xs
xsm
sm
md
lg

ชนเผ่ามันนิในปะเหลียนสุดปลื้ม เดินทางรับมอบสิ่งของฝ่าวิกฤตโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - ชนเผ่าซาไก (มันนิ) ในพื้นที่ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง สุดปลื้ม พร้อมใจกันสวมหน้ากากอนามัย เดินทางรับมอบสิ่งของจากมูลนิธิต่างๆ เพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19 หลังรับทราบข่าวการระบาดจนต้องอพยพไปอยู่ในป่าลึก

ที่หน่วยพิทักษ์ป่าคลองตง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด หมู่ 14 บ้านคลองตง ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง (กรุงเทพฯ) ร่วมกับมูลนิธิกุศลสถานตรัง ป่วนเต๊กเซี่ยงตึ้ง และมูลนิธิสงเคราะห์ประสบภัย 14 จังหวัดภาคใต้ ได้เดินทางไปมอบสิ่งของอุปโภคบริโภคให้แก่ชนเผ่าซาไก (มันนิ) ที่อาศัยอยู่ภายในผืนป่า และกำลังได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมี นายนิพันธ์ รุ่งเรืองศิริพันธ์ หัวหน้ากู้ภัยมูลนิธิกุศลสถานตรัง นายสุนทร ศรีเมฆ หัวหน้ากลุ่มนโยบายและวิชาการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง พร้อมคณะกรรมการ และสมาชิกมูลนิธิกุศลสถานตรัง ร่วมกันมอบถุงยังชีพ

ทั้งนี้ บรรยากาศในพื้นที่มีครอบครัวชนเผ่าซาไก (มันนิ) ทั้งเด็ก หนุ่มสาว ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ จำนวน 40 คน เดินทางลงมาจากทับ (ที่พัก) มายังพื้นที่ที่ทางเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด จัดเตรียมให้ โดยมีการสวมหน้ากากอนามัยกันอย่างพร้อมเพรียงทุกคน ซึ่งทุกคนต่างรู้สึกดีใจที่ได้รับสิ่งของเพื่อการยังชีพ ในขณะเดียวกัน ก็มีความกลัวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจากได้รับทราบข่าว

นายชอบ รองเดช พนักงานหน่วยพิทักษ์ป่าคลองตง กล่าวว่า สำหรับชนเผ่าซาไก (มันนิ) ที่เดินทางมารับสิ่งของนั้น มาจากพื้นที่หมู่ 2 บ้านปลายคลองตง ต.ปะเหลียน และมาจากบ้านเขาหัวสูง หมู่ 14 บ้านคลองตง ต.ปะเหลียน ทั้งนี้ ตนเองได้ทำงานร่วมกับชนเผ่าซาไก (มันนิ) กลุ่มนี้มานานแล้ว จึงมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี และได้เข้าไปแนะนำต่อการรับมือการระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างถูกต้อง

ด้าน นายชัย ศรีปะเหลียน อายุ 80 ปี หัวหน้ากลุ่มชนเผ่าซาไก (มันนิ) กล่าวว่า มีความดีใจมากๆ ที่ได้รับสิ่งของที่สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารกิน หลังจากที่รับรู้ว่ามีการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จาก อสม.ในพื้นที่ ทำให้ทางครอบครัวต้องอพยพเข้าไปอาศัยอยู่ในป่าลึก เพราะหวาดกลัวต่อโรคดังกล่าว แต่วันนี้ทางสมาชิกกลุ่มทุกคนได้รับความช่วยเหลือจึงรู้สึกดีใจมากๆ








กำลังโหลดความคิดเห็น