xs
xsm
sm
md
lg

ดึง “พลังชุมชน” เสริมยาแรงรัฐสร้างความเข้าใจ “กลุ่มดาวะห์” หยุดแพร่โควิด-19 ที่ชายแดนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โดย… ศูนย์ข่าวภาคใต้

แฟ้มภาพ
เวลานี้เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่โลกเพิ่งค้นพบคือ “โคโรนา 2019” หรือ “โควิด-19” ที่เริ่มจากเมืองอู่ฮัั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปลายปีที่แล้ว พอข้ามศักราชใหม่ไทยเราก็สะท้านสะเทือนพร้อมๆกับทุกประเทศบนโลกใบนี้ไปด้วย สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ “ไฟใต้ระลอกใหม่” กำลังโชนเปลวและเลาะลามไปทั่วต่อเนื่องมากว่า 16 ปี ก็มีอันต้องชะงักงั้นถึงขั้น “ขบวนการบีอาร์เอ็น” ที่ต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนยอมออกแถลงการณ์หยุดยิง

ผืนแผ่นดินทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เวลานี้มีทั้ง “ผู้ป่วยรายใหม่” รวมถึงยอดรวม “ผู้ป่วยสะสม” และที่ทำให้คนในพื้นที่ตื่นตระหนกกันมากมายก็คือ “ภาวการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19” มีภาพที่กำลังรุกกระหน่ำทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน

เอาแค่ข้อมูลณ วันที่ 11 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ในภาพรวมของพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มียอดรวมผู้ป่วยสะสมจากโรคติดเชื้อโควิด-19 แล้วสูงถึง 248 คน ขณะที่มีผู้เสียชีวิตยืนยันว่ามีสาเหตุเกิดจากโรคนี้ถึง 4 ศพ

แบ่งเป็นที่ จ.ยะลา มีผู้ป่วยสะสม 77 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 2 ศพ รักษาหายแล้ว 27 คน เหลือรักษาตัวในโรงพยาบาล 48 คน และมีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรคสะสมอยู่อีก 717 ราย ส่งตรวจแล้วไม่พบเชื้อ 485 คน รอผลตรวจ 155 คน ที่ จ.ปัตตานี มีผู้ป่วยสะสม 74 คน เสียชีวิตแล้ว 1 ศพ รักษาหายแล้ว 26 คน เหลือรักษาตัวในโรงพยาบาล 47 คน และมีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรคสะสม767 คน ส่งตรวจแล้วไม่พบเชื้อ 611 คนรอผลตรวจ 82 คน

ที่ จ.สงขลา มีผู้ป่วยสะสม 56 คน รักษาหายแล้ว 23 คน เหลือรักษาตัวในโรงพยาบาล 33 คน และมีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรคสะสม 576 คน ส่งตรวจแล้วไม่พบเชื้อ 517 คน รอผลตรวจ 3 คน ที่ จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยสะสม 26 คน เสียชีวิตแล้ว 1 ศพ รักษาหายแล้ว 9 คน เหลือรักษาตัวในโรงพยาบาล 16 คน และมีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรคสะสม 508 คน ส่งตรวจแล้วไม่พบเชื้อ 455 คน รอผลตรวจ 30 คน และที่ จ.สตูล มีผู้ป่วยสะสม 15 คน มีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรคสะสม 45 คน ส่งตรวจแล้วไม่พบเชื้อ 19 คน รอผลตรวจ 11 คน

ถ้าจะบอกว่าเวลานี้ผู้คนที่อาศัยอยู่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และคงต้องรวมสังคมไทยไปด้วย กำลังตกอยู่ในภาวะ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” กับสาเหตุหลักของการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ในพื้นที่ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีเพราะเป็นข่าวครึกโครมมาตลอดนั่นคือ เกิดขึ้นจาก “กลุ่มพี่น้องมุสลิมที่ปฏิบัติศาสนากิจร่วมกัน” หรือหากจะเรียกรวมๆ ว่า “กลุ่มดาวะห์” ก็น่าจะได้

โดยสามารถแบ่งแยกได้เป็น 2 กลุ่ม และมีความเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์กันไปมา ได้แก่ กลุ่มแรกคือ “กลุ่มกลับจากดาวะห์ต่างประเทศ” ซึ่งพี่น้องมุสลิมกลุ่มนี้เพิ่งเดินทางกลับคืนบ้านเกิดเมืองนอนจากการไปร่วมดาวะห์ที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอีกส่วนหนึ่งจากอินเดีย โดยเฉพาะกิจกรรมที่ประเทศมาเลเซียเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2563 ปรากฏว่ามีมุสลิมจากทั่วโลกเข้าร่วมหลายหมื่นคน และครั้งนั้นได้กลายเป็น “ซูเปอร์สเปรดเดอร์ (Super Spreader)” หรือ “จุดระเบิด” ของการแพร่เชื้อโควิด-19 ระดับโลก

สำหรับกลุ่มหลังคือ “กลุ่มดาวะห์ในพื้นที่” ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีศูนย์กลางอยู่ที่ “ศูนย์ดาวะห์แห่งประเทศไทย มัสยิดอิล-นูร์” หรือ “ศูนย์มัรกัส” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ถือเป็นศูนย์ดาวะห์ใหญ่ระดับชาติที่มีศูนย์ย่อยๆ ระดับจังหวัดและอำเภอกระจายครอบคลุมพื้นที่ ซึ่งว่ากันว่ามีพี่น้องมุสลิมเวียนเข้าออกนับหมื่นคนและนี่ก็ถือเป็นอีก “จุดระเบิด” การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อเป็นเช่นนี้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคร้ายโดยเฉพาะ ผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด รวมถึง บุคลากรทางการแพทย์ ของทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทำหน้าที่หน่วยงานกลางในการบูรณาการและเติมเต็มช่องว่าง ต่างก็ได้ออกปฏิบัติการและวางมาตรการต่างๆ พร้อมเดินหน้าสร้างความเข้าใจกับผู้นำศาสนาในพื้นที่อย่างเต็มที่

เวลานี้ทั้ง 5 จังหวัดต่างงัดเอา “ยาแรง” มาใช้เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคกันอย่างเต็มกำลังความสามารถโดยเฉพาะมีการประกาศ “ล็อกดาวน์” หรือออกคำสั่งปิดพื้นที่ทั้งจังหวัดกันไปอย่างครบถ้วน ไม่เพียงเท่านั้นยังมีคำสั่งเสริมลงลึก “ปิดล็อก” ในระดับชุมชนและหมู่บ้านอีกมากมาย แถมกำชับให้ฝ่ายปฏิบัติการจริงจังในการทำหน้าที่ รวมถึงมีการประกาศให้ทุกคนที่ออกจากเคหสถานต้องสวมหน้ากากอนามัย ห้ามขายเหล้าเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการเสริมใยเหล็กจากมาตรการเคอร์ฟิวจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

อย่างไรก็ตาม บรรดายาแรงที่ถูกนำมาใช้ผ่านมาตรการต่างๆ ของทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ก็เพื่อใช้ลดไข้ทั้งด้านการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในเวลานี้อันมีเป้าประสงค์สุดท้ายที่ต้องการตัดวงจรโรคติดต่อให้ได้ในที่สุดนั้นทั้งหมดทั้งปวงล้วนเป็นการทำหน้าที่ของ “ภาครัฐ” เป็นความรับผิดชอบของบุคลากรในหน่วยงานทางราชการต่างๆ ขณะที่ “ภาคประชาชน” เองก็ได้เปิดปฏิบัติการขึ้นในชุมชนต่างๆ จนสามารถปกป้องและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคร้ายได้เป็นผล ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นที่ประจักษ์มาแล้วเช่นกัน

หนึ่งในตัวอย่างสำคัญได้แก่ที่ “หมู่บ้านคีรีวง” ต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช หมู่บ้านที่มีอากาศบริสุทธิ์ที่สุดของประเทศ ชุมชนเก่าแก่ที่มีวิถีชีวิตสงบบนเส้นทางเดินขึ้นสู่ยอดเขาหลวง และถือชุมชนต้นแบบด้านการจัดการจัดการตนเองที่เป็นที่ยอมรับของสังคมปรากฏว่าในเวลานี้ยังได้รับการยอมรับว่า ชุมชนคีรีวงสามารถที่จะบริหารจัดการเพื่อปกป้องการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ได้อย่างเป็นที่จับตาของผู้คนจำนวนมากในสังคม

ก่อนหน้านี้ ทั้งศอ.บต. และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รวมถึงผู้ว่าฯ และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นพ้องกันว่า ให้นำกลไกของ “สภาสันติสุขตำบล” ซึ่งมีอยู่แล้วในทุกพื้นที่มาใช้แก้ไขวิกฤตและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ได้ เพราะเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาได้ในระดับเทียบเคียงกับชุมชนจัดการตนเองที่หมู่บ้านคีรีวงของจ.นครศรีธรรม ที่กำลังเป็นที่ยอมรับของสังคม โดยให้นำไปเสริมศักยภาพการแก้ปัญหาของทุกหน่วยงานภาครัฐที่กำลังทำหน้าที่อยู่อย่างเข้มข้น

ทั้งนี้ เป็นที่คาดหวังอย่างยิ่งกับการใช้ “สภาสันติสุขตำบล” เป็นเครื่องมือในการทะลุทะลวงเข้าสู่ทุกหมู่บ้านและตำบลเพื่อสร้าง “ความเข้าใจ” ที่ถูกต้องแก่พี่น้องประชาชนในทุกครัวเรือน ที่สำคัญมากคือในเรื่องของการเว้นระยะห่างการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้หางไกลจากเชื้อโควิด-19 ให้ทุกครอบครัวร่วมปกป้องตนเอง วาดหวังให้ชาวบ้านรู้ว่าทุกคนจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยโดยเฉพาะกับสตรีมุสลิม หรือ “มุสลิมะห์” การคลุมหน้าด้วยผ้าคลุมธรรมดายังไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ เหล่านี้ เป็นต้น

ปัจจุบัน ศอ.บต.และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้กำหนดโครงสร้าง อำนาจหน้าที่และการปฏิบัติงานของ “สภาสันติสุขตำบล” เพื่อให้ครอบคลุมทั้งด้านความมั่นคงและการรักษาความปลอดภัยต่างๆ ทั้งทางกายภาพของชุมชนและทางสังคม ครอบคลุมเรื่องของสุขภาพอนามัยผู้คน การช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และเด็กกำพร้า การเสริมสร้างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เชื่อมโยงถึงการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะในสถาวการณ์ที่เชื้อโรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอยู่ในพื้นที่ในเวลานี้ด้วย

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. บอกให้ฟังว่า วิกฤตเชื้อโรคโควิด-19 ในครั้งนี้ทำให้ได้เห็นถึงประสิทธิภาพของสภาสันติสุขตำบลและหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ เช่น บัณฑิตอาสา อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งอยู่ภายใต้ “สภาสันติสุขตำบล” ที่มีการร่วมมือกันอย่างเต็มความสามารถ จนทำให้สถานการณ์โดยรวมมีแนวโน้มดีขึ้น

ก็ต้องจับตากันต่อไปว่า ถ้า “สภาสันติสุขตำบล” สามารถรวม “ท้องที่” และ “ท้องถิ่น” ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วไปเสริมศักยภาพการทำหน้าที่ของส่วนราชการได้ อย่าว่าแต่เชื้อโควิด-19 เลย แม้แต่ไฟใต้ที่ลุกโชนมากว่า 16 ปี ก็คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น