xs
xsm
sm
md
lg

เรายอมรับ “สภาวะใหม่” “ความรุนแรงภายในครอบครัว” และ “การฆ่าตัวตายใหม่” แล้วไง?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โดย... ดร.ชนะ จันทร์ฉ่ำ มหาวิทยาลัยทักษิณ



ในขณะที่สถานการณ์แพร่ระบาดยังเขย่าโลกให้โกลาหล บางประเทศจัดการโดยหวังผลเชิงเศรษฐกิจ และหลายประเทศมุ่งดูแลสุขภาวะของพลเมือง เราพบถ้อยแถลง “ศัพท์แสง” ที่ฟังแล้วชวนให้แยกแยะและหาความหมาย เพื่อการปรับตัวอยู่ร่วมทั้งในสถานการณ์และหลังสถานการณ์

บทความนี้ได้หยิบสภาวะที่เกิดขึ้น การร้องขอให้เข้าใจ ร้องขอให้ปฏิบัติ อย่าง “New Normal” และผลกระทบที่เป็นผลจากสถานการณ์ “Domestic Violence” และ “New Suicide” มาแสร้งทำเป็นว่า มันสำคัญกับสังคมของเราด้วยหรือ เพื่อสะท้อนกลับและย้ำว่า ข้อเสนอควรพิจารณาลงลึก เพื่อสร้างความสำคัญขึ้นใหม่ หรือปรับเปลี่ยน

“New Normal” หรือ “สภาวะใหม่” ต่อมา เพื่อให้ฟังดูเข้ากับบริบทไทย จึงแปลเป็น “วิถีใหม่” จากการบิดผัน ความไม่ปกติ (Abnormal) ใครรับรู้และปฏิบัติภาระใคร?

“Domestic Violence” หรือ “ความรุนแรงในครอบครัว” คือ ลักษณะการทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ และทำร้ายจิตใจระหว่างสมาชิกที่มีความสัมพันธ์ฉันครอบครัวเดียวกัน

“New Suicide” หรือ “อัตวินิบาตกรรมใหม่” หรือ “การฆ่าตัวตายใหม่” ซึ่งในที่นี้เป็นความใหม่อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาด ทั้งผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ และผลจากภาระการรักษาผู้ป่วย

“ข่าว” หรือเรื่องเหนือ-ออก-ใต้-ตก ประมวลเรื่องคน ชีวิตคน พวกเขาทำอะไร ในสภาวะบิดผัน (วิถีใหม่) พวกเขาโดนกระตุ้นให้ถอยร่นหันหลังพิง ถอยร่นจนไปถึงสภาวะอยากจบชีวิต

ท่ามกลางข้อสงสัยที่ว่า หากนี่เป็นภาวะปกติ พวกเขาจะถอยร่นไปขนาดนั้นไหม หากคำตอบยังเป็น “ใช่” นั่นหมายความว่า รัฐล้มเหลวเข้มข้น?!

เมื่อข้อเสนอใดเกิดขึ้น และเมื่อเสียงถามกลับดังขึ้น แล้วไงล่ะ? มีอะไรที่ฉันต้องแปลกใจกับข้อเสนอ ใจความสำคัญ การไม่เชื่อ การเข้าไปสั่นคลอนต่อโครงสร้างของข้อเสนอ แต่กลับเป็นการสะท้อนกลับมาว่า หากข้อเสนอดังกล่าวมีความพิเศษน่าตื่นตาจริง ก็จำเป็นต้องแสดงลักษณะเชิงโครงสร้างออกมา และจะกระทบต่อสภาวะการทั่วไป ทั่วถึง หรือแทบจะไม่เกิดผลกระทบใดๆ

สำคัญยิ่งที่ผู้เสนอออกมาต้องสร้างพลังในการอธิบายความ และขับเน้นออกมา New Normal, Domestic Violence และ New Suicide ก็ใช่ว่าจะได้รับการยกเว้น

So what? used to show that you think something is not important, especially after somebody has criticized you for it.

พจนานุกรม Oxford (Oxford, n.d.) ใช้แสดงให้เห็นว่า คุณคิดว่าไม่สำคัญ โดยเฉพาะหลังใครๆ วิจารณ์คุณ แล้วไง แต่ในบางความหมาย ในกรณีการนำเสนอสิ่งใดที่ไม่น่าจะได้รับความสนใจมากนัก อาจทำให้ผู้นำเสนออาจต้องรื้อ ทำซ้ำ เพื่อขับเน้นประเด็นให้น่าสนใจ หรืออาจเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อให้ประเด็นดังกล่าวได้บรรลุเป้าหมายในที่สุด

มีเรื่องเล่าของ “ศาสตราจารย์” กับ “ศิษย์” คู่หนึ่ง เมื่อศิษย์พยายามนำเสนอข้อถกเถียงเกี่ยวกับสังคมชนชั้นแห่งหนึ่ง หลังจากฟังจบอาจารย์ถามศิษย์ แล้วไงล่ะ? (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2020) ทันทีที่เขาถูกท้าทายจากอาจารย์ ภาระหนักเกิดกับเขา จำเป็นต้องลงลึก เพื่อส่งผ่านข้อโต้แย้งทางประวัติศาสตร์เหล่านั้น เพื่อสร้างความสนใจร่วมกับสาธารณะ หรือการสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์สาธารณะ หรือทำให้เป็นประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างเซลล์สมอง

แน่นอนว่าศาสตราจารย์ท่านนั้นคือ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกุล ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์คนสำคัญของสังคมไทย กับคำถามของท่าน So what? ดังนั้น New Normal, Domestic Violence และ New Suicide จึงอาจใช้กรอบนี้เข้ามาเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจได้ด้วย

จุดตัดกันบนรอยต่อของเส้นจำนวน (Standard, ผู้เสียชีวิตและผู้ฆ่าตัวตายจากโควิด-19 กราฟชีวิตสองเส้นที่ความหนา-บางไม่เท่ากัน, 2020) เป็นรอยต่ออันน่าหวั่นวิตก จุดตัดที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากสองเหตุการณ์มาเท่ากัน (Standard, ตัวเลขคนไทยฆ่าตัวตายจากวิกฤตโควิด-19 ใกล้เคียงผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ, 2020) เส้นหนึ่งลากตรงเป็นกองซากศพที่ทับซ้อนมาจากโรคภัยโดยตรง อีกเส้นลากตรงเติบโตมาจากผลกระทบจากมาตรการที่รัฐใช้ และส่งผลกระทบต่อกลุ่มชนและชนชั้นที่ไม่เท่ากัน ผู้ได้รับผลกระทบหนักหน่วง เป็นชนชั้นเปราะบาง กระทบหนักก่อตัวเป็นหม่นเศร้ายากไร้ และตัดสินใจกลายตัวเป็นจำนวนในเส้นลากซากศพกองทับมาตัดกัน

ใช่หรือไม่? ในแง่หนึ่งรัฐในฐานะผู้คอยควบคุมสถานการณ์ ต้องผนวกพิจารณาสองเส้นนี้ไม่ให้เติบโตไปพร้อมกัน หรือกระทั่งไม่ให้กองทับสูงขึ้นสูงขึ้น?

นี่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องใด หากเป็นเพียงหน้าที่ของรัฐที่มีต่อพลเมืองของรัฐนั้นๆ

กล่าวซ้ำเชิงตัวเลขอีกครั้ง ยอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ 38 ฆ่าตัวตาย 38 ถึงข้อมูลจะดูคล้ายการประกอบสร้างอย่างมหัศจรรย์ แต่ประวัติศาสตร์ก็เลือกจะบันทึกไว้แบบนั้น และนี่ยังไม่ต้องนำเรื่อง จริง-ลวง มาร่วมพิจารณา


ใช่หรือไม่? ตัวเลข 38 ในช่วงเวลาบันทึก เติบโตมาเป็น 54 ในเวลาปัจจุบัน? เราจะนับผู้เสียชีวิตข้างเคียงการฆ่าตัวตายไปด้วยไหม? ในขณะที่รัฐควบคุมการตายจากเชื้อได้ แต่ไม่มีทีท่าหรือเค้าลางจะชะลอลง


ใช่หรือไม่? ว่ารัฐควรเปิดล็อกการช่วยเหลือเหล่าผู้เปราะบางอย่างเข้มข้น จัดทีมลาดตระเวนเสาะหาผู้เปราะบาง และให้เข้าสู่การเยียวยา แถมความยากยังเป็นเรื่องจะทำอย่างไรให้เกิดรูปธรรมสืบเนื่องไปหลังวิกฤต

ติดอยู่ในโควิดเป็นเดือนๆ ผู้คนในสถานการณ์เสี่ยงต่ออาการแพ้ฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนก่อความเครียด สุ่มเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) ข้อมูลข่าวสารท่วมท้น บางใครจิตตกคาดคั้นความสัมพันธ์ไม่ปกติเอากับคนรอบข้าง จากลูกเมีย คาดหวังความเข้าใจว่านี่เป็นสภาวะปกติใหม่ คาดคั้นในความสัมพันธ์ อย่างให้ใครๆ เข้าใจปฏิบัติต่อกัน และสภาพแบบนี้อาจเป็นความรุนแรงแบบอ่อนที่ก่อตัวสะสมอยู่ในสภาพครอบครัวปัจจุบัน ความรุนแรงแบบอ่อน จะไม่รวมกันจนเข้มข้น แต่จะซึมเรื่อยและไม่กลับสู่ปกติอีก

ผู้ก่อเหตุรุนแรงภายในบ้านระหว่างสถานการณ์โควิด คือ “ผู้ชาย” ที่อาจประสบกับสภาวะเครียดจากการเปลี่ยนกิจกรรมที่เคยปฏิบัติในห้วงเวลาปกติ (Thailand, 2020) ในทางกลับกัน Psychology Today ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่อาจได้รับผลกระทบ อาจครอบคลุมกว้างขวางไปมากกว่า “ร่างกาย” และทาง “เพศ” แต่ยังรวมถึงการกระทำอันเป็นภัยคุกคาม การละเมิดทางอารมณ์ และกีดกันทางเศรษฐกิจ

WHO ออกข้อปฏิบัติ ข้อความสำหรับการปฏิบัติด้านสุขภาพจิตในเด็ก ให้เด็กคงกิจวัตรประจำวัน หรือสร้างสรรค์กิจวัตรใหม่ โดยเฉพาะหากเด็กต้องอาศัยอยู่ในบ้าน (WHO, 2020) เกี่ยวกับการอยู่ในบ้านของเด็ก ในฐานะผู้เสี่ยงจากการได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว ในสภาวะแบบนี้พวกเขาควรได้รับการดูแลเพื่อป้องกันผลกระทบเป็นลำดับต้นๆ

ภายใต้เสียงสะท้อนกลับต่องานสถิติการฆ่าตัวตายที่เทียบเท่ากับการเสียชีวิตจาก COVID

น้ำเสียงที่น่ารับฟังนั่นคือ หากนับรวมกันนั่น หนาบางไม่เท่ากัน แต่ทบเท่าทวีคูณ เป็นเลือดเนื้อและชีวิตของผู้คน และอาจเป็นคนที่ฉัน คุณ ผม เขา เธอ พวกคุณ พวกเรา รัก ผู้เป็นที่รัก ยิ่งน่าสลดทับถมเข้าไปอีก เมื่อข้อเสนอถูกตั้งคำถามด้วยท่าทีเอาใจรัฐ จากสื่อบางสำนัก ใช่หรือไม่ว่าความเศร้าของผู้คนที่รักของผู้จากไปทั้งสองเส้นจำนวน ถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงสร้างความชอบธรรมให้แนวคิดล้าหลังเหล่านั้น
ด่วน! สาวใหญ่ตะโกนทวงเงิน 5 พันหน้ากระทรวงคลัง ก่อนซดยาเบื่อหนู เร่งนำตัวส่ง รพ. คาดว่าสาเหตุเกิดจากความผิดหวัง (Matichon, Matichon Online, 2020)

ช่างก่อสร้างวัย 31 เครียดไม่มีจ้างงาน เงินเยียวยายังไม่เข้า ตัดสินใจผูกคอเสียชีวิต คำให้การของพ่อความว่า ลูกชายได้ลงทะเบียน 5,000 บาท รอ รอเรื่อยมา เงียบลง ไม่กินข้าวปลา ก่อนพบลูกชายกลายเป็นดักแด้แขวนตัวเองกับขื่อห้องน้ำ (Matichon, Matichon Online, 2020)

หาใช่เพียงความเครียดความซึมเศร้าที่เกิดจากสภาวะทางเศรษฐกิจส่วนบุคคลเท่านั้นที่ก่อให้เกิดการก่ออัตวินิบาตกรรม อีกทั้งยังเป็นประเด็นที่มีโลกเป็นปริมณฑล

กรณีการจากไปของ “แพทย์หญิงลอร์น่า บรีน” แพทย์แถวหน้าในการรักษาผู้เจ็บป่วยจากไวรัส COVID ในนิวยอร์ก เธอเป็นแพทย์ที่ติดเชื้อจากการสัมผัสผู้ป่วยและหายจาก COVID และกลับไปรักษาผู้ป่วยกลับไปทำหน้าที่ของเธอ อาจเป็นสภาวะภายในที่ทึมเทา เศร้าหมอง พรากชีวิตเธอไปจากผู้ป่วยของเธอ ทั้งที่ไม่เคยมีประวัติทางจิต

เรื่องน่าเศร้าที่คล้ายคลึงกันจากกรณีการจากไปด้วยการทำอัตวินิบาตกรรมคือ การที่พ่อหรือแม่ของผู้จากไปต้องตอบคำถาม ด้วยความเศร้า
“พ่อของลอร์น่า” กล่าวกับนิวยอร์กไทม์ “เธอพยายามทำงานของเธอ และมันฆ่าเธอ” (NYTime, 2020)

แล้วไง? “ความปกติใหม่” ได้กลายเป็น “วิถีใหม่” ใช้โดยรัฐ หลังคำประกาศขยายเวลาต่อ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ไปอีก 1 เดือน สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เหลือตัวเลขหลักหน่วย ผู้เสียชีวิตเพิ่มช้าลง แต่สถานการณ์โลกยังคงไม่น่าไว้วางใจ และวิถีใหม่ยังอยู่ สถานประกอบการณ์ทยอยเปิดตัวช้าๆ แบบมีเงื่อนไข

ครอบครัวยังอัดแน่นไปด้วยกลุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง ความปกติใหม่ยังคงอยู่ อัตวินิบาตกรรมใหม่ก็ไม่อาจพูดได้ว่าจะหายไป?!

ทั้งความปกติใหม่ ความรุนแรงในครอบครัว และอัตวินิบาตกรรมใหม่ จะยังไม่สำคัญต่อใคร และอาจอ้างได้ว่า มีหลายเงื่อนไขในการฆ่าตัวตายจะยังไม่สำคัญ หากยังไม่เริ่มทดลอง จำลองการฆ่าตัวตายในสมองของผู้ตกอยู่ในสถานการณ์ หรือรัฐควรลงลึกและเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นหาดุลยภาพและความถ้วนหน้า?!?!
บรรณานุกรม


- Matichon. (27 04 2020). Matichon Online. เรียกใช้เมื่อ 27 04 2020 จาก https://www.matichon.co.th/politics/news_2159592
- Matichon. (26 04 2020). Matichon Online. เรียกใช้เมื่อ 27 04 2020 จาก https://www.matichon.co.th/covid19/thai-covid19/news_2158139
- NYTime. (27 04 2020). The New York Times. เรียกใช้เมื่อ 29 04 2020 จาก https://www.nytimes.com/2020/04/27/nyregion/new-york-city-doctor-suicide-coronavirus.html?searchResultPosition=1
- Oxford. (ม.ป.ป.). Oxford Learn's Dictionaries. เรียกใช้เมื่อ 29 04 2020 จาก https://www.oxfordlearnersdictionaries.com/definition/english/so_3#so_idmg_8
- Psychology Today. (10 03 2020). Domestic Violence. เรียกใช้เมื่อ 26 04 2020 จาก https://www.psychologytoday.com/intl/basics/domestic-violence
- The Nation Thailand. (22 04 2020). Covid-19 crisis triggering "increased domestic violence. เข้าถึงได้จาก The Nation Thailand: https://www.nationthailand.com/news/30386542
- The Standard. (27 04 2020). ตัวเลขคนไทยฆ่าตัวตายจากวิกฤตโควิด-19 ใกล้เคียงผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ. เข้าถึงได้จาก https://thestandard.co/thai-suicide-numbers-from-coronavirus/
- The Standard. (25 03 2020). ผู้เสียชีวิตและผู้ฆ่าตัวตายจากโควิด-19 กราฟชีวิตสองเส้นที่ความหนา-บางไม่เท่ากัน. เข้าถึงได้จาก The Standard: https://thestandard.co/suicides-and-coronavirus-casualties/
- WHO. (2020). Mental health and psychosocial considerations during the. เรียกใช้เมื่อ 26 04 2020 จาก https://www.who.int/docs/default-source/coronaviruse/mental-health-considerations.pdf
- คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (09 03 2020). งานปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17. รังสิต, ปทุมธานี, ไทย.


กำลังโหลดความคิดเห็น