xs
xsm
sm
md
lg

ต้องจัดการ “กลุ่มดื้อด้าน” ให้เด็ดขาด! เพื่อหยุด 2 จุดระบาดมหันตภัยเชื้อโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




โดย... ศูนย์ข่าวภาคใต้







หากสแกนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จะพบว่า มีอยู่ 2 พื้นที่ที่ถือเป็น “จุดระเบิด” หนักหน่วง ได้แก่ พื้นที่แรก จ.ภูเก็ต มีตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มียอดผู้ป่วยสะสมสูงสุด และมีอัตราผู้ป่วยต่อจำนวนประชากรสูงสุดในประเทศคือ 44 คนต่อจำนวนประชากร 1 แสนคน แม้ว่า ผู้ว่าฯ จะประกาศ “ล็อกดาวน์” พื้นที่ทั้งจังหวัด รวมถึงระดับตำบล หมู่บ้านและชุมชนที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อไปแล้ว แต่เวลานี้ก็ยังน่าจะถือว่า “ยังเอาไม่อยู่”


เวลานี้ยังมีข้อมูลที่ชัดเจนว่า สาเหตุของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มาจาก “ซอยบางลา” แหล่งบันเทิงย่านป่าตอง อ.กระทู้ จ.ภูเก็ต ซึ่งกว่าที่ผู้รับผิดชอบจะไหวตัวทันสั่งล็อกดาวน์พื้นที่ต่างๆ ก็สายไปเสียแล้ว เพราะมีผู้คนจำนวนมากกลายเป็น “พาหะ” นำเชื้อโรคไปแพร่ต่อไม่เฉพาะบนเกาะภูเก็ตเท่านั้น ยังลามไปในหลายจังหวัดของภาคใต้ รวมถึงข้ามไปยังภูมิภาคอื่นๆ จากคนที่เดินทางกลับบ้านแล้วนำเชื้อไปแพร่ให้แก่คนในจังหวัดนั้นๆ


เรื่องนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ถึงกับระบุว่า ก่อนที่ภูเก็ตจะมาอยู่อันดับต้นๆ ของประเทศ ปรากฏว่ามีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อครั้งแรกแค่ 1 ราย เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2563 แล้วในเวลาไม่ถึง 2 เดือน กราฟก็ชันขึ้นมาเรื่อยๆ โดยพบผู้ติดเชื้อจากสถานบันเทิงมากที่สุด 71 ราย รองลงมาเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัน 33 ราย อาชีพเสี่ยง 33 ราย คนต่างชาติ 10 ราย และคนไทยจากต่างประเทศแค่ 4 ราย

“ขณะที่เมื่อเริ่มป่วยแล้วมารับการรักษาพบว่า ส่วนใหญ่มาตรวจหลังเริ่มป่วย 7 วันถึง 27.73% หรือ 1 ใน 4 ส่วนมาตรวจในวันที่ 4-6 นั้นมี 26.89% ตรงนี้สำคัญ เพราะยิ่งมาช้าโอกาสกลายเป็นพาหะโรคนำโรคไปติดคนอื่นมีสูง เพราะมีเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน สารคัดหลั่งออกมาฟุ้งกระจายทำให้จาก 1 คน มาเป็น 170 กว่าคนในเดือนเศษๆ”


จุดระเบิดการแพร่เชื้อโควิด-19 อีกพื้นที่คือ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะที่ จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา ที่มีตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อสูงขึ้นต่อเนื่องไล่เลี่ยกันมา โดยมีกลุ่มผู้ติดเชื้อหลักๆ มาจากผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา หรือที่เรียกว่า “กลุ่มดาวะห์” ที่ไปรวมตัวกันในพื้นที่ต่างๆ ทั่งในประเทศและในต่างประเทศด้วย


สำหรับภายในประเทศมีกลุ่มใหญ่มาจาก “ศูนย์มัรกัสยะลา” หรือ “ศูนย์ดะฮ์วะห์แห่งประเทศไทย มัสยิดอิล-นูร” ที่แม้ว่า “จุฬาราชมนตรี” ได้มีประกาศให้งดการละหมาดวันศุกร์และการละหมาดญะมาอะห์ที่มัสยิด โดยให้ละหมาดบ่าย 4 รอกาอัตที่บ้านแทน รวมทั้งให้งดการจัดกิจกรรมและการรวมตัวกันเป็นกลุ่มทั้งในมัสยิดและสถานที่ต่างๆ แต่ก็ยังมีการฝ่าฝืนจัดกิจกรรมกัน จนผู้ว่าฯ ยะลาต้องสั่งปิดตายแบบห้ามเข้าเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา


แต่ก็ต้องถือว่า “สายไปเสียแล้ว” เพราะปรากฏว่าในคนกลุ่มดังกล่าวที่มีจำนวนนับหมื่นคนนั้น มีผู้ที่ติดเชื้อปะปนอยู่ แม้ว่าคำสั่งปิดศูนย์มัรกัสยะลาจะให้มีการคัดกรองตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดและควบคุมเชื้อโรคแล้วก็ตาม แต่ก็ทำเพียงแค่วัดอุณหภูมิร่างกายแล้วก็ให้ออกจากพื้นที่
ส่วนหนึ่งเดินทางกลับบ้านแล้วนำเชื้อไปติดคนในครอบครัว เช่น กรณีที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ที่ 2 สามีภรรยาเดินทางกลับจากศูนย์มัรกัสยะลาโดยที่ไม่ทราบว่าตนเองได้ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อกลับถึงบ้านก็ได้นำเชื้อไปติดลูกๆ ทั้ง 5 คนด้วย แล้วทำให้ทุกวันนี้ อ.ทุ่งยางแดง มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


อีกส่วนหนึ่งก็ไม่ได้กลับบ้านทันที แต่กลับเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ก่อน เช่น กรณีของผู้ป่วยรายหนึ่งที่ผู้ว่าฯ ปัตตานีนำไทม์ไลน์ของเขาออกเผยแพร่ เริ่มจากวันที่ 22 มี.ค.2563 เดินทางไปศูนย์มัรกัสยะลา ก่อนที่อีกวันจะเดินทางไปร่วมละหมาดญานาซะห์ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน จ.ปัตตานี แล้วเดินทางกลับศูนย์มัรกัสยะลา หลังการปิดศูนย์มัรกัสยะลาเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ก็ได้ไปร่วมพิธีแต่งงานในหมู่บ้าน แถมยังร่วมละหมาดที่มัสยิดในหมู่บ้านด้วย


ส่วนกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 มาจากการไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาหรือ “กลุ่มดาวะห์จากต่างประเทศ” นั้น มีทั้งจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย คนกลุ่มนี้มีกลับเข้ามาต่อเนื่องก่อนที่จะประกาศห้ามอากาศยานบินเข้าไทยเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2563


โดยที่ฮือฮามากที่สุดเห็นจะเป็น “กลุ่มดาวะห์จากอินโดนีเซีย” จำนวน 76 คน ที่แม้จะมีการยืนยันว่าได้รับการกักตัว 14 วันก่อนเดินทางกลับแล้ว แถมมีใบรับรองแพทย์ Fit to Fly และใบรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตไทย แต่หลังจากกลับมาถึงไทยเมื่อวันที่ 6 เม.ย.2563 ได้ไม่กี่วันก็พบผู้ติดเชื้อสูงถึง 42 คน จากนั้นก็มีการตรวจพบเพิ่มติมอีกชนิดเกือบจะครบทุกคนเข้าไปแล้ว


แต่กลุ่มนี้จะดูไม่ค่อยน่าห่วงนัก เพราะมีมาตรการเข้มรองรับตั้งแต่กลับถึงไทย มีเจ้าหน้าที่จากจังหวัดต่างๆ รับตัวต่อไปยังสถานที่กันตัวที่เตรียมไว้ในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ โดยอยู่ในความดูแลของบุคลากรทางการแพทย์เต็มรูปแบบ และไม่ได้ออกไปสัมผัสกับบุคคลภายนอก แต่กระนั้นก็ตามเมื่อตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อที่สูงมากเกือบครบทั้ง 76 คนได้เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน อันนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย


นอกจากผู้คนจำนวนมากจะไม่พอใจที่คนกลุ่มนี้ยังออกเดินทางไปดาวะห์ที่อินโดนีเซียทั้งๆ ที่รับทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าเริ่มมีมากขึ้นแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ที่จัด “ทัวร์” ไปลงที่ นายธานินทร์ ใจสมุทร อดีต ส.ส.และอดีตนายก อบจ.สตูล ในฐานะนักกิจกรรมใหญ่ของกลุ่มดาวะห์ในภาคใต้ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในอินโดนีเซียนำคนกลุ่มนี้เดินทางกลับประเทศ


ส่วนหนึ่งเป็นผลจากก่อนหน้านี้คนสตูลภูมิใจกันมากกับการที่จังหวัดของตนเองเป็น “พื้นที่สีขาว” โดยไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อในพื้นที่แม้แต่คนเดียว แต่หลังจากที่กลุ่มดาวะห์จากอินโดนีเซียชุดนี้เดินทางกลับมาถึง จ.สตูล ไม่กี่วันก็ถูกเปลี่ยนเป็น “พื้นที่สีแดง” ด้วยการที่มีตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เป็นไปแบบก้าวกระโดด โดยมีผู้ติดเชื้อวันแรกพุ่งพรวดไปถึง 15 คน เล่นเอาคนสตูลอกสั่นขวัญแขวนจากปรากฏการณ์นี้ไปตามๆ กัน


แน่นอนไม่มีใครผิด-ใครถูกจากเรื่องราวที่เกิดขึ้น เนื่องเพราะคนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะจากมาเลเซีย จากอินโดนีเซีย หรือจะจากประเทศไหนๆ ก็ตาม พวกเขาต่างก็เป็นคนไทยด้วยกัน พวกเขามีสิทธิเดินทางกลับมาบ้านเกิดเมืองนอน และแน่นอนเมื่อกลับมาแล้วก็ต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัวเพื่อป้องกันการเป็นพาหะนำเชื้อโรคไปแพร่ระบาดต่อ


จากสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกอบด้วย 5 จังหวัดคือ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขณะนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หลักๆ มาจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา ไม่ว่าจะทั้งในพื้นที่เองหรือจากต่างประเทศ ซึ่งได้นำเชื้อไปแพร่กระจายต่อไปยังผู้ใกล้ชิดและผู้ได้สัมผัสนั้น ทำให้วันนี้ “ผู้นำกลุ่มดาวะห์” ในภาคใต้ตอนล่างต้องออกโรงเพื่อทำความเข้าใจต่อสังคมถึงสิ่งที่เกิดขึ้น


นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มดาวะห์ ทั้งที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่และยังไม่ออกมาแสดงตัว รวมถึงผู้ที่อยู่ในที่ควบคุมโรคของทางราชการ ให้เข้าสู่ความเป็นระเบียบและกฎเกณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติ โดยเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2563 นายอาดัม ดาเร๊ะมูชอ รองประธานมูลนิธิอัล-นูร ทำการแทนประธานศูนย์ดะฮ์วะห์แห่งประเทศไทย หรือรู้จักในนามอุสตาสมามุ อามีรของกลุ่มดาวะห์ยะลา หรือศูนย์มัรกัสยะลา ได้เรียกผู้นำหรืออามีรประชุมเพื่อชี้แจงและปรับความเข้าใจร่วมกันให้แก่ผู้รับผิดชอบศูนย์ย่อยหรืออัลเก๊าะต่างๆ โดยมีข้อสรุปเป็นคำสั่งว่า


ในเรื่องศาสนานั้น ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของจุฬาราชมนตรี และประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดอย่างเคร่งครัด ส่วนเรื่องการบริหารราชการบ้านเมืองเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ปฏิบัติตามกฎหมายและฟังคำสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัด และการทำงานดาวะห์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ฟังคำสั่งจากอามีร บาบอยีแม โกลก และอามีรอุสตาสมามุเท่านั้น ที่สำคัญจงอดทนและอย่าสร้างความแตกแยกในหมู่ดาวะห์




อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเหลือคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สังคมยังคงจับตา หลายต่อหลายคนพากันวิตกกังวลกันว่าจะเป็นจุดระเบิดใหม่ในพื้นที่ นั่นคือ กลุ่มคนไทยในมาเลเซียที่ยังคงติดค้าง และรอการกลับมาตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.2563 นี้เป็นต้นไป อันเป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยประกาศให้เปิดด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย จำนวน 5 ด่านในพื้นที่เพื่อรับคนไทยเหล่านี้กลับเข้าบ้าน


แต่กลุ่มนี้ก็ดูไม่น่ากังวลเท่าที่ควร นั่นเพราะการเปิดด่านรอบนี้ รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยวางมาตรการไว้เข้มงวดพอตัว ทั้งการขอความร่วมมือให้กระทรวงการต่างประเทศออกใบรับรองการเดินทางให้ผู้ที่ต้องการกลับ พร้อมทั้งให้มีใบรับรองแพทย์จากมาเลเซีย การให้ผู้ที่จะเดินทางกลับลงนามรับทราบและยินยอมให้มีการกักตัว 14 วัน รวมถึงการจำกัดจำนวนคนที่จะผ่านด่านเข้ามาในแต่ละวันเพียง 350 คนต่อวัน


ความจริงแล้วมีกลุ่มคนที่คงต้องกังวลกันมากกว่าคือ กลุ่มคนที่ลักลอบข้ามแดนโดยช่องทางธรรมชาติจากมาเลเซียเข้าไทย โดยไม่ผ่านด่านพรมแดนของ 2 ประเทศ อีกทั้งกลุ่มคนในไทยเองที่ยังลักลอบข้ามเมืองข้ามจังหวัดกันไปมา ทั้งที่ทุกจังหวัดมีคำสั่งล็อกดาวน์ปิดพื้นที่กันหมดแล้ว แต่คนกลุ่มนี้ยังใช้วิธีหลบหลีกเส้นทางหลักไปใช้ทางเส้นทางรอง หรือเส้นทางในหมู่บ้าน หรือเส้นทางโจรอีกมากมาย ข้ามจังหวัดกันไปมาโดยไม่มีใบรับรอง และที่สำคัญไม่มีการกักตัว 14 วันแต่อย่างใด


ดังนั้น แม้หลายจังหวัดในภาคใต้จะประกาศล็อกดาวน์หรือปิดพื้นที่กันไปแล้ว แต่การที่ยังมีกลุ่มคนจากจังหวัดอื่นๆ และกลุ่มคนจากต่างประเทศยังคงเดินทางเข้า-ออกตามช่องทางธรรมชาติได้อยู่ ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมควรเพ่งเล็ง มากกว่ากลุ่มคนจากต่างประเทศที่กลับเข้ามาโดยถูกต้องและมีการนำไปกักตัว 14 วัน


จากสภาพที่เป็นอยู่ทั้งหมดของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งในจังหวัดนั้นๆ เอง รวมดึง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว ด้วยการใช้ไม้แข็ง ใช้ความเด็ดขาดจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพราะหากปล่อยไว้ยิ่งนานวัน นั่นก็ยิ่งหมายถึงความสูญเสียอีกมากมายที่จะตามมา


วันนี้จึงไม่ใช่เวลาที่จะมาปล่อยให้คนที่ไม่เชื่อฟังคำสั่ง ไม่ใส่ใจคำขอร้อง และไม่สนคำแนะนำ ได้มีโอกาสไปทำให้เกิดปัญหาให้แก่คนอื่นๆ อีกมากมายที่ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งๆ ที่เขาได้เสียสละจนต้องเดือดร้อนไปตามๆ กัน อย่าปล่อยให้คนทำดีต้องวิตกกังวลอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยที่ผู้เกี่ยวข้องปล่อยปละละเลย


ณ วันนี้ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องจัดการกับกลุ่มคนที่ยังดื้อด้านเหล่านี้ให้เด็ดขาดเสียที!!




กำลังโหลดความคิดเห็น