เรื่อง : ขวัญฤทัย ปานนุ้ย / รูป : โตมร อภิวันทนากร
ขยะจากถุงนมกว่า 500 ถุงต่อวันใน โรงเรียนเทศบาล 5 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ภาคเรียนหนึ่งราว 40,000 ถุง จากจำนวนนักเรียน 500 กว่าคน แล้วในโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่กว่านี้จะมีการสร้างขยะจากถุงนมในแต่ละวันเป็นจำนวนมากมายขนาดไหน
หากเป็นแบบกล่องยังสามารถที่จะรีไซเคิลได้ แต่แบบถุงพลาสติกจะจัดการได้ยาก ล้างไม่สะอาดก็จะมีกลิ่น มีหนอน ขายไม่ได้ จะเผาก็อาจก่อให้เกิดมลพิษ นี่คือปัญหาใหญ่ส่วนหนึ่งใน วิกฤตปัญหาขยะล้นเมือง จะทำอย่างไรให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับรู้และเห็นความสำคัญในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
“พอพ-กรเกศ สมัครพงศ์” จากมูลนิธิรักบ้านเกิดภาคใต้ ซึ่งทำงานในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม มีความตระหนักถึงเรื่องขยะที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ในทุกวันนี้ จึงได้พยายามสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาด้วยการเข้าไปทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน โดยการให้ความรู้และสร้างทักษะในการจัดการขยะให้แก่นักเรียน ครูและผู้ปกครอง เพื่อนำไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อมทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ในการจัดการขยะแก่เด็ก ด้วยความหวังว่าเด็กจะเป็นผู้เริ่มต้นดูแลโลกในวันนี้เพื่อโลกที่ดีขึ้นของพวกเขาในอนาคต
ขยับแต่ละส่วน สร้างการมีส่วนร่วมทุกฝ่าย
เริ่มต้นกระบวนการด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับโรงเรียนเรื่องปัญหาขยะ วิธีการจัดการปัญหาขยะของโรงเรียน มองเห็นปัญหาอะไรบ้าง จะมาช่วยกันแก้ไขได้อย่างไรบ้าง โดยจะมี กิจกรรมอบรมการจัดการขยะ 5 ครั้ง ประกอบด้วย นักเรียนทั้ง 3 ช่วงชั้น (ปฐมวัย-ประถมต้น-ประถมปลาย) ครูและบุคลากรในโรงเรียน ผู้ปกครอง/ครอบครัวนักเรียน
นักเรียน - มีกิจกรรมรณรงค์ในโรงเรียนและบริเวณรอบๆ เรื่องการลดขยะ-แยกขยะ โดยนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย และกิจกรรมการประกวดความสะอาด-นักเรียนต้นแบบการลดขยะ การสร้างความเข้าใจในโรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญ นักเรียนสามารถนำความรู้กลับไปใช้ต่อที่บ้านได้ มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่บ้าน ขยะที่บ้านลดลง
เด็กมักจะอายเพื่อนไม่อยากพกพาอะไรเยอะแยะ ทั้งยังมีความลำบาก เพราะกระเป๋าหนังสือก็หนักมากอยู่แล้ว แต่เด็กบางคนก็มีความตระหนักเบื้องต้น มีความตั้งใจพกแก้วน้ำ พกถุงผ้า เด็กให้ความร่วมมือกับกิจกรรมดี แต่ในช่วงแรกๆ อาจจะต้องมีคนคอยแนะนำ ย้ำเตือนอยู่บ่อยๆ
ครู - ยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องขยะ ไม่รู้ว่าพฤติกรรมที่ทำอยู่มีส่วนในการสร้างขยะ มีบ้างบางคนที่ใช้ถุงผ้า ใช้กล่องใส่อาหาร แต่ในชีวิตประจำวันที่ต้องรีบเร่งในการมาสอน ก็อาจจะเลือกความสะดวกไว้ก่อน ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา
ครูเองก็มีงานมีกิจกรรมของตัวเอง จึงไม่มีเวลามากพอที่จะให้ความสนใจโครงการอย่างเต็มที่ แต่ก็ช่วยได้เยอะในการสร้างความเข้าใจให้แก่นักเรียนในแต่ละห้อง และมีการพูดคุยเน้นย้ำในช่วงเข้าแถวตอนเช้าทุกวัน
ผู้ปกครอง - จะได้พบกับผู้ปกครองทุกคนตอนมีกิจกรรมอบรมผู้ปกครอง แต่ได้มีการพูดคุยกับตัวแทนผู้ปกครอง 2 คน ซึ่งบอกว่าบางส่วนก็ทำอยู่บ้างแล้ว อย่างเช่นการใช้ถุงผ้า ทั้งนี้มีบางครอบครัวที่เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย หรืออยู่กับแม่คนเดียว และต้องเข้าใจด้วยว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ทำงานหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลามากพอ จึงมีความยากในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ถ้าเป็นโรงเรียนเอกชน ผู้ปกครองอาจจะมีความพร้อมกว่า ไม่ต้องดิ้นรนในการทำมาหากิน พฤติกรรมก็จะแตกต่างกัน มีเวลาที่จะจัดการตัวเองในการซื้อของ หรือสามารถไปกินที่ร้านได้เลย แต่ก็คาดว่าจะมีบางส่วนที่จะสามารถมีส่วนร่วมได้
โรงเรียน - นโยบายโรงเรียนเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อผู้อำนวยการเห็นความสำคัญ ให้ความร่วมมือ ก็ช่วยให้การจัดการทำได้ง่ายขึ้น โรงเรียนเทศบาล 5 มีนักเรียนจำนวนไม่มาก น่าจะมีการจัดการที่เกิดผลสำเร็จได้ และหากข้อเสนอที่ส่งไปยังเทศบาล สามารถมีการจัดการให้เกิดขึ้นได้จริง โดยมีนโยบายในการเปลี่ยนนมถุงพลาสติกมาเป็นแกนลอนแทน จะสามารถลดขยะในโรงเรียนได้เยอะมาก เมื่อโรงเรียนในเขตเทศบาลทำได้หมดแล้ว ก็ขยายไปยังเขตอื่นๆ ต่อ แต่เรื่องนี้คงจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากที่สุด
สำหรับโครงการนี้หากเป็นไปได้ก็อยากให้ไปถึงการเป็น โรงเรียนต้นแบบในการลดขยะ รอดูก่อนว่ากิจกรรมที่ทำไปทั้ง 2 ภาคเรียนนี้มีผลเป็นอย่างไร ถ้าสำเร็จอาจจะขยายต่อไปยังโรงเรียนเทศบาลอื่นๆ อยากทำต่อไปในทุกๆ โรงเรียน และในภาพใหญ่อยากเห็นการจัดการขยะที่ถูกวิธีครบรูปแบบ ตั้งแต่ในครัวเรือน โรงเรียน จนถึงเทศบาลที่มีระบบการจัดการที่ดี หากทุกส่วนช่วยกันเมืองจะต้องสะอาดขึ้นแน่นอน
เด็กในวันนี้ คือผู้ไม่สร้างขยะในวันหน้า
จากสภาพอากาศที่แปรปรวน ปัญหาขยะล้นเมือง สัตว์ทะเลตายด้วยขยะพลาสติก ต่อไปเราจะยังมีวาฬให้ได้เห็นไหม เราอาจจะอยู่ได้อีกไม่กี่สิบปี แต่ลูกยังต้องมีชีวิตอยู่ไปอีกหลายสิบปี ถ้าเราไม่ทำวันนี้ อนาคตของเขาจะเป็นอย่างไร เราจะตามไปดูแลไม่ได้แล้ว ปีที่แล้วจึงคิดว่าต้องลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจังได้แล้ว พูดกับลูกอยู่เสมอว่า “ที่แม่ทำนี่เพื่ออนาคตของลูกนะ ไม่ใช่อนาคตของแม่แล้ว”
เริ่มจากครอบครัวตัวเองก่อน ลูกคนเล็กจะให้ความร่วมมือดี แต่คนโตจะยากกว่า ถ้าได้เริ่มตั้งแต่ยังเล็กๆ จะดีที่สุด จึงเลือกทำกับโรงเรียนในระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ซึ่งเป็นวัยที่สามารถเรียนรู้และเปิดรับได้ดี สามารถปลูกฝังสร้างจิตสำนึก ซึ่งจะส่งผลไปยังพฤติกรรม หากมีการทำที่โรงเรียนแล้วมีการตอกย้ำที่บ้านอีก เด็กได้เห็นตลอดในวิถีชีวิต ได้ซึมซับจากการทำซ้ำๆ ในชีวิตประจำวันเขาจะไม่สร้างขยะ สามารถจัดการขยะได้ แยกขยะเป็น เป็นพฤติกรรมที่จะติดตัวไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ สามารถเป็นพลเมืองที่ดีในสังคมต่อไปได้
เริ่มที่เด็ก ลดที่เรา สร้างระบบที่ดี ขยะในวันนี้ต้องไม่เป็นปัญหาในวันต่อไป
เป้าหมายแรกต้องการให้ ลดการสร้างขยะในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะบริโภคนิยมจะมากับพลาสติก ความสะดวกสบายในวิถีชีวิตปัจจุบันก่อให้เกิดการสร้างขยะ และเมื่อไม่มีการแยกขยะอย่างถูกวิธี ก็ทำให้เกิดปัญหาในการจัดการขยะตามมา พฤติกรรมของคนจึงมีส่วนสำคัญ
คนญี่ปุ่นมีระบบการจัดการขยะที่ดี ขยะญี่ปุ่นจึงสะอาด สามารถเข้าโรงเผาได้เลย เพราะในแต่ละครัวเรือนมีการแยกขยะ และทำความสะอาดก่อนทิ้ง ของไทยทิ้งรวมกันหมด ทั้งขยะแห้ง ขยะเปียก แม้บางที่จะมีถังให้แยกก็ตาม จึงต้องมีการจัดการให้แห้งทั้งหมดก่อนนำไปเข้าโรงเผา ไม่อย่างนั้นจะทำให้เกิดขั้นตอนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เกิดเป็นมลพิษส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้คนและสิ่งแวดล้อมชุมชน
จะทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่า ความลำบากเป็นวิถี ไม่ใช่ความสะดวกสบาย อยากให้ตระหนักกันมากๆ พยายามสร้างขยะให้น้อยลง การแยกขยะจะยิ่งทำได้ง่ายขึ้น ทุกคนต้องเห็นว่าเป็นปัญหาที่ต้องจัดการร่วมกัน และต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ต้องใช้ใจมาทำงานร่วมกัน ตั้งแต่คนในชุมชน ไปถึงหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานในจังหวัด มีการให้ข้อมูลประชาชน วางระบบให้ดีทุกคนก็จะช่วยกันทำ
เมื่อมีการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ขยะจะลดน้อยลง ช่วยลดภาระในการจัดเก็บให้แก่เทศบาล ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อยู่ใกล้บริเวณกองขยะ และโรงเผาขยะก็จะสร้างมลพิษน้อยลง ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ไม่เกิดปัญหาขยะล้นเมือง สัตว์ทะเลก็จะไม่ต้องมาตายเพราะขยะในทะเล ซึ่งหากคนที่มีอำนาจในการจัดการไม่สนใจ ไม่ทำอย่างเป็นระบบก็ลำบาก
วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมปัจจุบัน กระตุ้นให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว มีการสร้างขยะโดยไม่จำเป็นมากขึ้น ก่อให้เกิดขยะจำนวนมหาศาลในแต่ละปี ซึ่งถูกละเลยในการรับผิดชอบปัญหา ทั้งจากผู้คนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกิดปัญหาขยะล้นเมืองลุกลามลงไปถึงทะเล ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นับวันจะยิ่งมีความรุนแรง จนเป็นวิกฤตปัญหาที่หลายพื้นที่ต้องเผชิญ
การสร้างการเรียนรู้ มีส่วนสำคัญในการสร้างวิธีคิดที่ถูกต้อง ซึ่งจะมีผลไปยังพฤติกรรมของเด็ก สู่การเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างขยะโดยไม่จำเป็น ใส่ใจที่จะคัดแยกขยะก่อนทิ้ง สร้าง การมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ จากแต่ละคน แต่ละครัวเรือน แต่ละโรงเรียน ไปสู่ทุกชุมชน และหากรัฐให้การสนับสนุนโดยมีระบบที่เอื้ออำนวยให้เกิด การจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การให้ความรู้ประชาชนให้มีการจัดการขยะที่ถูกวิธีตั้งแต่แหล่งกำเนิด การจัดเก็บอย่างเหมาะสม โดยหน่วยงานในแต่ละพื้นที่ และการกำจัดตามเกณฑ์มาตรฐานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด จึงจะสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาขยะได้อย่างยั่งยืน
งานที่ใช่ ชีวิตที่เลือก เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี
องค์กรที่เราอยู่ ไม่ได้ทำงานเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อคนอื่นๆ ในสังคม จะมองว่าเป็นปัญหาที่กระทบต่อคนทั่วไป ไม่ใช่แค่ตัวเรา ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เราสนใจ อยากที่จะทำ จึงได้เข้ามาเป็นพลังหนึ่งที่มีส่วนช่วยทำให้โครงการสำเร็จลุล่วงไปได้
เมื่อก่อนรู้สึกว่าตัวเองเป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง พอมาทำงานนี้แล้วได้เปิดมุมมองตัวเอง รู้สึกดีที่มีส่วนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สามารถช่วยคนอื่นได้ ก่อนหน้านี้เคยทำงานเรื่องเกษตรยั่งยืน ก็ทำให้เกษตรกรสามารถลดการใช้สารเคมี ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดิน น้ำ อากาศ ช่วยเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้
อยากทำงานแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะประเด็นไหนก็ดีทั้งนั้น อย่างโครงการที่ทำอยู่ตอนนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น หากคนในสังคมช่วยกันทำให้สิ่งแวดล้อมหรืออะไรก็ได้ดีขึ้น สังคมก็จะน่าอยู่มากขึ้น
ไม่ใช่เพียงปัญหาที่ตัวเองได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงปัญหาที่สร้างผลกระทบต่อคนหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยาก หรือเป็นปัญหาที่ใหญ่ ด้วยความเชื่อในพลังของการร่วมมือกันว่า จะสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ “พอพ-กรเกศ สมัครพงศ์” จึงพยายามที่จะเป็นพลังหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้น
การได้มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นสิทธิที่คนทุกคนควรมี ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดีนั้นจะเกิดขึ้นได้จาก การมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยทุกคน ภายใต้สังคมที่ทำให้คนทุกคนได้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของทรัพยากรสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ความตระหนักถึงอำนาจของตนเองในการเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถจะแก้ปัญหา พัฒนา และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
ต้องสร้าง “สังคมที่อยู่ร่วมกันโดยคำนึงถึงทุกคน” ให้ได้ จึงจะเกิดความยั่งยืนในการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีในวันนี้ จนถึงอนาคตของคนรุ่นต่อไป
หมายเหตุ : ติดตาม 10 พลเมืองสงขลา จากยุทธศาสตร์สู่ปฏิบัติการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สังคมเป็นสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน ได้ที่ https://www.facebook.com/SongkhlaFlagshipNode/