ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - พลิกวิกฤต! YSF จังหวัดตรังผลิต “หน้ากากผ้าปาเต๊ะ” ป้องกันโควิด-19 สร้างรายได้ 800 บาทต่อวัน
น.ส.เหมือนฝัน จันทร์ทอง ให้ข้อมูลว่า เป็นเกษตรกรทำนาข้าวหอมมะลิ ผักสวนครัว และมีอาชีพเสริม คือ การจำหน่ายผ้าปาเต๊ะ ในปี 2561 ได้สมัครเป็น Young Smart Farmer (YSF) จังหวัดตรัง ของกรมส่งเสริมการเกษตร จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบทำให้ยอดจำหน่ายสินค้าเกษตร และผ้าปาเต๊ะลดลงมาก ทำให้มีรายได้ลดลง เกือบไม่พอค่าใช้จ่ายในครัวเรือน จึงคิดหารายได้จากการผลิตหน้ากากทางเลือกจากผ้าปาเต๊ะ เนื่องจากการระบาดเริ่มกระจายในหลายพื้นที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น และน่าวิตกกังวลมาก ทำให้คนเริ่มตระหนัก และให้ความสำคัญในการป้องกันตนเองจากเชื้อโควิด-19 หน้ากากอนามัยจึงเป็นของใช้จำเป็นอันดับแรกที่ทุกคนต้องมีติดตัวไว้สำหรับป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัส แต่ตอนนี้มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน จึงมีแนวความคิดที่จะผลิตหน้ากากผ้าปาเต๊ะขึ้นมา เพื่อเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยให้ทุกคนผ่านวิกฤตนี้ไปได้
ทั้งนี้ น.ส.เหมือนฝัน จันทร์ทอง มีความสามารถในการเย็บผ้า และใช้จักรเย็บผ้า จึงเรียนรู้การผลิตหน้ากากผ้าจาก Youtube เพื่อทำไว้ใช้ภายในครอบครัว กระทั่งมีลูกค้าให้ความสนใจจึงขอให้ผลิต โดยเริ่มผลิตหน้ากากปาเต๊ะเพื่อจำหน่ายเมื่อ 11 มีนาคม 2563 มีหน้ากากผ้าปาเต๊ะ จำนวน 3 แบบ ดังนี้ 1.ผ้าปาเต๊ะ+ผ้าสาลู รวมเป็น 2 ชั้น ขายส่งราคา 18 บาท ขายปลีกราคา 25 บาท 2.ผ้าปาเต๊ะ+ผ้ามัสลิน รวมเป็น 2 ชั้น ขายส่งราคา 25 บาท ขายปลีกราคา 30 3.ปาเต๊ะ+มัสลิน 2 ชั้น รวมเป็น 3 ชั้น สามารถใส่แผ่นกรองได้อีก 1 ชั้น ขายส่งราคา 25 บาท ขายปลีกราคา 35 บาท ซึ่งสามารถผลิตได้ 100 ชิ้นต่อวัน โดยมีช่องทางการจำหน่ายที่หน้าร้านเหมือนฝัน ตรงข้ามแม็คโคร จังหวัดตรัง และ Facebook เพียซ เหมือนฝัน ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน คนทำงาน และประชาชนทั่วไป หากท่านใดสนใจหน้ากากผ้าปาเต๊ะสวยๆ สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 06-4854-1659 หรือเบอร์ 08-1263-2359 และ ID-Line 09-1849-2689 หรือผ่านทาง Facebook เพียซ เหมือนฝัน
นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตร มีความห่วงใยเกษตรกร และประชาชน จึงมีแนวความคิดที่จะดำเนินการผลิตหน้ากากผ้า โดยขอความร่วมมือจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีความพร้อม ร่วมกันผลิตเพื่อจำหน่าย และบริจาคให้แก่สมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เกษตรกร หรือประชาชนใกล้เคียง ให้มีหน้ากากใช้ป้องกันจาก COVID-19 ได้ในราคาที่เป็นธรรม ปัจจุบันในภาคใต้หลายวิสาหกิจชุมชนที่สามารถผลิตหน้ากากผ้าจำหน่ายแล้ว โดยผ้าที่นำมาผลิตเป็นหน้ากากนั้นเป็นผ้าทอมือ ผ้าพื้นเมือง ผ้ามัสลิน และผ้าชนิดอื่นๆ โดยด้านในจะใช้ผ้าสาลู เป็นผ้ากรองด้านในเพราะมีคุณสมบัติในการระบายอากาศได้ดี ซึ่งข้อดีของหน้ากากผ้าจะสามารถซัก และนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ยังเป็นการช่วยสนับสนุนสินค้าจากวิสาหกิจชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย