xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจี้ “บิ๊กตู่” หยุดต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้แค่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ-เพิ่มงบสาธารณสุขก็เอาอยู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





ศูนย์ข่าวภาคใต้ - “มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” จี้ “บิ๊กตู่” ขอไม่ให้ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยเสนอให้ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 เพิ่มงบฯ สาธารณสุขรณรงค์ลดการแพร่เชื้อแทนพร้อมร่ายยาวเหตุผลละเอียดยิบ

วันนี้ (19 เม.ย.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ขอให้ไม่ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” 2558 เพิ่มงบประมาณสาธารณสุข รณรงค์ลดการแพร่เชื้อโรคโควิด-19” โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่เมื่อวันที่25 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ซึ่งเป็น “กฎหมายพิเศษ” โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่โควิด-19 ซึ่งแพร่ระบาดใหญ่ตั้งแต่ปลายปี 2562 และรัฐบาลอาจขยายระยะเวลาการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน 2563 ออกไปอีกหากรัฐบาลเห็นว่ายังมีความจำเป็นที่จะใช้เป็นมาตรการดังกล่าวต่อไปนั้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่า การประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการให้อำนาจฝ่ายบริหารคือ คณะรัฐมนตรีอย่างกว้างขวางในการที่จะใช้มาตรการต่างๆ ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน เช่น การเดินทาง การเข้า-ออกราชอาณาจักรการสมาคม การทำมาหาเลี้ยงชีพ ดังนั้น จึงต้องใช้เฉพาะในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งถึงขั้น “คุกคามความอยู่รอดของชาติ” เท่านั้น ดังเช่นที่กำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามที่ระบุไว้ในข้อ 4 อนุ 1 ที่ว่า

“ในภาวะฉุกเฉินสาธารณะซึ่งคุกคามความอยู่รอดของชาติและได้มีการประกาศนั้นอย่างเป็นทางการแล้วรัฐภาคีแห่งกติกานี้อาจใช้มาตรการที่เป็นการเลี่ยงพันธกรณีของตนภายใต้กติกานี้ได้เพียงเท่าที่จำเป็นตามความฉุกเฉินของเหตุการณ์ ทั้งนี้ มาตรการเช่นว่านั้นจะต้องไม่ขัดแย้งต่อพันธกรณีอื่นๆ ของตน ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติเพียงเหตุแห่งเชื้อชาติผิว เพศ ภาษา ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ทางสังคม”

ดังนั้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียกร้องต่อรัฐบาลว่าเมื่อครบกำหนดในวันที่ 30 เมษายน 2563 แล้ว รัฐบาลไม่ควรขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีกด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลดังต่อไปนี้


1.การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างยิ่ง เช่น การสั่งปิดกิจการ ธุรกิจการค้าบางประเภท การห้ามประชาขนออกนอกบ้าน มีผลทำให้ประชาชนตกงานขาดรายได้ที่ใช้ในการประทังชีวิตหลายล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจน คนชายขอบคนไร้ที่พึ่ง แรงงานข้ามชาติโดยที่รัฐบาลไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพและไม่เพียงพอที่จะบรรเทาความเดือดร้อนได้ ภาวะยากลำบากที่ประชาชนคนยากจนประสบอยู่ในขณะนี้ หากปล่อยให้ดำเนินต่อไปอาจส่งผลกระทบเกิดเป็นภาวะวิกฤตของชาติทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม จนยากที่จะฟื้นฟูให้กลับคืนมาได้

2.สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ได้เบาบางลงบ้างแล้ว และอยู่ในภาวะที่สามารถควบคุมได้โดยรัฐบาลสามารถใช้มาตรการตาม “กฎหมายปกติ” อื่นๆ เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 การรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจและร่วมมือในการดูแลตนเองและผู้อื่น โดยที่รัฐจะต้องสนับสนุนงบประมาณเร่งด่วนให้หน่วยงานด้านสาธารณสุข แนะนำมาตรการและสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาด เช่น หน้ากากอนามัยการเข้าถึงการตรวจสุขภาพให้แก่ประชาชนอย่างถ้วนหน้า โดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

3.พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายนิติบัญญัติ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและดำเนินมาตรการต่างๆ ตามประกาศดังกล่าวโดยคณะรัฐมนตรีไม่สามารถที่จะตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ดังเช่นกฎหมายของนานาประเทศที่เป็นประชาธิปไตยกำหนดเนื่องจากตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วรัฐบาลไม่ต้องรายงานและขอความเห็นชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนหรือต่อรัฐสภา ทำให้ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ตรวจสอบถ่วงดุล การประกาศและขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลฝ่ายเดียว

4.พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขาดการตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่าฝ่ายตุลาการที่เป็นอิสระและเที่ยงธรรม เป็นกลไกสุดท้ายที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่จะ “ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบิหาร” เพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารอย่างกว้างขวางว่า ชอบด้วยกฎหมาย หรือใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่เช่น เมื่อรัฐบาลประกาศห้ามประชาชนออกนอกบ้าน (เคอร์ฟิว) และเจ้าหน้าที่จับผู้ฝ่าฝืนเป็นจำนวนมาก

ในเวลาเพียง 10 วัน ระหว่างวันที่ 3-13 เมษายน 2563 มีคดีความทั่วประเทศ จำนวน 9,000 กว่าคดี แม้ผู้ถูกจับจะฝ่าฝืนกฎหมายมีความผิดและมีโทษทางอาญา ศาลก็จะต้องพิจารณาทบทวนว่าในสถานการณ์ที่ประกาศใช้เคอร์ฟิวอย่างเร่งด่วนทั่วราชอาณาจักรซึ่งประชาชนจำนวนมากอาจไม่ตระหนัก หรือไม่พร้อมที่จะปฏิบัติตามเช่นนั้นสมควรที่ศาลจะพิพากษาให้นำตัวผู้ฝ่าฝืนให้รับโทษจำคุกหรือกักขังแทนค่าปรับหรือไม่โดยเฉพาะในสภาวะที่เรือนจำมีจำนวนผู้ต้องขังที่แออัด และมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 หรือแพร่เชื้อจากภายนอกเข้าสู่เรือนจำ เป็นต้น

หลังจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่าการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจโดยฝ่ายตุลาการยังไม่มีประสิทธิภาพและมีข้อบกพร่องส่วนหนึ่งเนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ตัดอำนาจการตรวจสอบของศาลปกครอง ทำให้ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของประกาศและคำสั่งต่างๆ ที่ประกาศใช้โดยรัฐบาลและการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งๆ ที่มาตรการและการกระทำต่างๆ นั้นในบางกรณีมีผลจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินความจำเป็น และไม่ได้สัดส่วนกับสถานการณ์หรือกรณีเป็นต้น

ดังเช่นกรณีที่รัฐบาลได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกคำสั่งห้ามบุคคลสัญชาติไทยเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรแต่คนไทยที่ถูกห้ามไม่ให้เดินทางกลับประเทศที่สงสัยความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าวไม่สามารถร้องต่อศาลปกครองให้ตรวจสอบได้ และเมื่อร้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งก็วินิจฉัยว่าศาลแพ่งไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยคำสั่งดังกล่าวของรัฐบาลได้เช่นกัน

การขาดการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการนั้นอาจมีผลทำให้ฝ่ายบริหารและเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินไป โดยไม่ได้สัดส่วนต่อความจำเป็นของสถานการณ์หรือไม่สอดคล้องกับกรณีที่เกิด โดยเฉพาะการที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำหนดให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวในการบังคับใช้มาตรการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้ว่าการบังคับใช้นั้นจะละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยมิชอบก็ตามย่อมอาจทำให้เจ้าหน้าที่บางคนฉกฉวยใช้มาตรการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปใช้ในทางไม่ชอบ

ดังที่เกิดขึ้นในกรณีการนำไปใช้ในการเก็บตัวอย่าง “ดีเอ็นเอ” จากประชาชน หรือกรณีที่ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งสังหารคู่อริโดยอ้างว่าอีกฝ่ายฝ่าฝืนคำสั่งห้ามออกนอกบ้านและต่อสู้ขัดขวางกาปฏิบัติงานของตน เป็นต้น

อนึ่ง มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้จัดทำบทความเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่รัฐบาลใช้รับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้เข้าใจหลักสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินและยกตัวอย่างบางประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นและมีข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักการสากลเพื่อให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในขณะที่ต้องรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลและรัฐสภาจะพิจารณาทบทวนแก้ไข ปรับปรุง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งฉบับให้สอดรับต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจและหลักสิทธิมนุษยชนโดยกำหนดให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจในภาวะฉุกเฉินจากองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติและองค์กรฝ่ายตุลาการอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจประกาศใช้ ขยายเวลา ออกมาตรการและบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเอง โดยปราศจากการตรวจสอบโดยเฉพาะอย่างยิ่งควรมีการแก้กฎหมาย กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกฎคำสั่งและการกระทำของฝ่ายบริหารในภาวะฉุกเฉินเพื่อป้องกันมิให้มาตรการพิเศษที่มีนั้น ก่อให้เกิดภาระเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุและเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมและได้รับการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสมต่อไป

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่มาตรการพิเศษในภาวะฉุกเฉินกับหลักสิทธิมนุษยชน กรณีศึกษาโควิด 2019 ในประเทศไทย ที่ https://bit.ly/3b9CSbL หรือติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมที่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม



กำลังโหลดความคิดเห็น