xs
xsm
sm
md
lg

“เมืองอุตสาหกรรมจะนะ” กับแนวความคิด “ดร.เจ๋ง” และ “ไครียะห์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โดย... เป็นหนึ่ง ฝนโปรยปราย


จากกรณีที่ น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ เด็กสาวแห่ง อ.จะนะ จ.สงขลา ได้เขียนหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนการสร้างเมืองอุตสาหกรรมในแถบลุ่มทะเลที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเกิดจากแนวความคิดของผู้บริหาร “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)” คนหนึ่งภายใต้การนำของ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต.

ความจริงแล้วโครงการดังกล่าวนี้มีจุดเริ่มต้นจาก ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม นั่งตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ซึ่งเวลานี้ก็เพิ่งได้รับโปรโมตให้ขึ้นสู่ตำแหน่ง “รองเลขาธิการ ศอ.บต.” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เขาคือผู้ที่ค่อยปลุกปั้น เติมแต่งและผลักดันให้โครงการเมืองอุตสาหกรรมจะนะเดินหน้ามาต่อเนื่อง โดยการประสานแรงเสริมจาก “นักการเมือง” ดาวเด่นระดับต้นๆ ใน จ.สงขลา เพื่อผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมตามโครงการที่วางแผนกันไว้

“ดร.เจ๋ง” หรือ ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม หลังเข้ารับตำแหน่งในฐานะผู้รับผิดชอบการพัฒนาระบบเศรษฐกิจพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เดินหน้าในโครงการหลายๆ อย่างในพื้นที่ ตั้งแต่การก่อตั้ง “จะนะเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” การส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ปลูก “ไผ่กิมซุง” เพื่อนำไปป้อนเป็นวัตถุดิบให้แก่ “โรงไฟฟ้าชีวมวล” ซึ่งมีการหารือและดูงาน อีกทั้งติดต่อผู้ชำนาญการเรื่องไผ่จากประเทศเกาหลี และยังนำผู้บริหารบริษัทพลังงานจากประเทศเกาหลีเดินทางมายังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรในการปลูกไผ่ ซึ่งยืนยันว่าไผ่ที่แจกจ่ายให้แก่เกษตรกรทั้งหมดนั้นจะถูกรับซื้อเข้าโรงไฟฟ้าชีวมวลที่กำลังผุดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทำให้เห็นว่าโครงการดังกล่าวมีการจัดวางระบบเพื่อผลประโยชน์กันเป็นทอดๆ อย่างต่อเนื่อง

จนถึงคราวที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดเมื่อกลางปี 2562 ประมาณเดือนกันยายน เมื่อมีคนร้ายลอบวางเพลิงเผาศาลาที่พักริมทางในพื้นที่ ต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา และเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบเพื่อเก็บหลักฐานก็ทำให้พบกับ “แผ่นใบปลิว” ที่ถูกทิ้งไว้และมีข้อความเขียนถึง “ดร.เจ๋ง” หรือ ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม โดยมีใจความให้ย้ายออกไปจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยทันที ไม่อย่างนั้นอาจจะถูกปองร้ายถึงชีวิต ซึ่งข่าวดังกล่าว สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ข้าราชการใน ศอ.บต.ไม่น้อย

แต่อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุขู่ฆ่าครั้งนั้น ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม ก็ยังคงเดินทางป้อนโครงการต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เหมาสมต่อการเป็นเมืองที่กำลังพัฒนา โดยหันทิศทางการพัฒนาไปยังพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา โดยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เอางบประมาณและโครงการต่างๆ ลงไปให้ชาวบ้าน สร้างแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ หวังให้ชาวบ้านได้มีรายได้ และปรับปรุงภูมิทัศน์บ่อน้ำร้อนแห่งใหม่ เป็นต้น

กระนั้นก็ตาม การดำเนินโครงการต่างๆ โดยเฉพาะ “โรงไฟฟ้าชีวมวล” และการแจกจ่าย “พันธุ์ต้นไผ่” ก็ยังคงเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต

จนที่สุดแล้วเรื่องที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด “คาร์บอมบ์บริเวณหน้า ศอ.บต.” เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้บริหารหลายหน่วยงานในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ได้มาร่วมประชุมเตรียมการรองรับสถานการณ์โควิด-19 กำลังเริ่มแพร่ระบาดอยู่ในขณะนั้น

โดยครั้งนั้น ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ขณะนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานภายในอาคารใกล้กับจุดที่เกิดเหตุประมาณ 200 เมตร แต่หลายข่าวก็พุ่งเป้าการก่อเหตุในครั้งนี้ว่า เป็นการตอบโต้ของกองกำลังฝ่ายตรงข้ามรัฐ เป้าหมายอยู่ที่กองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเวลานนั้นมีการเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ ต.ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา

เรื่องนี้นักวิเคราะห์สายหนึ่ง ระบุว่า ความจริงแล้วนั้นการก่อเหตุลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์บริเวณหน้า ศอ.บต.มีเป้าหมายตรงไปยัง ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม ตามที่กลุ่มคนร้ายได้ประกาศไว้บนแผ่นใบปลิวที่ทิ้งไว้ในศาลาที่พักริมทางที่ ต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ได้เก็บหลักฐานไว้ได้

ล่าสุด ทราบว่าพื้นที่ 3 ตำบลใน อ.จะนะ จ.สงขลา ได้แก่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม ซึ่งถูกปลุกปั้นให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมแห่งใหม่นั้น ที่ดินหลายแปลงได้ถูกกว้านซื้อไปแล้ว ตามคำบอกเล่าของนักการเมืองท้องถิ่นว่า ชาวบ้านในพื้นที่ยอมรับโครงการและยินดีให้พัฒนาจะนะเป็นเมืองอุตสาหกรรมตามโครงการของ ศอ.บต.

ขณะเดียวกัน กลับมีเด็กสาว “ลูกสาวแห่งท้องทะเลจะนะ” น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ ได้เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี โดยส่งผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนการทุ่มงบประมาณลงไปเพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตชาวบ้านริมทะเลจะนะให้รับกับอุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ แนวความคิดของเด็กสาวดังกล่าวแม้ถูกพูดถึงในหลากหลายมุมมอง โดยเฉพาะนักสิทธิมนุษยชนและกลุ่ม NGOs บางกลุ่มกำลังหนุนหลัง บ้างว่าเป็นเพราะผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวกัน แต่หากคิดอีกแนวทางหนึ่ง วิถีชีวิตของชาวบ้านแห่งท้องทะเลจะนะหลายครัวเรือนกำลังจะเปลี่ยนไป ระบบนิเวศของทะเลจะนะจะสูญหายไป กุ้ง หอย ปู ปลา ที่ชาวประมงพื้นบ้านจะนะเคยหาได้จะหดหายไป

แล้วการที่ น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ ออกมาแสดงตัวเรียกร้องขอความเป็นธรรมนั้นเพื่อสิ่งใด หากมิใช่การเรียกร้องเพื่อให้วิถีชีวิตชาวเลแห่งท้องทะเลจะนะยังคงอยู่ต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น