xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายนักวิชาการห่วงกังวล “ศอ.บต.” กำลังสร้างความขัดแย้งใหม่ให้เกิดขึ้นในชายแดนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายนักวิชาการห่วงกังวล “ศอ.บต.” กำลังสร้างความขัดแย้งใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ ออกแถลงการณ์เรียกร้อง “รัฐบาล-ศอ.บต.” ทบทวนโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

ด้วยความเป็นห่วงต่อการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ชายหาดธรรมชาติทางทะเลและชุมชน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งใหม่ระหว่างประชาชน และรัฐบาลอันเนื่องมาจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ฉวยโอกาสที่ประเทศไทยกำลังประสบวิกฤตการระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 เพราะขณะนี้รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคร้าย มีการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและการทำกิจกรรมต่างๆ ของประชาชน ซึ่งทำให้การเปิดรับฟังความคิดเห็นไม่อาจเป็นไปโดยเสรีตามเจตจำนงของประชาชน และชุมชนอย่างแท้จริง การเร่งรัดโครงการฯ ทำให้เกิดการตัดโอกาสประชาชนที่มีความห่วงใยในโครงการฯ หาก ศอ.บต. จะยังคงเดินหน้าจัดการรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อไป ก็จะทำให้การดำเนินโครงการฯ ขาดความชอบธรรม และเป็นการสร้างปัญหาใหม่ ซึ่งขัดแย้งกับภารกิจของตนเองที่มีหน้าที่ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง แต่กลับเป็นผู้ก่อชนวนความขัดแย้งอย่างไม่จำเป็น

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบหลักการการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ให้เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต และได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 เห็นชอบให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้กำกับและดำเนินการให้ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ในลักษณะเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยจะใช้เงินลงทุน จำนวน 18,680 ล้านบาท โครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 16,700 ไร่ และมีผลกระทบในวงกว้างเกินกว่าระดับจังหวัด การดำเนินโครงการจะส่งผลกระทบอย่างถาวรในวงกว้างครอบคลุมในทุกมิติ เช่น วิถีชีวิต รูปแบบการดำเนินชีวิต อาชีพ ประเพณีและวัฒนธรรม ระบบนิเวศทางบกและทางทะเล อีกทั้งยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงผังเมืองเดิม โดยการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่เกษตรกรรมให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม และมีแผนการดำเนินการต่อเนื่องด้านโครงข่ายการขนส่ง การคมนาคม ด้านพลังงาน รวมทั้งมีการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้มีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จากนักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียงอย่างกว้างขวาง

เครือข่ายนักวิชาการ ดังมีรายนามแนบท้ายนี้ เห็นว่า โครงการดังกล่าวมีปัญหาในหลายประเด็น จึงขอแสดงข้อห่วงกังวล และไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการดังกล่าว ดังนี้

1. การดำเนินโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีความหมาย (Meaningful Public Participation) และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ

การเห็นชอบในหลักการการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ โดยคณะรัฐมนตรีขาดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสียตั้งแต่ต้น รัฐบาลไม่เคยสอบถามประชาชนผู้มีส่วนได้เสียว่าต้องการให้ภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่ของเขานั้นเป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” หรือไม่ และแม้ภายหลังการเห็นชอบในหลักการแล้ว ศอ.บต. ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลในการรับผิดชอบการดำเนินการโครงการ จะได้มีจัดให้มีเวทีนำเสนอโครงการ และรับฟังความคิดเห็น ซึ่งได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ในเวทีดังกล่าวไม่มีการให้ข้อมูลอย่างรอบด้านทั้งก่อน และในเวทีรับฟังความคิดเห็น รวมถึงการปิดกั้นการมีสวนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในต่างหมู่บ้านแม้อยู่ในตำบลเดียวกัน

นอกจากนี้ ศอ.บต. ยังได้ออกประกาศเรื่อง “การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในช่วงวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2563” เพื่อการดำเนินโครงการ “การขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา” แม้ว่าในขณะนี้ ศอ.บต. จะได้เลื่อนการรับฟังความคิดเห็นออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่หากพิจารณารายละเอียดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วจะพบว่าไม่ได้มีการให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างรอบด้าน หากแต่มีลักษณะเร่งรัดในการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายในเชิงแบบพิธีเท่านั้น มีการจำกัดสิทธิของประชาชนที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ในวงจำกัด ซึ่งไม่ครอบคลุมประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบตามความเป็นจริง อีกทั้งยังให้ข้อมูลที่ไม่มีรายละเอียดชัดเจนเพียงพอต่อการแสดงความคิดเห็น และการกำหนดให้ประชาชนต้องเป็นผู้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเป็นเงื่อนไขที่สร้างภาระเกินสมควร หากแม้จะมีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นดังรายละเอียดที่ ศอ.บต. ได้กำหนดแล้วนั้น ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีความหมายแต่อย่างใด และยังเป็นการขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสิทธิชุมชนที่รัฐธรรมนูญได้รับรองเอาไว้ด้วย

2. ศอ.บต. กำลังสร้างความขัดแย้งใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้

ศอ.บต. มีภารกิจและหน้าที่ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ได้ฉวยโอกาสที่ประเทศไทยกำลังประสบวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 และตัดขาดการรับฟังประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง ทำให้ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การเร่งรัดของ ศอ.บต. ในช่วงเวลาปัญหาโควิด-19 จึงขาดความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง เพราะขณะนี้รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคร้าย โดยมีมาตรการห้ามมีการรวมตัวกันของประชาชน ที่เรียกว่า “การเพิ่มระยะห่างทางสังคม” ในขณะที่โครงการฯ จะสร้างผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนอย่างมาก แต่ประชาชนกลับไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อประชุมสร้างความเข้าใจโครงการได้อย่างอิสระ และใช้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในการทักท้วง และสอบถามข้อมูล รวมถึงการใช้สิทธิในฐานะชุมชน ไม่อาจรับฟังถึงผลดีผลเสีย และนำเสนอข้อคิดเห็นได้อย่างอิสระโดยปราศจากความกลัวต่อโรคร้าย และต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะทำให้การดำเนินโครงการมีความรอบคอบมากขึ้น นอกจากนี้ เครือขายนักวิชาการมีความคิดเห็นว่า ศอ.บต. กำลังหมิ่นเหม่ที่จะผลักดันโครงการที่จะทำลายสิทธิและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง ทำลายปิดกั้นผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่าง โดยกีดกันไม่ให้ใช้สิทธิตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญในการเรียกร้องของประชาชนในนาม “เครือขายจะนะรักษ์ถิ่น”

การดำเนินการในลักษณะนี้ ศอ.บต. กำลังสร้างความขัดแย้งใหม่ระหว่างประชาชน และหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นการขัดแย้งกันเองในปรัชญา ภารกิจ และหน้าที่ของหน่วยงาน ศอ.บต. ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง

3. การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างโดยสันติเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ

ขณะนี้ได้มีประชาชนอำเภอจะนะ แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการโดยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อขอให้ยุติโครงการจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2563 และทบทวนโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” โดย น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ ได้ใช้การดื้อแพ่งอย่างสันติ ปักหลักนั่งรอคำตอบอยู่ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา เครือข่ายนักวิชาการมีความคิดเห็นว่า การดื้อแพ่งอย่างสันติโดย น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ เป็นการแสดงออกถึงความกล้าหาญของสตรีมุสลิมจะนะที่ห่วงใยชุมชน ธรรมชาติ และมีความวิตกกังวลจากการเร่งรัดดำเนินการในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ควรใช้อำนาจตามอำเภอใจในการจำกัดการใช้สิทธิดังกล่าว รวมถึงการคุกคามนอกกฎหมายรูปแบบอื่นๆ

อาศัยข้อห่วงกังวล และเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้น เครือข่ายนักวิชาการ จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล และ ศอ.บต. ดังนี้

1. ให้ทบทวนโครงการ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ” โดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ โดยไม่กำหนดการตัดสินใจว่าจะดำเนินหรือไม่ดำเนินโครงการเอาไว้ล่วงหน้า

2. ในการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จะมีขึ้นในอนาคต ขอให้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสิทธิชุมชนที่ได้รับการรับรองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนจะต้องสามารถเข้ามีส่วนร่วมได้อย่างมีความหมาย

3. ไม่ใช้มาตรการทางกฎหมาย หรือการคุกคามใดที่เป็นการขัดขวาง หรือกีดกันการใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างโดยสันติ ดังเช่นกรณี น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ และกรณีอื่นๆ ที่อาจมีขึ้นต่อไป
รายชื่อเครือข่ายนักวิชาการ ดังนี้

1. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
2. ผศ.สดใส ขันติวรพงศ์
3. ดร.อาภา หวังเกียรติ มหาวิทยาลัยรังสิต
4. ดร.สมพร ช่วยอารีย์
5. กฤษณ์พชร โสมณวัตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
6. ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
7. วัชลาวลี คำบุญเรือง นักวิจัยอิสระ
8. ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
9. รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
10. อ.สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
11. ผศ.ดร.นัทมน คงเจริญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
12. ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ บุรุษรัตนพันธุ์ อดีตนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
13. เขมชาติ ตนบุญ นักวิจัยอิสระ
14. สมพร เพ็งค่ำ นักวิชาการอิสระด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน
15. สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
16. สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภาคตะวันออก
17. ผศ.เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ นักวิชาการอิสระ
18. บูฆอรี ยีหมะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
19. ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
20. อ.กิติมา ขุนทอง มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
21. ดร.มรกต ดิษฐาอภิชัย วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
22. ผศ.ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
23. เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
24. ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
25. ดร.ดวงหทัย บูรณเจริญกิจ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
26. บดินทร์ สายแสง สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
27. งามศุกร์ รัตนเสถียร สถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
28. อริศรา เหล็กคำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
29. สืบสกุล กิจนุกร ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
30. ธีรวัฒน์ ขวัญใจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
31. ธวัช มณีผ่อง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
32. ดร.อารยา สุขสม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา
33. พฤหัส พหลกุลบุตร นักวิชาการ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน มะขามป้อม
34. ผศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
35. อ.พสุธา โกมลมาลย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
36. ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
37. ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
38. พญ.ปาริชาติ ภิญโญศรี คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
39. อ.ประสิทธิ์ สว่างศรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
40. ดร.ลัดดา ประสพสมบัติ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
41. สุชาดา พงศ์กิตติวิบูลย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
42. ผศ.ดร.ทพญ.ศศิธร ไชยประสิทธิ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
43. เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์
44. นราสิทธิ์ วงษ์ประเสริฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น