xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “รอมฎอน” ในสถานการณ์โควิด-19 อย่าเพิ่งวางใจหลัง “บีอาร์เอ็น” ประกาศหยุดยิง (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภาคใต้ - จับตา “รอมฎอน” ในสถานการณ์โควิด-19 ชี้อย่าเพิ่งวางใจหลัง “บีอาร์เอ็น” ประกาศหยุดยิง เชื่อวันนี้มีแนวร่วมส่วนหนึ่งกลับมาบ้านช่วงรอมฎอน หวั่นคนไทยลักลอบกลับไม่ถูกเจ้าหน้าที่จับตัว ชี้เป็นกลุ่มเสี่ยงเพราะไม่ผ่านการคัดกรอง

วันนี้ (30 เม.ย.) MGR Online ภาคใต้ จัด Live สด! “โควิดใต้-ในรอมฎอน” ชวนวิเคราะห์และตามติด #สถานการณ์ใต้ หลังต่อ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” เพื่อจัดการเชื้อ #โควิด-19 และเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิมปีนี้จะไม่เป็น “#รอมฎอนเดือด” จริงหรือ?! โดยนายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยและที่ปรึกษา ศอ.บต. และมีนายปิยะโชติ อินทรนิวาส เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายไชยยงค์ กล่าวว่า หลังจากที่บีอาร์เอ็นประกาศหยุดยิงในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เกิดเหตุใดๆ ขึ้น และวันนี้ที่ยังไม่มีเรื่องรอมฎอนเลือด ที่ทุกปีจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ก็เพราะว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าไม่ได้ไปรุกไล่หรือมีปฏิบัติทางทหาร เมื่อบีอาร์เอ็นไม่สูญเสียก็ไม่โต้ตอบ แต่อย่าเพิ่งเชื่อว่าจะไม่มีเหตุร้าย ตอนนี้เพิ่งเริ่มไม่กี่วัน อาจจะมีช่วงปลายเดือน หรืออาจมีเหตุใหญ่เกิดขึ้นได้ ต้องจับตาดูก่อน เพราะที่ผ่านมา เมื่อถึงเดือนรอมฎอน ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าคนที่หมายจับจะกลับมาที่บ้าน วันนี้อาจจะมีแนวร่วมส่วนหนึ่งกลับมาแล้ว



“เป็นครั้งแรกที่บีอาร์เอ็นประกาศตัวต่อสาธารณชน ที่ผ่านมาแบ่งรับแบ่งสู้มาโดยตลอด วันนี้บอกว่าทั้งหมดที่ผ่านมาเป็นฝีมือของบีอาร์เอ็น แม้แต่วางระเบิดหน้า ศอ.บต.ก็ออกมายอมรับ ทำให้วันนี้ บีอาร์เอ็นจะทำอะไรต้องคิดมาก อย่างในช่วงเดือนรอมฎอนอาจจะต้องรักษาภาพลักษณ์ เพราะมีเรื่องโควิด-19 เข้ามาด้วย ตอนนี้ บีอาร์เอ็นระดมทุนลงไปช่วยเหลือชาวบ้านเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากช่วงรอมฎอนนี้ไม่มีเหตุรุนแรง แสดงว่าการออกแถลงการณ์หยุดยิงของบีอาร์เอ็นได้ผล” นายไชยยงค์ กล่าว

ส่วนเรื่องการเดินทางกลับประเทศไทยของคนไทยในมาเลเซียนั้น นายไชยยงค์ กล่าวว่า สถานทูตทำงานหนักมากในเรื่องการอำนวยความสะดวกให้คนไทย เช่น จัดรถมาส่งที่ชายแดน และยังมีการจัดถุงยังชีพให้คนไทยที่ไม่ได้กลับด้วย แต่มีคนสูงอายุส่วนหนึ่งที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ที่ต้องจ้างคนกลุ่มหนึ่งพากลับ ต้องจ่ายตั้งแต่ 2,000-3,000 บาท เพื่อให้พากลับมาหน้าด่านสุไหงโก-ลก แล้วข้ามแม่น้ำมา และคนจนจริงๆ แบบไปขายแรงงานในกลุ่มต้มยำกุ้ง แล้วหัวหน้าสายทิ้งแล้ว จึงไม่มีเงิน ต้องดิ้นรนกลับมา

“คนที่จะกลับคือ อยู่ไม่ได้แล้ว แต่คนที่ยังมีกินอยู่ยังไม่กลับ เพราะห่วงเรื่องการทำมาหากินหลังการปลดล็อก ตอนนี้ที่กลับมา หากมี 3 ส่วน แบ่งได้คือ 1 ส่วนผ่านด่านปกติ มีประมาณ 2,500 คน อีก 2 ส่วนไม่ผ่านด่านปกติ แต่จับได้แค่ 900 คน ถามว่าอีกหลายพันคนหายไปไหน ตลอดแนวชายแดนมีช่องทางโจร เข้าทางไหนไม่ถูกจับ พวกนี้ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะไม่ผ่านการคัดกรองโรค” นายไชยยงค์ กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น