xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ ศอ.บต.ห่วงชาวสวนทุเรียนใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ รีบตรวจโรงงานรับซื้อดูความพร้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เลขาธิการ ศอ.บต.ห่วงชาวสวนทุเรียนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รีบตรวจโรงงานรับซื้อดูความพร้อม เผยขอให้เกษตรกรมั่นใจปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว และอย่าเพิ่งให้พ่อค้าคนกลางเหมาสวน

วันนี้ (29 เม.ย.) พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมเจ้าหน้าที่หลายส่วนงาน ได้เดินทางมายังโรงงานแปรรูปทุเรียนของบริษัท ม่านกู่หวางฟู๊ด จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา โดยมี นายประเสริฐ คณานุรักษ์ ผู้จัดการฝ่ายไทย และเจ้าหน้าที่ของบริษัทให้การต้อนรับ เพื่อนำเยี่ยมชมความพร้อมของโรงงานในการเตรียมพร้อมที่จะดำเนินการรับซื้อทุเรียนจากเกษตรกรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายนที่จะถึงนี้

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร กล่าวว่า การมาดูความพร้อม และขอทราบรายละเอียดจากผู้จัดการโรงงานม่านกู่หวาง ฟู๊ดในวันนี้ เพื่อที่จะบอกแก่เกษตรที่ทำสวนทุเรียนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกังวลในเรื่องการระบาดของโควิด-19 ว่า ปีนี้เศรษฐกิจ การค้าจะเป็นอย่างไร ผลผลิตที่ออกมาจะขายได้ราคาหรือไม่ ซึ่งจากการได้รับทราบจากผู้จัดการโรงงาน ทราบว่า ปีนี้โรงงานมีความพร้อมกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีแรกที่เปิดรับซื้อ โดยปีนี้โรงงานตั้งเป้าที่ 30,000 ตัน โดย 20,000 ตัน จะเป็นการส่งทุเรียนสด อีก 10,000 ตัน จะเป็นการแปรรูป และจากข้อมูลของสำนักงานการเกษตรที่ 5 จ.สงขลา พบว่า ปีนี้จะมีทุเรียนออกสู่ตลาด 80,000 ตัน ดังนั้น เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียน จึงไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องของผลผลิตว่าจะขายไม่ได้ และอย่าเพิ่งเหมาสวนให้แก่พ่อค้าคนกลางในราคาที่ถูกจะทำให้เสียโอกาส


ปีนี้โรงงานรับซื้อทุเรียนในราคาที่สูงกว่าปีที่แล้ว 20 เปอร์เซ็นต์ และการขนส่งมีความสะดวก เพราะสถานการณ์ของโควิด-19 รวมทั้งประเทศจีน มีการเปิดด่านเพื่อรองรับการขนส่ง 4 ด่าน ในเขตกวางสีจ้วง รวมทั้งมีการผ่อนปรนพิธีการต่างๆ ซึ่งจะเป็นโอกาสทองของเกษตรกรสวนทุเรียน รวมทั้งแรงงานในพื้นที่ ซึ่งโรงงานแห่งนี้ต้องใช้คนงาน 1,200-1,600 คน โดย 1,200 เป็นคนงานที่ทำงานในโรงงาน อีก 600 เป็นคนงานที่ประจำจุดรับซื้อใน จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา ซึ่งในจุดรับซื้อทุกจุด ศอ.บต.จะทำการดูแลเพื่อให้การทำงานเป็นไปตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นั่นคือ การรักษาระยะห่าง การต้องปฏิบัติตามคำสั่งของฝ่ายสาธารณสุขทุกอย่าง

ด้าน นายประเสริฐ คณานุรักษ์ กล่าวว่า โรงงานรับออเดอร์จากประเทศจีน เมื่อเดือนมกราคม จำนวน 20,000 ตัน แต่จะซื้อให้ได้ถึง 30,000 ตัน ตามกำลังของโรงงานที่รับได้สูงสุด และคนงานที่ใช้เป็นคนงานในพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งกว่าจะหมดหน้าทุเรียนต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 7 เดือน ในการทำงานของคนงานในโรงงานครั้งนี้ จำเป็นต้องขยายเวลาจาก 8 ชั่วโมงเป็น 12 ชั่วโมง เพราะต้องให้คนงานรักษาระยะห่าง ทำให้ต้องเพิ่มเวลาในการทำงานมากขึ้น และโรงงานมีมาตรการป้องกันโควิด-19 ตามขั้นตอนทุกอย่าง วันนี้โรงงานแห่งนี้รับซื้อทุเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ในอนาคตบริษัทจะรับซื้อหมากจากชาวสวน เพื่อมาแปรรูปส่งออก และจะรับซื้อมังคุดเพื่อช่วยเกษตรชาวสวนมังคุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้จำหน่ายในราคาที่สูงขึ้น






กำลังโหลดความคิดเห็น