xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยัน “รพ.ยะลา” มีมาตรฐาน รอผล 40 รายแล็บ 3 ไม่เกินพรุ่งนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากเพจ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ยัน “แล็บยะลา” มีมาตรฐานผ่านเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อ ตรวจมาแล้วกว่า 4,000 ตัวอย่างในรอบ 4 เดือน ชี้ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ยันตรวจรอบที่ 3 รอผลไม่เกินพรุ่งนี้

จากกรณีที่ตรวจพบผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 40 ราย ในพื้นที่ จ.ยะลา ซึ่งเป็นผลการตรวจครั้งแรกจาก รพ.ศูนย์ยะลา แต่หลังจากนั้นได้ส่งไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.สงขลา แล้วปรากฏว่า ผลออกมาเป็นลบทุกคนนั้น

วันนี้ (5 พ.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงว่า การตรวจของ จ.ยะลาใช้วิธีการตรวจแบบเชิงรุก ทำเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีผู้ติดเชื้ออยู่ในชุมชน ปกติจากการตรวจส่วนใหญ่ โอกาสจะเจอผู้ป่วยติดเชื้อไม่เกิน 5% ดังนั้น เมื่อตรวจเจอความผิดปกติก็ต้องสอบทานรายงานกัน ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่ จ.ยะลาดำเนินการที่ได้ทำตามมาตรฐานคือ พบว่า ตอนตรวจเนกาทีฟคอนโทรล หรือตัวเปรียบเทียบที่เป็นลบ ใช้คำง่ายๆ ก็คือ น้ำเปล่า มันตรวจเจอเชื้อ แสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ตามมาตรฐานเจ้าหน้าที่ห้องแล็บต้องหยุดตรวจและรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ รายงานจังหวัดให้รับทราบ

“แล็บ รพ.ยะลาเป็นแล็บที่ผ่านเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อของกรม ที่ผ่านมาได้ตรวจบริการประชาชนใน จ.ยะลาไปแล้วกว่า 4,000 ตัวอย่างใน 1 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้น สิ่งที่เขาปฏิบัติถือว่ามีมาตรฐานในการดำเนินงาน ส่วนสาเหตุว่าทำไมจึงตรวจแล้วตัวเปรียบเทียบที่เป็นลบเกิดผลบวกขึ้นมา ในทางห้องปฏิบัติการ เราก็พบว่า ความคลาดเคลื่อน หรือว่าความผิดพลาด หรือเออเรอร์ มันเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่เฉพาะแต่แล็บ ในระบบต่างๆ โดยหลักๆ ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้จาก 3 อย่าง คือ (1) ความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ (2) ความผิดพลาดจากเครื่องมือ และ (3) ความผิดพลาดของระบบ ดังนั้น ต้องหาสาเหตุและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า การตรวจของทุกแล็บไม่ใช่ว่าจะได้ผลเหมือนเดิมทุกครั้งเสมอไป แม้แต่แล็บมาตรฐานอย่าง รพ.จุฬา และของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในตอนต้นที่มีเพียง 2 แห่งนี้ ก็เคยมีผลตรวจที่ไม่ตรงกัน ซึ่งก็ได้ใช้วิธีคือ เอาตัวอย่างมาตรวจซ้ำอีก หรือหาแล็บอื่นช่วยตรวจซ้ำยืนยัน ซึ่งที่ผ่านมา วิธีการเช่นนี้ก็ทำให้เราสรุปได้ ซึ่งกรณี 40 คนของ จ.ยะลา ได้มีการนำตัวอย่างมาตรวจซ้ำที่แล็บอ้างอิงของประเทศ คือแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ส่วนกลางต่อไป ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการส่งตัวอย่างมา คาดว่าผลน่าจะออกไม่เกินพรุ่งนี้ อย่างไรก็ตาม ความคลาดเคลื่อนนี้ไม่น่าจะทำให้เกิดปัญหาใดๆ เพราะในทางปฏิบัติ เรากำหนดไว้ว่า หากตัวอย่างที่สงสัยว่าจะเป็นบวกในมาตรการควบคุมโรคให้ดำเนินการได้เลย

นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ขณะนี้คณะผู้เชี่ยวชาญของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ รพ.สงขลานครินทร์ได้ลงไปสนับสนุนเพื่อช่วยห้องแล็บของ รพ.ยะลาเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น เกิดเออเรอร์ หรือความผิดปกติตรงไหน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตต่อไป







กำลังโหลดความคิดเห็น