สตูล - “วัดชนาธิปเฉลิม” มุ่งพัฒนาชุมชน นอกจากจะเป็นศาสนสถานยังเปลี่ยนเป็นศูนย์เรียนรู้ระบบสุขภาพตามวิถีชุมชน การจัดการขยะ และแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา
วันนี้ (19 พ.ค.) ที่วัดชนาธิปเฉลิม พระอารามหลวง ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล พระครูสุนทรธรรมนิเทศก์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนาธิปเฉลิม ระบุว่า ทางวัดได้มีมติเมื่อปี 2559 ในการงดเผาขยะธรรมชาติ เพื่อแก้ปัญหามลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมภายในวัด สถานศึกษาและชุมชนใกล้เคียง โดยการนำขยะธรรมชาติมาแปรรูปเป็นปุ๋ยหมัก ที่เหลือนำไปแจกจ่ายญาติโยม
โดยวงจรในการดูแลรักษาอาหารบิณฑบาตของทางวัด หลังฉันเสร็จแล้ว ญาติโยม เหลือให้ สุนัข แมว นก จะนำเศษอาหารเหลือมาหมักรวมกับใบไม้ป่นเข้าโรงปุ๋ย ซึ่งมีขั้นตอนอธิบายไว้พร้อมสรรพสำหรับญาติ โยมชาวบ้านในชุมชนใกล้และไกลมาศึกษาดูงานยัง “ศูนย์เรียนรู้ระบบสุขภาพตามวิถีชุมชน” (การแปรรูปขยะธรรมชาติ) ที่มีการจัดการขยะภายในวัดอย่างเป็นระบบ ก่อนคืนสู่ชุมชนและญาติโยมในรูปของปุ๋ยเพื่อไปรดน้ำผัก และผลผลิต
นอกจากนี้ ทางวัดชนาธิปเฉลิม ยังเปิดพื้นที่วัดที่ว่างเปล่ามาเป็น “แหล่งเรียนรู้การใช้ หลักธรรมในการดำรงชีพ ตามศาสตร์พระราชา” โดยแปลงเรียนรู้ในนี้จะปลูกผักสวนครัวหมุนเวียนไว้เพื่อรับประทาน เช่น มะระ มะนาว มะเขือ ผักบุ้ง และผักคะน้า ให้ญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดและชุมชนใกล้วัดได้นำกลับไปรับประทานกันด้วย
นอกจากนี้ ยังมีพืชกลุ่มสมุนไพร ทำยา ก็มีการปลูกไว้เพื่อแปรรูปเป็นยาฉีดกันยุงจากตะไคร้หอม หรือการทำแอลกอฮอล์ล้างมือจากตะไคร้หอม เพื่อแจกจ่ายในวันสำคัญทางพุทธศาสนาบริการญาติโยมที่มาวัด
ทำให้ที่วัดชนาธิปเฉลิมแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงที่ปฏิบัติธรรมและประกอบศาสนากิจทางศาสนาเพียงอย่างเดียว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้การบริหารจัดการขยะ การปลูกพืชผักสวนครัวและสวนสมุนไพร ไปพร้อมกับการดูแลแจกจ่ายให้ญาติโยมได้ทานผักที่ปลอดสารพิษ โดยมีชุมชนมาร่วมกันดูแล
พระครูสุนทรธรรมนิเทศก์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนาธิปเฉลิม กล่าวว่า พร้อมกันนี้ทางวัดได้จัดทำแปลงปลูกพืชผักปลอดสารพิษเพื่อทดสอบคุณภาพปุ๋ยมอบให้ชุมชนดูแล เพื่อส่งเสริมการใช้หลักธรรมในการทำงาน และให้ความรู้ด้านการผลิตพืชผลปลอดสารพิษ นำไปบริโภคในครัวเรือน และบริการสมาชิกชุมชนเป็นรายได้เสริม โดยมีแปลงสาธิตภายในวัดและในพื้นที่ของชุมชนพร้อมสนับสนุนทุนในการจัดการ
ปัจจุบัน กิจกรรมการแปรรูปขยะธรรมชาติพัฒนาเป็นโรงผลิตชีวภัณฑ์ขนาดย่อม สมาชิกชุดเข้ารับการเรียนรู้วิธีผลิตปุ๋ยชีวภาพไว้ใช้เอง ประกอบด้วย ปุ๋ยหมักคุณภาพสูง ดินปลูก หัวเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ รวมทั้งชีวภัณฑ์ป้องกันโรคและศัตรูพืชปลอดสารพิษด้ววัตถุดิบชีววิถี
และยังเรียนรู้ที่ใช้หลักธรรมในการดำเนินชีวิตตามหลักพระราชา ตรงจุดนี้ทางวัดยังใช้พื้นที่ว่างเปล่า จัดสรรให้เป็นแหล่งเรียนรู้ดำเนินชีวิตตามศาสตร์พระราชาเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม อีกหนึ่งคือวัดได้กลายเป็นแหล่งสะสมขยะ โดยทางเทศบาลเมืองสตูลเองก็มีความกังวลในเรื่องของการขนย้าย จึงเกิดแนวคิดแปรรูปให้เป็นปุ๋ย พร้อมกันนี้ได้มีแปลงทดลองนำผักมาปลูก และเกิดผลผลิตเป็นที่พอใจ
นอกจากพืชผักสวนครัวแล้วยังมีสมุนไพรหลากหลายชนิด ให้ชุมชนได้ศึกษาและเป็นแหล่งเรียนรู้ ญาติโยมก็สามารถมาเก็บไปได้โดยไม่ต้องซื้อ ทางวัดก็แบ่งปันให้กับญาติโยมที่ขาดแคลน ซึ่งปลอดสารพิษด้วย และการจัดการดังกล่าวเป็นการทำร่วมกันระหว่างวัดและชุมชนโดยมีชุมชนเป็นผู้ดูแล
นางวิไลลักษณ์ ผ่องช่วย ข้าราชการบำนาญ สมาชิกในวัดช่วยดูแลแปลงผักสมุนไพร กล่าวว่า ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของวัดก็ได้รับมอบหมายให้มาดูแล ไม่ว่าจะเป็นแปลงผักบุ้ง ผักคะน้า ที่ดูแลในการปลูก รดน้ำ ใส่ปุ๋ยและพรวนดิน หลังได้ผลผลิตก็จะนำไปแจกจ่ายให้แก่คนที่ต้องการหรือขาดแคลน
โครงการดังกล่าวมีประโยชน์มาก นอกจากจะได้รับประทานผักไม่มีสารพิษแล้วยังได้ผักไปกินโดยไม่ต้องเสียงเงิน โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ ชุมชนที่อยู่ในรอบบริเวณวัดจะได้รับผักสวนครัวไปรับประทาน ประกอบอาหารดำรงชีพได้ ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนทั่วไปด้วย