ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ชุมชนกะเหรี่ยงภาคเหนือ ขนข้าวสาร 7,500 กิโลกรัม ของชาวดอยแลกปลาของชาวเลในฝั่งอันดามัน ภายใต้โครงการ “ข้าวแลกปลา” เศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดของกลุ่มชาติพันธุ์
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ที่บริเวณลานอเนกประสงค์ริมหาดราไวย์ ชุมชนชาวเลราไวย์ หมู่ที่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต กลุ่มชาวเลราไวย์ นำโดย นายหงีม ดำรงเกษตร และนายสนิท แซ่ซั่ว ร่วมกันขนข้าวสาร จำนวน 7,500 กิโลกรัม หรือ 7.5 ตัน ลงจากรถบรรทุกข้าวจากชุมชนกะเหรี่ยงภาคเหนือ จาก จ.เชียงใหม่ ซึ่งออกเดินทางมาตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563 เพื่อนำข้าวสารของชาวดอยแลกปลาของชาวเล ภายใต้โครงการ “ข้าวแลกปลา” เศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเมื่อรถบรรทุกข้าวสารมาถึงก็ได้มีการประกอบพิธีรับขวัญข้าวเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยมีชาวเลราไวย์ ประมาณ 150 คน มาร่วมพิธี โดยมีนายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์นายจรุง เถาว์แดง กำนันตำบลราไวย์ นายกิตติ อินทรกุล พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต และนางอัญชลี วานิช เทพบุตร อดีต ส.ส.ภูเก็ต ร่วมเป็นเกียรติด้วย
สำหรับข้าวจากชาวดอยในครั้งนี้ จะมีการจัดสรรให้ชาวเลราไวย์ครัวเรือนละ 10 กิโลกรัม จำนวนประมาณ 300 ครัวเรือน นอกจากนั้น จะมีการจัดสรรให้แก่พี่น้องชาวเลในพื้นที่เกาะพีพี เกาะลันตา และเกาะจำ จ.กระบี่ รวมถึงเกาะหลีเป๊ะ และเกาะอาดัง จ.สตูล ในส่วนของปลาที่จะส่งกลับไปให้พี่น้องชาวดอยนั้น จะมีจำนวนประมาณ 1,000 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน โดยการรวบรวมจากพี่น้องชาวเลในจังหวัดอันดามันก่อนที่จะจัดส่งต่อไป
นายสนิท แซ่ชั่ว ชาวเลชุมชนราไวย์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นกิจกรรมต่อเนื่องของการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ของชุมชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะในส่วนของชาวเลราไวย์ แม้ว่าเราจะยังออกทะเลหาปลาได้แต่ไม่สามารถขายได้ตามปกติ จึงมีการหารือกับมูลนิธิชุมชนไทยกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน จึงเกิดโครงการปลาแลกข้าวขึ้น โดยข้าวสารที่ได้รับมานอกจากแบ่งปันให้แก่พี่น้องชาวเลราไวย์ครัวเรือนละ 10 กิโลกรัม รวมประมาณ 300 ครัวเรือนแล้ว จะมีการนำไปมอบให้แก่ชาวเลในพื้นที่อื่นๆ ด้วย เช่น เกาะหลีเป๊ะ และเกาะอาดัง จ.สตูล เกาะพีพี เกาะจำ และเกาะลันตา จ.กระบี่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเกาะในจังหวัดพังงาและจังหวัดระนองด้วย ส่วนของปลาที่จะนำส่งไปให้แก่พี่น้องชาติพันธุ์ชาวดอยนั้นจะรวบรวมจากชาวเลในพื้นที่ต่างๆ ประมาณ 1,000 กิโลกรัม ก่อนที่จะส่งให้พี่น้องชาติพันธุ์ทางภาคเหนือต่อไป