xs
xsm
sm
md
lg

ไขปริศนา! ทำไม “บังอุ้มเข้า ก็ให้บังอุ้มออก” กรณี “ไฟเขียว” ให้คนไทยในมาเลย์กลับบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย... ศูนย์ข่าวหาดใหญ่



แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยกระทรวงมหาดไทย จะประกาศเปิดด่านผ่านแดน 5 แห่งในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้คนไทยในมาเลเซียหนีวิกฤตแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้เดินทางกลับภูมิลำเนาอย่างถูกต้องมาตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.2563 แต่ก็ยังมีคนไทยกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะใช้ช่องทางธรรมชาติลักลอบข้ามแดนกลับเข้ามาแบบผิดกฎหมาย

เส้นทางที่นิยมลักลอบข้ามแดนระหว่างไทย-มาเลเซียกันมากคือ บริเวณตลอดสายแม่น้ำสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ที่ถือเป็นเส้นกั้นแดนระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งมีช่องทางให้ข้ามได้สะดวกอยู่ถึง 94 ช่องทาง เพราะทั้ง 2 ฟากฝั่งมีสภาพความเป็นเมือง มีทางสัญจรที่สะดวกจากทั้งในฝั่งมาเลเซียและไทย แถมเมื่อข้ามมาฝั่งไทยได้แล้วยังสามารถเดินทางต่อไปยังสถานที่อื่นๆ ได้สะดวกด้วยเช่นกัน

ส่วนนอกเขตแนวระยะ 3 กิโลเมตรของแม่น้ำสุไหงโก-ลก ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่รกร้าง การเดินทางสัญจรยากลำบาก อีกทั้งช่วงนี้สภาพของแม่น้ำสุไหงโก-ลกก็ยังเป็นใจ ในหลายจุดตื้นเขินเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูแล้ง บางแห่งน้ำสูงไม่ถึงเข่าสามารถเดินข้ามลำน้ำได้อย่างไม่ลำบากนัก แต่ก็มีบางจุดต้องใช้เรือข้ามฟาก ซึ่งก็มีเรือของชาวบ้านหลายลำพร้อมรอให้บริการ

ตชด.ลาดตระเวนตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซียในพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา
ส่วนช่องทางธรรมชาติในพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับคนทั่วไปเรียกได้ว่าผ่านเข้าออกได้ยากลำบากมาก บางพื้นที่เป็นภูเขาสูง เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา บางพื้นที่มีรั้วตลอดแนวชายแดน เช่น ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา และบางพื้นที่แม้จะข้ามมาได้ง่ายก็จริง แต่ก็ยุ่งยากมากที่จะเดินทางต่อไปยังเป้าหมาย โดยเฉพาะไม่มีรถโดยสารบริการ

รวมเวลาประมาณ 10 วันที่ผ่านมาที่ได้เปิดให้คนไทยในมาเลเซียได้เดินทางกลับบ้าน มีรายงานข่าวจากฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า มีคนไทยในมาเลเซียอยู่อีกนับหมื่นคน ส่วนที่ลงทะเบียนขอกลับไทยแล้วมีราว 2,500 คน โดยเวลานี้ข้ามผ่านด่านพรมแดนทั้ง 5 แห่งเข้ามาอย่างถูกต้องแล้วกว่า 2,000 คน

ขณะที่มีคนไทยในมาเลเซีย “ลักลอบข้ามแดน” ผ่านเข้าไทยอย่างผิดกฎหมายที่ควบคุมตัวได้สูงถึงกว่า 900 คน!!

ทำไมคนไทยเหล่านี้จึงเลือกที่จะใช้วิธีลักลอบเข้าเมืองทัั้งๆ ที่ต่างก็รู้กันว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11 ที่กำหนดให้ “บุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร จะต้องเดินทางเข้ามาหรือออกไปตามช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่า สถานีหรือท้องที่และตามกำหนดเวลา” ซึ่งใครก็ตามไม่ปฏิบัติตามจะต้องได้รับโทษ ซึ่งหากเป็นคนสัญชาติไทยกฎหมายกำหนดโทษไว้ในมาตรา 62 ว่า “ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท”

โดยในกรณีที่มีกลุ่มคนไทยในมาเลเซียลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายครั้งนี้ ทั้งกว่า 900 คนได้ถูกดำเนินคดีโดยมีการลงโทษเปรียบเทียบปรับไปคนละ 800 บาท?!

จึงมีคำถามว่า ทำไมคนไทยในมาเลเซียกลุ่มนี้จึงไม่ยินยอมหรือไม่พร้อมเดินทางกลับบ้านผ่านด่านชายแดนทั้ง 5 แห่งตามที่กระทรวงมหาดไทยประกาศเปิดไว้รอรับ ประกอบด้วย 1) จุดผ่านแดนถาวร (ด่านนอก) อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งขณะนี้เปลี่ยนไปเปิดที่ด่านปาดังเบซาร์ที่อยู่ไม่ไกลกันแทน เนื่องจากพบเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองด่านสะเดาติดเชื้อโควิด-19 2) จุดผ่านแดนถาวรสุไหงโก-ลก (ด่านสุไหงโก-ลก) จ.นราธิวาส 3) จุดผ่านแดนถาวร (ด่านเบตง) อ.เบตง จ.ยะลา 4) จุดผ่านแดนถาวรวังประจัน (ด่านวังปะจัน) อ.ควนโดน จ.สตูล และ 5) จุดผ่านแดนถาวร อ.เมือง จ.สตูล (ด่านท่าเรือตำมะลัง) จ.สตูล

เจ้าหน้าที่จับกุมคนไทยที่ลักลอบข้ามแดนมาทางแม่น้ำสุไหงโก-ลก
เหตุผลประการหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นเหตุผลหลักสำหรับคนไทยในมาเลเซียกลุ่มนี้คือ ส่วนใหญ่แล้วลักลอบเข้าไปทำงานในมาเลเซียแบบผิดกฎหมาย ใช้ชีวิตเป็น “แรงงานเถื่อน” โดยคนกลุ่มนี้เวลาเข้าไปพูดคุยขอคำแนะนำจากเพื่อนคนไทยด้วยกันในสื่อสังคมออนไลน์ พวกเขาก็จะมีการตอบกลับอย่างเปิดเผยว่า “ถ้าตอนเข้า บังอุ้มเข้าไป ตอนออกก็ให้บังอุ้มออกมา” นั่นคือ ขาออกก็ต้องออกอย่างผิดกฎหมายเช่นกัน

ดังนั้น การจะไปขอหนังสือรับรองการเดินทางกลับเข้าประเทศจากสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ไทยก็เป็นไม่ได้ การเดินทางกลับบ้านแบบต้อง “ผ่านด่านปกติ” จึงเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เช่นกัน

เหตุผลอีกประการหนึ่ง คือเรื่องการขอ “ใบรับรองแพทย์” จากแพทย์ของมาเลเซียที่ต้องให้ยืนยันว่า มีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง โดยในใบรับรองแพทย์ต้องระบุข้อความ “Fit to Travel” และมีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางผ่านด่านกลับเข้าไทย ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยเฉพาะสำหรับคนไทยในมาเลเซียส่วนใหญ่ที่กำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ในเวลานี้ เพราะเอาแค่มีชีวิตให้อยู่รอดก็ยากลำบากมากแล้ว ในท่ามกลางที่มาเลเซียประกาศล็อกดาวน์ประเทศและเข้มงวดเรื่องการเดินทางนอกเคหสถาน

นี่จึงเป็นเหตุผลทำให้คนไทยกลุ่มนี้ แม้ตอนเข้าสู่มาเลเซียจะปฏิบัติตามกฎหมาย แต่เวลานี้พร้อมที่จะเลือกใช้การเดินทางกลับไทยโดย “ไม่ผ่านด่านพรมแดน” ซึ่งรู้ทั้งรู้ว่าอาจจะมีปัญหาตามมาภายหลัง โดยเฉพาะหากต้องการกลับเข้าไปทำงานในมาเลเซียอีกครั้งหลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม




ส่วนเหตุผลประการอื่นๆ ก็มีเช่นกัน อย่างเรื่องการลงทะเบียนขอ “หนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศ” จากสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในมาเลเซีย ซึ่งต้องดำเนินการ “ผ่านเว็บไซต์” เท่านั้น สิ่งนี้ทำให้หลายคนเกิดปัญหา ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของความหนาแน่นของคนที่แห่กันไปลงทะเบียนจนทำให้เกิดความล่าช้า หลายคนท้อแท้กับการอคอย บางคนลงทะเบียนหลายครั้งก็ยังไม่ได้รับหนังสือ หรือบางคนไม่มีความรู้ความเข้าใจในการใช้งาน

จึงอย่าได้แปลกใจที่บรรดาคนไทยในมาเลเซียกลุ่มนี้ต่างตัดใจไม่ขอรับหนังสือรับรองการเดินทางอย่างถูกต้อง แล้วเลือกที่จะใช้การเดินทางแบบลักลอบผ่าน “ช่องทางธรรมชาติ” แทน

นอกจากนี้ ยังมีคนไทยในมาเลเซียกลุ่มหนึ่งหลงเชื่อ “บรรดานักฉวยโอกาส” บางกลุ่มที่ใช้สถานการณ์ช่วงวิกฤตโรคระบาดเวลานี้ทำมาหากิน โดยคนกลุ่มนี้จะส่งคนไปหลอกให้แรงงานไทยในมาเลเซียที่ต้องการกลับบ้านว่า พวกเขาสามารถช่วยจัดหา “หนังสือรับรองการเดินทาง” และ “ใบรับรองของแพทย์มาเลเซีย” ให้ได้ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายราว 2,000-3,000 บาท/หัว ซึ่งราคานี้บางรายอาจจะรวมค่ารถราไว้แล้ว หรือบางรายต้องควักจ่ายเพิ่มเองก็แล้วแต่ตกลงกัน

แต่เมื่อจ่ายเงินไปแล้วกลับพบว่า แรงงานไทยในมาเลเซียส่วนใหญ่จะได้รับทั้งหนังสือรับรองการเดินทางและใบรับรองแพทย์มาเลเซียแบบที่เป็น “ของปลอม” ซึ่งเมื่อเดินทางไปถึงด่านพรมแดน ตม.ฝั่งมาเลเซียมักจะปล่อยให้ออกมาได้ แต่พอข้ามมาถึง ตม.ฝั่งไทยถึงได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะทุกคนจะไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านแดน




สุดท้ายแรงงานไทยในมาเลเซียที่ถูก 18 มงกุฎคนไทยด้วยกันหลอกเอาเงินไปกลุ่มนี้ถูกผลักดันกลับคืนเข้าไปในแดนเสือเหลือง พวกเขาจึงต้องไปหาหนทางใหม่เพื่อให้ได้กลับเข้ามาในไทย ซึ่งทางเลือกมักจะจบลงที่การไปลักลอบใช้ “ช่องทางธรรมชาติ” นั่นเอง

อย่างไรก็ดี ยังมีแรงงานไทยในมาเลเซียอีกบางกลุ่มที่ถูกชักจูงจาก “18 มงกุฎไทย” บางเครือข่ายด้วยว่า พวกเขาอ้างว่าสามารถพาลักลอบข้ามแดนผ่านช่องทางธรรมชาติได้อย่างง่ายดาย และสามารถที่จะรอดสายตาเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้ด้วย ซึ่งเมื่อรับค่าจ้างไปแล้วก็ได้นัดหมายรวมตัวกันเดินทางไปจนถึงริมแม่น้ำสุไหงโก-ลกในฟากฝั่งมาเลเซีย

แต่แล้วบรรดาแรงงานไทยในมาเลเซียกลุ่มนี้ก็จะถูกเลห์กลปล่อย “ลอยแพ” ไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำสุไหงโก-ลกฝั่งมาเลเซียตรงนั้นเอง เพื่อให้หาทางเดินเท้าหรือไม่ก็หาเรือข้ามฟากไปยังฝั่งไทยกันเอง

ความจริงแล้วการข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายของกลุ่มแรงงานไทยในมาเลเซีย ไม่ใช่เพิ่งจะมีมากมายภายหลังที่รัฐบาลไทยยินยอมเปิดด่านพรมแดนต้อนรับกลับบ้านเท่านั้น แต่มีมาก่อนที่จะมีการเปิดด่านต่อเนื่องมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว กว่าที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยจะไหวตัวทัน เชื่อว่าได้มีการข้ามแดนเข้ามายังฝั่งไทยแล้วจำนวนมากด้วยเช่นกัน

และนี่ต้องถือเป็น “กลุ่มเสี่ยง” ต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างแน่นอน เนื่องเพราะเป็นกลุ่มคนที่เดินทางกลับเข้าไทยจากประเทศที่เกิด “ซูเปอร์ สเปรดเดอร์” ในระดับโลกมาแล้ว ซึ่งเสือเหลืองถึงกลับประกาศ “ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ” ในระดับต้นๆ ของเอเชียและก่อนไทยด้วยซ้ำ โดยกลุ่มแรงงานไทยในมาเลเซียที่ลักลอบกลับบ้ามาก่อนหน้าไม่ได้ผ่านกระบวนการคัดกรองและกักตัว 14 วัน

ทั้งนี้ ยังมีคำถามด้วยว่า การเข้ามาของแรงงานไทยจากมาเลเซียตลอดกว่า 10 วันที่ผ่านมา นอกจากผ่านด่านอย่างถูกต้องแล้ว หลายคนสงสัยกันว่ากว่า 900 คนที่ลักลอบข้ามแดน ทำไมทางราชการจึงยอมให้มีการเข้าไทยได้อย่างง่ายดาย รวมถึงราคาค่าปรับแค่ 800 บาท/คน พร้อมกับยอมถูกกักตัวอีกเพียง 14 วันเท่านั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือว่า “เหมาะสม” แล้วล่ะหรือ?!
แม้จะไม่มีการประกาศ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ฝ่ายความมั่นคงมีแก่ใจให้ “ไฟเขียว” แน่นอน!!



เหตุผลประการหนึ่งคือ แม้จะเป็นแรงงานในมาเลเซียที่ลักลอบกลับเข้าไทยอย่างผิดกฎหมาย แต่เขาเหล่านั้น “ล้วนเป็นคนไทย” ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ซึ่งในยามวิกฤตเช่นนี้ยิ่งต้องเร่งอ้าแขนรับกลับบ้านให้เร็วอย่างที่สุด แน่นอนขั้นตอนตามกฎกติกามารยาทก็ควรต้องยังต้องมี แต่ถ้าทำได้ก็ควรให้มีได้แบบไม่ไปสร้างแรงกดดันเกินความจำเป็น

โดยเฉพาะในการเปิดด่านวันแรกเมื่อ 18 เม.ย.2563 ปรากฏว่ามีคนไทยในมาเลเซียจำนวนหนึ่งที่ต้องการกลับบ้าน แต่มีเอกสารไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดมาออกันเต็มบริเวณหน้าด่านสุไหงโก-ลก ซึ่งในวันนั้นฝ่ายความมั่นคงก็ได้ปล่อยให้มีกลุ่มคนในนามเครือข่ายทำนองว่า “ช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซียกลับบ้าน” ได้ไปรอจ่ายค่าปรับฐานเข้าเมืองผิดกฎหมายให้ด้วย

แต่มีคนจำนวนมากที่ต้องปาดเหงื่อแสดงอาการไม่สบายใจกับกรณีนี้ นั่นก็คือเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครองและท้องถิ่นในพื้นที่ เพราะเหตุว่าแรงงานไทยกลับบ้านกลุ่มนี้ไม่มี “ใบรับรองแพทย์มาเลเซีย” มาการันตีว่า พวกเขาไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 ที่แม้จะเป็นการตรวจในเบื้องต้นก็ตาม แต่อย่างน้อยๆ ก็เป็นการสร้างความมั่นใจในระดับหนึ่งให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ต้องค่อยให้บริการทุกคน

เนื่องเพราะก่อนหน้านี้ เคยมีข่าวครึกโครมเป็นตัวอย่างให้เห็นมากันแล้วว่า อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้จาก “กลุ่มดาวะห์” โดยเฉพาะกับกลุ่มคนไทยที่เดินทางกลับจากอินโดนีเซีย ซึ่งแม้จะผ่านกระบวนการคัดกรองและกักตัว 14 วันก่อนการเดินทางออกจากอินโดนีเซียมาแล้ว แถมได้รับหนังสือรับรองการเดินทางจากสถานทูตและมี “ใบรับรองจากแพทย์อินโดนีเซีย” กันทุกคน

แต่เมื่อกลับถึงไทยและต้องเข้าสู่กระบวนการคัดกรองและกักตัว 14 วันซ้ำ เพียงไม่กี่วันในระหว่างถูกกักตัวอีกระลอก กลับปรากฏว่าแพทย์ไทยได้ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 เป็นส่วนใหญ่!!


อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ก็คงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้วเมื่อ “ไฟเขียว” ยังคงฉายฉานสว่างไสวไปทั่วทั้งผืนแผ่นดินปลายด้ามขวาน เมื่อ “คนไทย” ด้วยกันได้รับความเดือดร้อนมีหรือจะปล่อยปละละเลยแบบไม่ดูดำดูดี ถ้าจะว่าไปแล้วไม่ว่าจะฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน หรือกระทั่งกลุ่มคนที่เห็นต่าง

หากทุกฝ่ายล้วนอยู่ภายใต้องคาพยพของ “สังคมไทย” มีแต่จะต้องจับมือและสาวเท้าก้าวเดินไปพร้อมๆ หรือเคียงข้างกันไป เพื่อให้พ้นผ่านวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบไว้อย่างมากมายมหาศาลโดยเร็ว?!?!




กำลังโหลดความคิดเห็น