจน และเป็นธรรมกับทุกฝ่ายต่อไป


แต่มติดังกล่าวที่ออกมาได้สร้างความไม่พอใจแก่กลุ่มประมงพื้นบ้านเป็นอย่างมากมองว่าทางภาครัฐเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มนายทุน และเดินหน้าลงทะเลจับหอยแครงโดยไม่สนคำสั่งของทางจังหวัด ที่สั่งให้หยุดจับหอยแครง โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เชื่อว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงอีกแน่ เนื่องจากชาวประมง นายทุน ภาครัฐ กำลังมองกันในคนละมุม ไม่สามารถที่จะมาจบกันลงได้ในเมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ยอมถอย


หลังจากนี้ก็ต้องมาติดตามว่า การแย่งขุมทรัพย์หอยแครง ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะจบลงอย่างไร ในเมื่อทั้งนายทุน และชาวประมงพื้นบ้านต่างก็ไม่ยอมที่จะถอยออกมา แม้ว่าทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะห้ามไม่ให้มีการจับลูกหอยแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม ถ้ายังคงเป็นแบบนี้เชื่อว่า ทะเลอ่าวบ้านดอนมีโอกาสลุกเป็นไฟอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น