xs
xsm
sm
md
lg

“หมุย” หรือ “หัสคุณ” พืชสมุนไพรในฐานะ “ผักเหนาะ” ที่สรรพคุณมากล้นจริงๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้ / โดย... สกนธ์ รัตนโกศล


“หัสคุณ” หรือ “หมุย” พืชสมุนไพรที่พบขึ้นตามป่าดงดิบเขา ตามลำธาร ตามป่าโปร่ง ทุ่งร้างทั่วไป

มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า คอมขน สามโซก (เชียงใหม่), หวด (ลำปาง), เพี้ยฟานดง สมัดดง สมัดต้น สมัดใหญ่ (เลย), หัสคุณ (สระบุรี), ฉี้ ลิ้นชี่ สาบแร้งสาบกา (จันทบุรี), หมอน้อย (อุตรดิตถ์), ดอกสะมัด สะแบก (อุดรธานี), ชะมุย (ชุมพร), มุยขาว (ประจวบคีรีขันธ์), หมุยขน (นครศรีธรรมราช), กะม่วง สมุยช้าง หมุยช้าง (ยะลา), มรุยช้าง (ตรัง), สมุย (สุราษฎร์ธานี), หมรุย หมุยใหญ่ (กระบี่), กาจับลัก จี้ปุกตัวผู้ จี้ย้อย มองคอง หญ้าสาบฮิ้น (ภาคเหนือ), หมุย สมุย หัสคุณ (ภาคใต้), สมัด, สมัดน้อย, สหัสคุณ, หัสคุณไทย เป็นต้น

มีชื่อสามัญ Lime Berry ชื่อวิทยาศาสตร์ Micromelum minutum Wight & Arn. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Glycosmis subvelutina F.Muell.) จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย AURANTIOIDEAE



ลักษณะทางพฤษศาสตร์

จัดเป็นไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงได้ถึง 10 เมตร ตามกิ่งอ่อนมีขนสั้นสีเทา ส่วนต้นเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องตื้นตามยาว

- “ใบ” เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 7-15 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวอ่อน เนื้อใบบาง มีต่อมน้ำมันเล็กๆ จับดูแล้วจะรู้สึกเหนียว หลังใบเกือบเรียบถึงมีขนสั้นๆ ส่วนท้องใบมีขนบางๆ ใบมีกลิ่นหอมเหมือนการบูร มีรสหอมร้อน

- “ดอก” ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยมีกลีบดอกเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีขาวแกมเหลือง เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะม้วนไปด้านหลังเล็กน้อย

- “ผล” เป็นผลสด ออกเป็นพวงโต ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวยหรือรูปไข่ขนาดเล็ก ผิวผลเรียบใส ฉ่ำน้ำ ผลเป็นสีเขียวอ่อน มีขนปกคลุม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีแดง

การขยายพันธุ์ทำได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด



สรรพคุณ

ตำรายาไทยระบุว่า “หัสคุณ” เป็นยารสเผ็ดร้อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้เสมหะและลมทั้งปวง และใช้เป็นยาขับพยาธิ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) นอกจากนี้ มีหลายตำราระบุไว้มากมาย จากการประมวลได้ เช่น

“ใบ” มีกลิ่นหอม รสเผ็ดร้อน มีสรรพคุณช่วยแก้ลมอันเสียดแทง ช่วยขับลม ยอกในข้อ เป็นยาแก้หืดไอ แก้ไอ แก้ไข้ แก้ไข้อันผอมเหลือง นำมาตำใช้เป็นยาทาแก้คัน หรือนำมาพอกประคบหรืออบไอน้ำ แก้ผื่นคันตามผิวหนัง กระจายเลือดลมให้เดินสะดวก และช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ อัมพาต

“ใบและเปลือก” ใช้เป็นยารมรักษาริดสีดวงจมูก (เมื่อโดนละอองยาจะร้อนมากจนแสบจมูก)

“ดอก” มีกลิ่นหอม รสร้อน ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรค รักษาแผลเรื้อรัง และมีสรรพคุณช่วยแก้เสมหะให้ตก ขับเสมหะให้ลงสู่คูถทวาร

“ผล” มีสรรพคุณเป็นยาถ่าย

“เปลือกต้น” มีรสร้อน มีสรรพคุณช่วยแก้โลหิตในลำคอ และลำไส้ให้กระจาย

“กระพี้” มีรสร้อน ใช้เป็นยาแก้โลหิตในลำไส้

“ต้น” มีรสร้อน มีสรรพคุณช่วยแก้ไอ แก้ลมภายในให้กระจาย และมีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิไส้เดือน

“ราก” มีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคหอบหืด เป็นยาแก้ไข้ แก้ลม แก้โลหิตอันข้นด้วยบุพโพ ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวง ยาขับเลือดและหนอง ใช้เป็นยาพอกแผลริดสีดวงจมูก และแผลคุดทะราด และตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากหัสคุณผสมกับรากปลาไหลเผือก ฝนกับน้ำซาวข้าวกินเป็นยารักษานิ่วในไต

“ทั้งต้น” มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงน้ำดี และเมื่อนำมาใช้ร่วมกันในพิกัด “สหัสคุณทั้ง 2” คือ หัสคุณ (สมัดน้อย) ที่กล่าวถึงในบทความนี้ และสหัสคุณเทศ (สมัดใหญ่) หรือหวดหม่อน (มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clausena excavata Burm.f.) โบราณว่า มีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาขับลมในท้อง แก้ผอมแห้ง หืดไอ แก้ริดสีดวง ช่วยขับเลือด ขับหนองให้ตก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา สารสกัดจากต้นหัสคุณมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบในสัตว์ทดลอง


ประโยชน์

คุณค่าทางด้านอาหาร ยอดใบหมุย 100 กรัม ให้เส้นใยอาหาร (Fiber) 14.2 กรัม เบต้าแคโรทีน 5,390 มิลลิกรัม ให้โปรตีน แคลเซียม วิตามิน A วิตามิน C เหล็ก และสารอาหารอีกหลายอย่าง มีรสเผ็ดร้อน มัน และกลิ่นหอม จึงนิยมใช้ยอดอ่อนและดอกเป็นผักแกล้ม ในภาคใต้ เรียกว่า ผักเหนาะ ใช้แกล้มน้ำพริก แกงเผ็ด แกงไตปลา แกงหน่อไม้ ลาบ ยำ ขนมจีนน้ำยา

ส่วนหมุยที่นิยมนำมาใช้กินกันก็คือ หมุยหอม สำหรับหมุยขมและหมุยช้าง จะมีรสทั้งเฝื่อน ขมจัด ไม่นิยมกินกันนะขอรับ












บรรณานุกรม

- medthai.com › สมุนไพร
- www.technologychaoban.com › เด่นวันนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น